
20 กุมภาพันธ์ เริ่มก่อตั้ง สมาคมทนายความ เพื่อให้เป็นสถาบันอิสระ
20 กุมภาพันธ์ 2500 ได้มีการริเริ่มก่อตั้ง “สมาคมทนายความ” เพื่อให้เป็นสถาบันอิสระ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของทนายความทั่วประเทศ ในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมส่วนรวม ทั้งเอื้ออำนวยผลประโยชน์ ดูแลสวัสดิการแก่ทนายความด้วยกัน ต่อมาในปี 2518 ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อสมาคมจากเดิมเป็น “สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย” ดังนั้น ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ของทุกปี จึงถือเป็น “วันทนายความ” อันเป็นวันสำคัญของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
สภาทนายความ
สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นองค์กรผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายที่สำคัญอย่างยิ่งสถาบันหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยและนานาประเทศ มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติทนายความ 2528 โดยมีนายกและกรรมการสภาทนายความที่ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกทนายความทั่วประเทศเป็นผู้บริหาร อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
สืบเนื่องมาจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติทนายความ 2508 ที่ได้มีการจำกัดสิทธิของทนายความ และเกิดผลกระทบต่อทนายความชั้นสอง รวมไปถึงประชาชนต่าง ๆ ที่มีความต้องการความรู้ความสามารถของทนายความชั้นสอง จึงทำให้เกิดประกายแห่งแนวความคิดในการก่อตั้งสถาบันของทนายความเพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมการประกอบวิชาชีพของทนายความเอง เช่นเดียวกันกับนานาประเทศ ดังนั้น ในปี 2517 นายมารุต บุนนาค นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในขณะนั้น จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติทนายความเพื่อก่อตั้ง “สภาทนายความ” เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทนายความการเคลื่อนไหวและต่อสู้ที่เป็นระยะเวลายาวนานต่อเนื่องกัน เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 15 ปี จึงได้ประสบความสำเร็จ โดยวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2528 ที่ประชุมวุฒิสภาในการประชุมครั้งที่ 11/2528 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติทนายความ
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติทนายความ 2528 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2528
โดยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษเล่มที่ 102 ตอน 129 วันที่ 19 กันยายน 2528 พระราชบัญญัติทนายความ 2528 จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2528 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน