วันนี้ในอดีต

12 มีนาคม อังกฤษประกาศสงครามครั้งแรกกับพม่า

12 มีนาคม 2367 อังกฤษประกาศสงครามครั้งแรกกับพม่าอย่างเป็นทางการ สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าบาคญีดอ หลังประกาศสงคราม อังกฤษได้ส่งกองทัพบุกแคว้นยะไข่ (Arakan) และยึดร่างกุ้งได้ในเวลาต่อมา

สงครามพม่า–อังกฤษ

สงครามพม่า–อังกฤษครั้งที่หนึ่ง (First Anglo-Burmese War) เป็นสงครามระหว่างจักรวรรดิอังกฤษกับราชวงศ์โก้นบองของพม่า เป็นระยะเวลา 2 ปี ในระหว่าง ค.ศ. 1824–1826 ถือเป็นสงครามครั้งแรกของสงครามพม่า–อังกฤษ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง รวมทั้งครั้งนี้

สงครามครั้งนี้เกิดจาก พม่าได้ครอบครองแคว้นอัสสัมของอินเดียได้สำเร็จ ในรัชสมัยพระเจ้าจักกายแมง ก็ต้องเผชิญหน้ากับจักรวรรดิอังกฤษที่กำลังอยู่ในระหว่างล่าอาณานิคมอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งในช่วงเวลานั้นอังกฤษก็กำลังคุกคามอินเดียอยู่

ในระยะแรก กองทัพอังกฤษยังไม่จัดเจนในการสงครามครั้งนี้ เนื่องจากไม่คุ้นกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ และยุทธวิธีการรบ แต่ทว่า ผลของการสู้รบมาถึงจุดพลิกผันที่ให้ถึงที่สิ้นสุดเอาเมื่อถึงวันที่ 1 ธันวาคม – 14 ธันวาคม ค.ศ. 1824 ซึ่งเป็นสมรภูมิในปริมณฑลย่างกุ้ง มหาพันธุละ แม่ทัพใหญ่ของฝ่ายพม่า ซึ่งนำกองกำลังประมาณ 60,000 นาย จากกรุงรัตนปุระอังวะ ซึ่งเป็นเมืองหลวง ปะทะกับกองทัพอังกฤษ ซึ่งประกอบด้วย ทหารสัญชาติอังกฤษไม่เกิน 1,300 นาย และทหารแขก (ซีปอย) 2,500 นาย ในเวลาเพียง 15 วัน กองทัพพม่าสูญเสียเป็นอย่างยิ่ง จนมหาพันธุละเหลือกำลังทหารเพียง 7,000 นายเท่านั้น ต้องถอยร่นไปตั้งรับที่เมืองดนูพยู หรือทุนพยู

จนลำน้ำปันฮะลาย ซึ่งเป็นลำน้ำสำคัญที่ตัดออกสู่แม่น้ำอิระวดี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ มหาพันธุละใช้ยุทธวิธีการรบแบบสมัยโบราณ ที่เคยกระทำใช้ได้ผลสำเร็จมาแล้วในการรบแต่ละครั้งในประวัติศาสตร์ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ คือ การตั้งค่ายและป้อมปืนขึ้นริมน้ำทั้งสองฟากเพื่อดักยิงเรือของข้าศึกที่ผ่านมา แต่ด้วยเทคโนโลยีทางอาวุธที่ทันสมัยกว่าและระเบียบวิธีการรบของกองทัพอังกฤษ มหาพันธุละเป็นฝ่ายแพ้อย่างยับเยิน และหลังจากนั้นในวันที่ 1 เมษายน ปีถัดมา มหาพันธุละก็เสียชีวิตลงด้วยสะเก็ดปืนใหญ่ระเบิดที่เมืองดนูพยูนั่นเอง เมื่อถูกฝ่ายอังกฤษใช้ปืนใหญ่ที่ทันสมัยกว่ารวมทั้งปืนครก ขึ้นตั้งเป็นหอรบระดมยิงกระหน่ำค่ายของพม่า

สงครามสิ้นสุดลงที่การทำสนธิสัญญารานตะโบ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1826 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญ คือ อังกฤษจะผนวกเอาอะระกันและตะนาวศรี ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญด้านทะเลอันดามันไปเป็นสิทธิ์ขาดอย่างที่จะเรียกเอาคืนไม่ได้ พร้อมทั้งพม่าต้องสัญญาว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของดินแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คือ แคว้นอัสสัม, กะจาร์, ซินเตีย และมณีปุระ ซึ่งภายหลัง อังกฤษผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของบริติชราช ซึ่งปกครองโดย ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษที่กัลกัตตา นอกจากนี้แล้ว พม่ายังต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้อังกฤษเป็นจำนวนเงิน 2,000,000 ปอนด์สเตอร์ลิง และต้องยอมให้อังกฤษตั้งสถานกงสุลขึ้นในกรุงรัตนปุระอังวะ ซึ่งมี จอห์น ครอว์ฟอร์ด เป็นกงสุลคนแรก

ซึ่งสงครามครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออาณาจักรโก้นบอง ที่ถือได้ว่ามีอำนาจสูงสุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ขณะนั้น ซึ่งนับจากนี้ต่อไป พม่าไม่อาจจะแสดงอิทธิพลหรือแผ่แสนยานุภาพใด ๆ อีกต่อไป และนำไปสู่การสิ้นสุดลงของราชวงศ์โก้นบอง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายในประวัติศาสตร์พม่า และถือเป็นสิ้นสุดของระบอบราชาธิปไตยของพม่าในปี ค.ศ. 1885 หลังสิ้นสุดสงครามพม่า-อังกฤษ ครั้งที่ 3

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button