วันนี้ในอดีต

16 มกราคม วันสถาปนา กรมอุทกศาสตร์

16 มกราคม 2464 วันสถาปนา กรมอุทกศาสตร์ กิจการอุทกศาสตร์เริ่มมีครั้งแรกในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2399 โดยรัฐบาลได้ได้อนุญาตให้อังกฤษส่งเรือหลวงซาราเซน เข้ามาสำรวจอุทกศาสตร์ในอ่าวไทย

เพื่อจัดทำแผนที่เดินเรือที่สำคัญบริเวณอ่าวไทย ต่อมาในปี 2439 ได้มีการก่อตั้งกองแผนที่ทะเล ขึ้นตรงต่อกรมทหารเรือ ในปี 2457 ได้เปลี่ยนชื่อกองแผนที่ทะเลเป็น “กองอุทกศาสตร์ทหารเรือ” ในปี 2464 ได้ยกขึ้นเป็น “กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ” วันนี้ของทุกปีจึงถือเป็นวันสถาปนากรมอุทกศาสตร์

กรมอุทกศาสตร์

กรมอุทกศาสตร์ เป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ มีหน้าที่อำนวยการ ประสานงาน แนะนำ กำกับการ และดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาอุทกศาสตร์ สมุทรศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา วิศวกรรมชายฝั่ง และการเครื่องหมายทางเรือ รวมทั้งการส่งกำลังพัสดุสายอุทกศาสตร์ สมุทรศาสตร์ และอุตุนิยมวิทยา ตลอดจนให้การฝึกและการศึกษาวิชาการอุทกศาสตร์ สมุทรศาสตร์ อุตุนิยมวิทยาและวิชาการอื่น ตามที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพเรือ

งานอุทกศาสตร์เป็นงานวิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เพื่อใช้ในการสำรวจตรวจสอบและศึกษาสภาพของทะเลและบริเวณชายฝั่งติดต่อกับทะเล ผลที่ได้นำมาใช้ในการผลิตแผนที่ทะเลสำหรับใช้ในการเดินเรือ การทหาร การประมงและการเศรษฐกิจอื่น ๆ งานอุทกศาสตร์ที่ได้ดำเนินการในประเทศไทย ครั้งแรกสุดเป็นแผนที่เดินเรือหยาบ ๆ ของโปรตุเกสสำรวจเมื่อประมาณ 2060

ต่อมาได้มี ฝรั่งชาวยุโรปเข้ามาสำรวจแก้ไขปรับปรุงเรื่อยมาจนปรากฎรูปร่างประเทศไทยและอ่าวไทยชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ การสำรวจ แผนที่อย่างถูกหลักวิชาเริ่มใน 2399 เมื่ออังกฤษส่งเรือซาราเซนเข้ามาขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสำรวจแผนที่ทะเลในน่านน้ำไทย เป็นเวลา 3 ปี

เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับในการพัฒนาประเทศในเวลาต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐบาลไทยจึงทำสัญญาจ้าง นาวาโท อัลเฟรด เจ. ลอฟตัส นายทหารเรืออังกฤษ เข้ามารับราชการเป็นหัวหน้าสำรวจแผนที่ทะเล โดยใช้นายทหารเรือและเรือของไทย นาวาโท ลอฟตัส ได้ทำงานในหน้าที่เป็นอย่างดี ควรแก่การได้รับการยกย่อง

จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระนิเทศชลที ซึ่งท่านรับราชการจนถึง 2435 จึงลาออกจากราชการ ต่อจากนั้นมีนายทหารต่างชาติ อีกหลายนายที่ดำเนินการต่อมา จนถึง 2455 เพื่อให้นายทหารเรือไทยสามารถดำเนินงานได้เอง รัฐบาลไทยจึงจ้างนายทหารเรือเดนมาร์ก 2 นาย คือ นาวาโท ฟริตซ์ ทอมเซ็น และ นาวาโท แม็กนัส บอยเซ็น เข้ามาทำงานในกองแผนที่ทะเล กรมยุทธศึกษาทหารเรือ

มีหน้าที่สอนนายทหารเรือไทยทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติจนสามารถทำงานได้เอง 2457 กองแผนที่ทะเล เปลี่ยนชื่อเป็น กองอุทกศาสตร์วันที่ 16 มกราคม 2464 ยกกองอุทกศาสตร์ขึ้นเป็นกรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ ขึ้นตรงต่อกระทรวงทหารเรือ มีพลเรือจัตวา ฟริตช์ ทอมเซ็น เป็นเจ้ากรม และเป็นฝรั่งคนสุดท้ายที่ รับราชการในกองทัพเรือ ต่อมาในปี 2476 คงเหลือแต่ชื่อกรมอุทกศาสตร์ ไม่มีคำว่า “ทหารเรือ” ต่อท้ายมาจนถึงทุกวันนี้

ในด้านการดำเนินงาน กรมอุทกศาสตร์มีฐานะเป็นหน่วยงานด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ทางทะเลของกองทัพเรือ จึงได้มีการขยายขอบเขตความรับผิดชอบ ออกไปอย่างกว้างขวาง นอกเหนือจากงานด้านการสำรวจและสร้างแผนที่เดินเรือ การจัดหาอุปกรณ์และบรรณสารการเดินเรือ และการออกประกาศชาวเรือ ที่มีมาแต่เริ่มต้น ดังมีประวัติ สังเขปดังนี้

2446 ทางราชการได้มอบให้กองแผนที่ทะเล กรมยุทธศึกษาทหารเรือ มีหน้าที่ ตรวจสอบและรักษาเวลามาตรฐาน ซึ่งก็ได้ทำหน้าที่นี้ต่อเนื่องมาจนเป็นกรมอุทกศาสตร์ในปัจจุบัน 2451 ได้เริ่มการทำนายน้ำขึ้น – น้ำลง และจัดทำมาตราน้ำ ซึ่งเป็นการเริ่มงานด้านสมุทรศาสตร์ และได้ขยายงานไปในเรื่องการตรวจระดับน้ำ

จนถึง 2476 จึงตั้งกองสมุทรศาสตร์เพื่อศึกษาวิจัย เกี่ยวกับน้ำทะเล พื้นท้องทะเล พืชและสัตว์ในทะเล 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้โอนกิจการกระโจมไฟและทุ่นจากกรมเจ้าท่า กระทรวงนครบาล และกระทรวงมหาดไทย มาอยู่ในความดูแลของกระทรวงทหารเรือ โดยอยู่ในความรับผิดชอบกองอุทกศาสตร์ทหารเรือ 2479 จัดตั้งกองอุตุนิยมวิทยาขึ้นและรับโอนงานอุตุนิยมวิทยาจากกรมทดน้ำลง

ต่อมา กองอุตุนิยมวิทยาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา ใน 2485 และโอนไปจากกองทัพเรือ ใน 2505 อย่างไรก็ตามความจำเป็นของงานอุตุนิยมวิทยาทางทะเล ต่อกองทัพเรือยังมีอยู่มาก กรมอุทกศาสตร์ จึงตั้งกองอุตุนิยมวิทยาขึ้นใหม่ใน 2520

2519 รัฐบาลได้อนุมัติให้กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ดำเนินการสถานีวัดความสั่นสะเทือน จังหวัดเชียงใหม่

ในปัจจุบัน กรมอุทกศาสตร์ได้ย้ายที่ตั้งจากที่ทำการในเขตพระราชวังเดิม มาอยู่ ณ ที่ตั้งแห่งใหม่ เลขที่ 222 ถนนริมทางรถไฟเก่า แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button