วันนี้ในอดีต

12 กุมภาพันธ์ วันเกิด อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีอเมริกัน

12 กุมภาพันธ์ 2352 วันเกิด อับราฮัม ลินคอล์น มหาบุรุษที่ชาวอเมริกันยกย่องนับถือ สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภา เมื่อปี 2401 ในการหาเสียง ได้โจมตีลัทธิการค้าทาสอย่างหนัก แม้เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาแล้ว ก็ได้แสดงสุนทรพจน์ต่อต้านการค้าทาสอยู่ตลอดเวลา ในปี 2403 ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เขาพยายามต่อสู้และเลิกทาสได้สมประสงค์ และถูกยิงถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2408

อับราฮัม ลินคอล์น

อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา

ลินคอล์นเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ.1861 จนกระทั่งถูกลอบสังหารเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1865 ลินคอล์นประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศผ่านพ้นสงครามกลางเมืองอเมริกา ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญ ทางทหารและศีลธรรมครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยความสำเร็จดังกล่าว ลินคอล์นจึงสามารถรักษาความเป็นสหภาพของสหรัฐอเมริกาเอาไว้ได้ นอกจากนี้เขายังนำทางไปสู่การเลิกทาส, สร้างความมั่งคงแข็งแกร่งให้กับรัฐบาลกลาง ตลอดจนส่งเสริมการเศรษฐกิจและการเงินให้ทันสมัย

ลินคอล์นเกิดในครอบครัวยากจน ณ เมืองฮ็อดเจนวิลล์ รัฐเคนทักกี ซึ่งสมัยนั้นเป็นพรมแดนทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่ลินคอล์นศึกษาด้วยตนเอง และได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพทนายความในอิลินอยส์ใน ปี 1836 เขากลายเป็นผู้นำพรรควิก และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติรัฐอิลลินอยส์ระหว่าง ค.ศ. 1834 – 1842 และต่อมาถูกเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาในปี 1846 โดยดำรงตำแหน่งอยู่หนึ่งสมัย ลินคอล์นเน้นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้ทันสมัย และต่อต้านสงครามเม็กซิโก-อเมริกา หลังหมดวาระลินคอล์นกลับไปประกอบวิชาชีพกฎหมายจนประสบความสำเร็จ เมื่อกลับมาสู่เวทีการเมืองอีกครั้งใน ปี ค.ศ. 1854 ลินคอล์นกลายเป็นผู้นำก่อตั้งพรรคใหม่ คือ พรรคริพับลิกัน ในระหว่างการโต้วาทีกับตัวแทนพรรคเดโมแครต สตีเฟน เอ. ดักลัส ใน ค.ศ. 1858 ลินคอล์นแสดงจุดยืนทางการเมืองที่คัดค้านการขยายตัวของสถาบันทาส แต่ก็แพ้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาแก่ดักลัส คู่แข่งผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองชนิดไม่แทรกแทรงการมีอยู่ของสถาบันทาส โดยเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนควรมีสิทธิกำหนดเอง

ลินคอล์นกลายเป็นตัวแทนผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งของพรรคริพับลิกัน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปึ ค.ศ. 1860 ในฐานะนักการเมืองผู้มีทัศนะทางการเมืองเป็นกลาง (moderate) และมาจากรัฐที่คะแนนเสียงไม่แน่นอน (swing state) แต่แม้จะแทบไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเลยในทางใต้ ลินคอล์นก็กวาดคะแนนเสียงในทางเหนือและได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1860 ชัยชนะการเลือกตั้งของลินคอล์นกระตุ้นให้เจ็ดรัฐทาสทางใต้ตัดสินใจประกาศแยกตัวออกจากสหภาพ และก่อตั้งสมาพันธรัฐทันทีโดยไม่รอให้มีพิธีเข้ารับตำแหน่งเสียก่อน การถอนตัวของนักการเมืองฝ่ายใต้ ทำให้พรรคของลินคอล์นกุมที่นั่งในรัฐสภาคองเกรสได้อย่างเด็ดขาด แต่ความพยายามที่จะประนีประนอมต่างจบลงด้วยความล้มเหลว และเหลือเพียงสงครามเป็นทางเลือกสุดท้าย

สงครามกลางเมืองเปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1861 เมื่อกองกำลังของนายพลโบริการ์ด แห่งฝ่ายสมาพันธรัฐเปิดการยิงโจมตีฟอร์ตซัมเทอร์ รัฐฝ่ายเหนือให้การตอบรับการเรียกระดมพลอย่างแข็งขัน ลินคอล์นดำเนินกลยุทธการเมืองอย่างชาญฉลาด และเขายังเป็นนักปราศัยที่มีทักษะการพูดที่ทรงพลัง สมารถโน้มน้าวจิตใจผู้คนได้ สุนทรพจน์ที่เกตตีสเบิร์กของเขาใน ค.ศ. 1863 เป็นสุนทรพจน์ที่มีการยกคำพูดไปอ้างอิงมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา และเป็นคำนิยมอันอุโฆษ ต่ออุดมคติแห่งหลักการชาตินิยม สาธารณรัฐนิยม สิทธิเท่าเทียม เสรีภาพ และประชาธิปไตย

