วันนี้ในอดีต

20 มีนาคม วรรณกรรมเรื่อง กระท่อมน้อยของลุงทอม วางจำหน่าย

20 มีนาคม 2395 วรรณกรรมเรื่อง กระท่อมน้อยของลุงทอม (Uncle Tom’s Cabin) ของ แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ (Harriet Beecher Stowe) วางจำหน่าย มีเนื้อหาพรรณาถึงความทารุณของระบบทาสในภาคใต้ของอเมริกา และมีส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อเลิกทาสในยุคประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น หนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก หากไม่นับคัมภีร์ไบเบิลแล้วนับว่าหนังสือเล่มนี้จำหน่ายได้มากที่สุดกว่าหนังสือเล่มใดๆ ที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านั้น โดยจำหน่ายได้ถึง 300,000 เล่มภายในปีเดียว

กระท่อมน้อยของลุงทอม

กระท่อมน้อยของลุงทอม (Uncle Tom’s Cabin) เป็นบทประพันธ์ประเภทนวนิยายของแฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ (Harriet Beecher Stowe) เกี่ยวกับปัญหาด้านทาสในสหรัฐอเมริกา วางจำหน่ายครั้งแรกวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1852 นวนิยายเรื่องนี้มีอิทธิพลกับทัศนคติที่มีต่อชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และพวกทาสในสหรัฐอเมริกาอย่างมาก จนกระทั่งนำไปสู่สงครามกลางเมืองอเมริกาในที่สุด

สโตว์เป็นชาวคอนเนตทิกัต เป็นครูที่วิทยาลัยสตรีฮาร์ตฟอร์ด และเป็นแกนนำสนับสนุนการเลิกทาสที่กระตือรือร้นอย่างยิ่ง เธอใช้ตัวละคร “ลุงทอม” เป็นแกนหลักในนวนิยาย เขาเป็นทาสผิวดำผู้ต้องทนทุกข์ทรมานมาเป็นเวลานาน เนื้อเรื่องยังเกี่ยวข้องกับทาสคนอื่น ๆ และเจ้านายผู้เป็นเจ้าของทาสเหล่านั้น นวนิยายพรรณนาอย่างลึกซึ้งถึงความเป็นจริงอันโหดร้ายของการเป็นทาส ในขณะเดียวกันก็สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับความรักและความศรัทธาของชาวคริสต์ซึ่งสามารถเอาชนะได้แม้สิ่งที่พังพินาศลงอย่างสิ้นเชิง คือความเป็นมนุษย์ที่ต้องสูญสิ้นไปเนื่องจากตกเป็นทาส

กระท่อมน้อยของลุงทอมเป็นนวนิยายที่ขายดีที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเป็นหนังสือขายดีอันดับสองรองจากคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น ได้รับยกย่องว่าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดการเลิกทาสในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1850 หนังสือสามารถจำหน่ายได้ถึง 300,000 เล่มภายในปีแรกที่ออกวางจำหน่าย นับเฉพาะที่จำหน่ายเฉพาะสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ผลกระทบจากนวนิยายนี้ยิ่งใหญ่มาก จนเมื่ออับราฮัม ลิงคอล์น ได้พบกับสโตว์ในช่วงต้นของสงครามกลางเมืองอเมริกา ลิงคอล์นกล่าวว่า “นี่หรือสุภาพสตรีผู้ทำให้เกิดสงครามใหญ่”

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button