วันนี้ในอดีต

9 มกราคม หนังสือพิมพ์ ข่าวภาพ ออกวางแผนฉบับปฐมฤกษ์

9 มกราคม 2493 หนังสือพิมพ์ “ข่าวภาพ” รายสัปดาห์ ออกวางแผนฉบับปฐมฤกษ์ เป็นฉบับประจำวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2493 มี 16 หน้า ราคา 1 บาท จัดทำโดย กำพล วัชรพล, เลิศ อัศเวศน์ และ วสันต์ ชูสกุล ต่อมาได้พัฒนาเป็นหนังสือพิมพ์รายสามวัน รายวันชื่อว่าหนังสือพิมพ์ เสียงอ่างทอง และพัฒนาเป็นหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ในที่สุด

หนังสือพิมพ์ ข่าวภาพ

หนังสือพิมพ์ “ข่าวภาพ” หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Weekly Pictorial” หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ซึ่งถูกตีพิมพ์ด้วย หัวหนังสือสีแดง เพื่อวางแผงฉบับปฐมฤกษ์ในวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2493 โดยมีเนื้อหาจำนวน 16 หน้า ราคา 1 บาท

ข่าวพาดหัวใหญ่ในวันนั้นคือ “ตายโหง 5 ศพในวันขึ้นปีใหม่” ร่วมด้วยข่าวคราวอื่นๆ ซึ่งเป็นข่าวชาวบ้านหรือข่าวสังคม ไม่ได้เน้นข่าวการเมืองเหมือนอย่างที่ฉบับอื่นๆ นิยมกันสมัยนั้น ผลที่ได้ก็คือหนังสือพิมพ์ “ข่าวภาพ” ฉบับนั้นถูกตีกลับมาเพียง 7 ฉบับ จากยอดตีพิมพ์ 3,000 ฉบับ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทำให้ผู้ก่อตั้งได้แนวคิดเรื่องความนิยมในการบริโภคข่าวสารของผู้อ่าน และยึดถือเป็นแนวปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน

ยุคแรกของการทำงานของ “ข่าวภาพรายสัปดาห์” มี “เลิศ อัศเวศน์” รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ “กำพล วัชรพล” เป็นผู้พิมพ์ และนำหนังสือพิมพ์ออกขาย และ “วสันต์ ชูสกุล” เป็นผู้หาเงินทุน โดยกลุ่มผู้อ่านเป้าหมายของหนังสือพิมพ์ในตอนนั้นได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวและชาวบ้านทั่วไป

เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของแวดวงสังคมและข่าวคราวในท้องถิ่นซึ่งเกี่ยวพันกับ คนส่วนใหญ่ ต่างจากกลุ่มเป้าหมายของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับอื่นๆ อีก 7-8 ฉบับที่มุ่งเน้นข่าวคราวการเมือง นับเป็นจุด แตกต่างหรือ “จุดแข็ง” ที่สำคัญที่ทำให้ “ข่าวภาพรายสัปดาห์” มีพื้นที่ในตลาดและครองใจผู้อ่านตลอดมา

เมื่อหนังสือพิมพ์ได้รับการยอมรับจากผู้อ่านจนติดตลาด “กำพล วัชรพล” ในฐานะผู้ก่อตั้งหลักจึงได้มองการณ์ไกลและเริ่มคิด จะตีพิมพ์หนังสือพิมพ์เพิ่ม จากรายสัปดาห์เป็นทุก 3 วันแทน จึงเป็นผลให้บริษัทมีรายได้มากและเร็วขึ้นตามลำดับ

หลังจากนั้น อีก 1 ปี หรือราวกลางปี 2495 “ข่าวภาพรายสามวัน” จึงกลายเป็น “ข่าวภาพรายวัน” ในที่สุด โดยมี “อุทธรณ์ พลกุล” เป็น บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ “ข่าวภาพ” ในยุคนี้ได้รับความนิยมและรับหน้าที่ตีแผ่สังคมมาเรื่อย จนกระทั่งถูกปิดตัวลงเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 โดยคณะปฏิวัติโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเข้ายึดอำนาจรัฐบาลอย่างเด็ดขาด

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button