13 กุมภาพันธ์ ไทยทำสนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122

13 กุมภาพันธ์ 2446 ไทยทำสัญญาการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาและเมืองหลวงพระบางของฝรั่งเศส การยกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามเมืองหลวงพระบางให้ฝรั่งเศส รวมทั้งให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรี ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักในการทำสัญญาครั้งนี้ ต่อมาฝรั่งเศสยังไม่พอใจในสัญญา ไทยจึงต้องมอบเมืองตราดและเกาะต่าง ๆ ให้ฝรั่งเศสยึดครอง
สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122
สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 (Franco–Siamese Treaty of 1904) เป็น อนุสัญญา (convention) หรือที่ในสมัยนั้นเรียกว่า “สัญญาน้อย” ระหว่าง ราชอาณาจักรสยาม (ต่อมาคือ ประเทศไทย) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ กับสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในสมัยของประธานาธิบดีเอมีล ฟรังซัวส์ ลูเบต์ (Émile François Loubet) มีเนื้อหาสำคัญเป็นการกำหนดเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรสยามกับดินแดนใกล้เคียงซึ่งตกเป็นเมืองขึ้นของสาธารณรัฐฝรั่งเศสแล้ว กับทั้งยังให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ชาวฝรั่งเศสหรือผู้อยู่ในบังคับฝรั่งเศสด้วย
ผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายสยามซึ่งลงลายมือชื่อในสนธิสัญญา คือ มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เอกอัครราชทูตสยามประจำประเทศฝรั่งเศส ส่วนฝ่ายฝรั่งเศส คือ เธโอพีล เดลกาสเซ (Théophile Delcassé) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
การเจรจามีขึ้น ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 122 (ตรงกับ ค.ศ. 1904 และ พ.ศ. 2447) และลงลายมือชื่อกันในอีกสองวันถัดมา