วันนี้ในอดีต

12 เมษายน นายปรีดี พนมยงค์ ถูกบังคับให้ออกจากประเทศ

12 เมษายน 2476 นายปรีดี พนมยงค์ ถูกบังคับให้เดินทางออกจากประเทศไทยในข้อกล่าวหาว่าเป็น คอมมิวนิสต์ หลังจากที่เป็นหนึ่งในคณะราษฎรทำการอภิวัฒน์การปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นายปรีดีได้รับเลือกเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายให้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งนายปรีดีได้ร่างเค้าโครงฯ แบบสหกรณ์เต็มรูปแบบ แต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน

โดยให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร และยังได้วางหลักการประกันสังคม คือให้การประกันแก่ราษฎรตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อนำเค้าโครงฯ เสนอต่อรัฐบาล ปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งเจ้าและขุนนางยังเป็นผู้คุมอำนาจอยู่ นายปรีดีจึงขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี

จากนั้นรัฐบาลก็ร่วมมือกับทหารบางกลุ่มทำการยึดอำนาจด้วยการปิดสภาและออก ตาม พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์ 2476 และออกแถลงการณ์ประณามนายปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นายปรีดีจำต้องเดินทางออกนอกประเทศไปพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส จากนั้น 19 มิถุนายนปีเดียวกัน คณะราษฎรที่นำโดย พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ยึดอำนาจจาก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และโทรเลขเชิญนายปรีดีให้กลับมาร่วมรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง

ปรีดี พนมยงค์

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หรือ อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (11 พฤษภาคม 2443 – 2 พฤษภาคม 2526) เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การเพียงคนเดียวของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบัน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปรีดีเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม นอกจากนี้เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ 8 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องในฐานะ “รัฐบุรุษอาวุโส”

ปรีดีต้องยุติบทบาททางการเมืองหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โดยถูกกล่าวหาจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อมาเกิดการรัฐประหาร 2490 เป็นเหตุให้เขาต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศจีนและฝรั่งเศสรวมระยะเวลากว่า 30 ปี และไม่ได้กลับสู่ประเทศไทยอีกเลยจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526

ระหว่างที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ปรีดีได้ฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาทต่อศาลยุติธรรม ผลปรากฏว่าศาลตัดสินให้ชนะทุกคดี และยังได้รับความรับรองจากทางราชการตลอดจนเงินบำนาญและหนังสือเดินทางของไทย

ใน 2542 ที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 30 ขององค์การยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีมติประกาศให้ปรีดี พนมยงค์ เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” และได้ร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของเขา ระหว่าง 2543–2544นอกจากนี้นิตยสารเอเชียวีกยังได้เสนอชื่อของเขาเข้าชิงตำแหน่ง “Asian Of The Century” อีกด้วย

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button