
13 กุมภาพันธ์ พระยาสุริยานุวัตร เป็นผู้ลงนามอนุสัญญาไทย-ฝรั่งเศส
13 กุมภาพันธ์ 2446 มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) อัครราชทูตไทย ประจำฝรั่งเศส ได้รับมอบอำนาจจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ให้เป็นผู้เจรจาและลงนามกับฝรั่งเศส ในอนุสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ยอมยกดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง แลกเปลี่ยสกับการให้ฝรั่งเศสถอนกำลังออกจาก จ. จันทบุรี ซึ่งฝรั่งเศสยึดครองไว้ถึง 10 ปี
พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค)
มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เป็นบุตรพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม) มารดาชื่อ ศิลา เกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2405 เป็นสามัญชนคนแรกที่ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และลงนามในธนบัตร มีผลงานด้านการเงินการคลังที่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบเงินตรา การใช้สตางค์แทนอัฐ การเสนอแนวคิดให้ตั้งธนาคารชาติ และการปฏิรูประบบภาษีโดยให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเอง
นอกจากนั้นยังประพันธ์ตำราเศรษฐศาสตร์เรื่องทรัพยศาสตร์ และปัจจุบันยังเป็นหนังสือที่ได้รับคัดเลือกว่าเป็นหนึ่งใน 100 เล่มหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน ด้วยเหตุผลว่า
“เป็นหนังสือที่นอกจากจะให้ความรู้เรื่องหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ยังให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยและทัศนะที่คนไทยยุคก่อนมองปัญหาเศรษฐกิจไทย รวมทั้งถือเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของคนไทย”