วันนี้ในอดีต

7 เมษายน กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ครั้งที่ 2

7 เมษายน 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ครั้งที่ 2 ในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ หลังจากถูกพม่าล้อมกรุงอยู่ 1 ปี 2 เดือน ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตก เจ้าเมืองตาก เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงต้องเสียทีแก่พม่าเป็นแน่แท้ จึงได้รวบรวมไพร่พลราว 500 คนตีฝ่าวงล้อมข้าศึกออกไปตั้งมั่นที่เมืองจันทบุรี จากนั้นก็ได้รวบรวมไพร่พลยกกลับไปตีข้าศึกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2310 และสามารถกอบกู้เอกราชยึดกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้

แต่ทรงเห็นว่าหากจะตั้งบ้านเมืองขึ้นมาใหม่คงจะเป็นเรื่องยาก เพราะกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายจนเสียหายยับเยิน อีกทั้งข้าศึกก็รู้จักพื้นที่ในกรุงศรีอยุธยาอย่างปรุโปร่งหมดแล้ว ดังนั้นพระองค์จึงมีพระราชดำริ ให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงศรีอยุธยามายังกรุงธนบุรี และทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2311 เป็นกษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งแผ่นดินกรุงธนบุรี พระนามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ครั้งที่ 2

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองหรือ สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เป็นความขัดแย้งทางทหารครั้งที่สองระหว่างราชวงศ์โกนบองแห่งพม่า กับราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งอยุธยา ในการทัพครั้งนี้ กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นราชธานีคนไทยเกือบสี่ศตวรรษได้เสียแก่พม่าและถึงกาลสิ้นสุดลงไปด้วย เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นเมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน ตรงกับวันที่ 7 เมษายน 2310

ยุทธนาการนี้เป็นผลพวงของสงครามพระเจ้าอลองพญาเมื่อ 2303 และอุบัติขึ้นใน 2308 เมื่อพม่าส่งกองทัพเข้าบุกครองอยุธยาเป็นสองทางแบบคีม ทัพพม่าพิชิตการป้องกันของฝ่ายอยุธยาที่ประกอบด้วยกำลังอันเหนือกว่าแต่ขาดการประสานงานกันได้ และเริ่มล้อมกรุงศรีอยุธยานาน 14 เดือน กระทั่งเดือนมีนาคม 2310 พระเจ้าเอกทัศทรงยอมเป็นประเทศราชของพม่า แต่พม่าประสงค์ให้ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ในที่สุด กองทัพพม่าหักเข้าพระนครได้เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ แล้วทำลายล้างพระนคร ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-พม่าเสื่อมลงจนถึงปัจจุบัน

การเสียกรุงครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลให้อาณาจักรอยุธยาล่มสลายลงแล้ว ตะนาวศรีตอนใต้ยังได้ตกเป็นของพม่าเป็นการถาวร และเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองในระดับต่าง ๆ จนแทบนำไปสู่การล่มสลายของรัฐไทย อย่างไรก็ดี พม่าจำต้องถอนกำลังส่วนใหญ่ในอาณาจักรอยุธยาเดิมกลับคืนประเทศไปเมื่อถูกจีนบุกครอง จึงเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเถลิงอำนาจและตั้งอาณาจักรของคนไทยใหม่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button