ลินคอล์นให้ความสนใจต่อมิติทางการทหาร และกิจการในยามสงครามอย่างใกล้ชิด เป้าหมายของเขาคือการรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว สมัยประธานาธิบดีของลินคอล์นมีจุดเด่นที่การใช้อำนาจฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี (presidential power) อย่างกว้างขวางและเฉียบขาด เมื่อรัฐทางใต้ประกาศตนเป็นกบฏต่อสหภาพ ลินคอล์นจึงใช้อำนาจของตนยับยั้งการใช้ เฮบีอัส คอร์ปัส (habeas corpus) หรือ หมายสั่งเรียกไต่สวนเหตุผลในการคุมขัง ในสถานการณ์นั้น ซึ่งนำไปสู่การจับกุมและกักขังผู้ต้องสงสัยว่าสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนหลายพันคนโดยไม่มีการไต่สวน; ในด้านการทูต ลินคอล์นสามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการทหารกับอังกฤษ โดยสามารถจัดการกับกรณีเรือ เทรนต์ (Trent affair) ในช่วงปลาย ค.ศ. 1861 ได้อย่างเฉียบขาด ลินคอล์นบริหารการสงครามด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดเลือกนายพลระดับสูง ดังเช่นการเลือก ยูลิสซิส เอส. แกรนท์ เข้ามาเป็นผู้บัญชาการสั่งการกองทัพแทนที่ นายพลจอร์จ มี้ด ซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปกองทัพ ทำให้ฝ่ายสหภาพสามารถทำสงครามได้หลายภูมิภาคการรบ หรือเขตสงคราม (theater) พร้อมๆกัน ลินคอล์นให้การสนับสนุน นายพลแกรนต์ ทำสงครามที่ทั้งยืดเยื้อ นองเลือดและเบ็ดเสร็จ ฝ่ายสมาพันธรัฐแม้จะได้เปรียบจากการเป็นฝ่ายตั้งรับ ก็อ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ โดยการโจมตีของฝ่ายสหภาพไม่ได้จำกัดอยู่เพียงบนสนามรบ แต่ยังรวมถึงการปิดกั้น และทำลายทางคมนาคนขนส่ง ทั้งทางแม่น้ำและทางรถไฟ รวมไปถึงฐานทางเศรษฐกิจของฝ่ายสมาพันธรัฐ จนในที่สุดแกรนต์สามารถเข้าเดินทัพเข้ายึดริชมอนด์ เมืองหลวงของสมาพันธรัฐได้ ในเดือนเมษายน ปี 1865

ในส่วนภาระกิจด้านการเลิกทาส ลินคอล์นไม่เพียงแต่ใช้สงครามเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย แต่ยังดำเนินกิจกรรมทางนโยบายอื่นๆ เช่น การออกการประกาศเลิกทาสใน ค.ศ. 1863 (หลังได้รับชัยชนะในยุทธการที่แอนตีแทม), การเกลี้ยกล่อมให้รัฐชายแดนประกาศให้สถาบันทาสเป็นสิ่งผิดกฎหมาย, การออกกฎหมาย Confiscation Act เพื่อยึดและปลดปล่อยทาสจากผู้ที่ถูกศาลพิพากษาว่าให้การสนับสนุนฝ่ายสมาพันธรั และช่วยผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาครั้งที่สิบสามจนผ่านสภาคองเกรส ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1865 ซึ่งห้ามการมีและซื้อขายทาสตลอดไป ในทุกๆพื้นที่ที่อยู่ใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา

ลินคอล์นเป็นนักการเมืองที่ฉลาดหลักแหลม มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสถานการณ์อำนาจในแต่ละมลรัฐ เขาพยายามเกลี้ยกล่อมระหว่างสมาชิกพรรคเดโมแครตสายสงครามซึ่งต้องการให้มีการประนีประนอมในประเด็นเรื่องสถาบันทาส และสมาชิกริพับลิกันหัวก้าวร้าว ซึ่งต้องการกำจัดกบฏฝ่ายใต้และสถาบันทาสให้สิ้นซากโดยเร็วที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น เขายังบริหารแคมเปญจ์การลงเลือกตั้งใหม่ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 1864 ด้วยตนเอง ช่วงปลายสงคราม ลินคอล์นถือมุมมองการฟื้นฟูบูรณะ (Reconstruction) แบบผ่อนผัน โดยแสวงการรวมและบูรณะประเทศอย่างรวดเร็ว ผ่านนโยบายการปรองดองที่ไม่มีเงื่อนไขยุ่งยาก ในสภาวะที่ความแตกแยกอย่างขมขื่นยังไม่ลดลงไป อย่างไรก็ดี เพียงห้าวันหลังการยอมจำนนของโรเบิร์ต อี. ลี ผู้บัญชาการกองทัพของฝ่ายสมาพันธรัฐ ลินคอล์นถูกลอบยิงในโรงละคร โดยนักแสดงผู้ฝักใฝ่สมาพันธรัฐ จอห์น วิลค์ส บูธ (John Wilkes Booth) และเสียชีวิตในวันต่อมา การลอบสังหารลินคอล์นเป็นการลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก และเป็นเหตุการณ์ทำให้ทั้งประเทศตกอยู่ในความโศกเศร้า นักวิชาการและสาธารณชนชาวอเมริกันจัดให้ลินคอล์นเป็นหนึ่งในประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดมาจวบจนปัจจุบัน

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button