
3 เมษายน โยฮันเนิส บรามส์ คีตกวีชาวเยอรมันถึงแก่กรรม
3 เมษายน 2440 โยฮันเนิส บรามส์ (Johannes Brahms) คีตกวีชาวเยอรมันยุคโรแมนติก ถึงแก่กรรม บราห์มเกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2376 ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เรียนดนตรีกับพ่อมาตั้งแต่เด็ก เริ่มเป็นนักดนตรีอาชีพในผับตั้งแต่อายุ 13 ปี ในปี 2405 เดินทางไปกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ผู้คนเริ่มเห็นฝีมือของเขาและยกย่องให้เป็น “ทายาททางดนตรีของบีโธเฟน” เขาแต่งซิมโฟนีบทแรกสำเร็จในปี 2419 และได้รับการขนานนามว่า “ซิมโฟนีบทที่ 10 ของบีโธเฟน”
จากนั้นก็ได้ประพันธ์ดนตรีขึ้นอีกจำนวนมาก ชิ้นสำคัญได้แก่ ซิมโฟนี 4 บท เปียโฯคอนแชร์โต 2 บท ไวโอลินคอนแชร์โต 1 บท ดนตรีแชมเบอร์ และเพลงขับร้องประสานเสียงหลายเพลง เช่น A German Requiem ผลงานตอนที่เขายังหนุ่มมีลักษณะยืดเยื้อและแสดงอารมณ์รุนแรง พออายุมากขึ้นจึงกระชับและเข้มข้นขึ้น เขาได้รับการยกย่องจากผู้ที่ไม่ชอบดนตรีแผนใหม่ (Modernism) ตามแบบของวากเนอร์ (Wagner) ว่า เป็นผู้กอบกู้ดนตรีคลาสสิกตามแบบแผนดั้งเดิมไว้
โยฮันเนิส บรามส์
โยฮันเนิส บรามส์ (Johannes Brahms) 7 พฤษภาคม 2376 – 3 เมษายน 2440 เป็นคีตกวีและวาทยกรชาวเยอรมัน หลายคนยกย่องเขาในฐานะทายาททางดนตรีของลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน ซิมโฟนีบทแรกของเขาได้รับการยกย่องจาก ฮันส์ ฟ็อน บือโล ว่าเป็นซิมโฟนีบทที่ 10 ของเบทโฮเฟิน
บิดาของบรามส์เป็นนักเล่นดับเบิลเบสและยังเป็นครูดนตรีคนแรกของเขาอีกด้วย บรามส์ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถมากอันโดดเด่นเกินวัย สนใจเครื่องดนตรีทุกประเภท ครูดนตรีคนสำคัญของเขาได้แก่เอดูอาร์ท มาคส์เซิน ได้สอนเขาอย่างตั้งอกตั้งใจ ด้วยความหวังที่ว่าเขาจะกลายเป็นนักเปียโนเอกในอนาคต โดยได้สอนเทคนิคการเล่นของบัค โมทซาร์ท และเบทโฮเฟิน ซึ่งกลายเป็นที่จดจำของบรามส์ไปตลอด โดยมิได้ทำลายพรสวรรค์ทางการสร้างสรรค์ของศิษย์
ความสามารถทางการเล่นเปียโนของเขา ทำให้เขาได้เป็นนักดนตรีอาชีพครั้งแรกที่ผับแห่งหนึ่งในนครฮัมบวร์ค ตั้งแต่มีอายุเพียงสิบสามปี
ในปี 2396 (ค.ศ. 1853) บรามส์ออกตระเวนเปิดการแสดงกับเพื่อนนักไวโอลิน ชื่อแอแด แรเมญี ซึ่งทำให้เขามีโอกาสได้พบกับนักไวโอลินชื่อดังแห่งยุค โยเซ็ฟ โยอาคิม ผู้ซึ่งประทับใจฝีมือของบรามส์มาก และยังได้แนะนำให้เขาได้รู้จักกับฟรันทซ์ ลิสท์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชูมัน กับภรรยา คลารา ชูมัน ซึ่งเขาได้สนิทสนมด้วยเป็นอย่างดี อิทธิพลของชูมันที่มีต่องานของบรามส์นั้นใหญ่หลวงนัก
ระหว่างปี 2400 (ค.ศ. 1857) ถึง 2402 (ค.ศ. 1859) เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะนักร้องประสานเสียงประจำวังของเจ้าชายแห่งเด็ทม็อลท์ ในช่วงเวลานี้เองที่เขาได้ประพันธ์เซเรเนดสำหรับวงดุริยางค์ขึ้นสองบท และคอนแชร์โตสำหรับเปียโนชื้นแรก
ปี 2405 (ค.ศ. 1862) เขาได้เดินทางกลับสู่นครเวียนนา ชื่อเสียงในฐานะนักดนตรีของเขาเพิ่มขึ้น และได้รับการยกย่องให้เป็น ทายาทดนตรีของเบทโฮเฟิน เพลงสวดเรเควียมของเขาเป็นเครื่องพิสูจน์คำกล่าวนั้นได้เป็นอย่างดี
ในปี 2413 (ค.ศ. 1870) เขาได้พบกับวาทยกรฮันส์ ฟ็อน บือโล ผู้ซึ่งมีอุปการคุณต่องานดนตรีของบรามส์เป็นอย่างมากในภายหลัง
ในปี 2419 (ค.ศ. 1876) บรามส์แต่งซิมโฟนีบทแรกสำเร็จ ได้รับการขนานนามว่าเป็น ซิมโฟนีบทที่ 10 ของเบทโฮเฟิน ตามคำกล่าวของบือโล จากนั้นก็มีงานประพันธ์สำหรับวงดุริยางค์ตามมาจำนวนมาก ซิมโฟนีอีกสามบท คอนแชร์โตสำหรับไวโอลิน คอนแชร์โตหมายเลขสองสำหรับเปียโน จนกระทั่งถึงผลงานเอกในช่วงบั้นปลายชีวิต นั่นก็คือบทเพลงสำหรับแคลริเน็ต
งานของบรามส์ได้รับอิทธิพลหลากหลาย โดดเด่นด้วยศาสตร์แห่งเคานเตอร์พ็อยนต์และพอลิโฟนี ความงดงามของบทเพลงที่เขาประพันธ์อยู่ที่รูปแบบคลาสสิกที่ถูกแต่งแต้มด้วยความถวิลหาของยุคโรแมนติก แต่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สีสันทางดนตรีอันบรรเจิด ท่วงทำนองที่สร้างสรรค์ และจังหวะทำให้ประหลาดใจด้วยการสอดประสานกัน
เป็นผลงานส่วนตัวของบรามส์ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ ซึ่งเราอาจนึกว่าจะเข้าใจยากเมื่อแรกได้ยิน แต่เราก็จะเข้าถึงได้และขาดไม่ได้ในที่สุด
นับเป็นหนึ่งในคีตกวีคนสำคัญของประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตก ศพของโยฮันเนิส บรามส์ถูกฝังไว้ที่สุสานกลางแห่งนครเวียนนา ในส่วนของนักดนตรีคนสำคัญผู้ล่วงลับ