วันนี้ในอดีต

23 เมษายน วันเกิด สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร ศิลปะวัฒนธรรม

23 เมษายน 2488 วันเกิด สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการผู้ก่อตั้งนิตยสาร ศิลปะวัฒนธรรม และบรรณาธิการอาวุโสสำนักพิมพ์ในเครือ มติชน

สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ (20 เมษายน 2488 – ปัจจุบัน) นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2536 ปัจจุบันเป็นนักเขียนประจำในเครือมติชน เขียนเป็นประจำในคอลัมน์ “สยามประเทศไทย” ในหนังสือพิมพ์มติชน และผู้บรรยาย องค์ปาฐกถาพิเศษด้านศิลปะวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

นอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี 2545 (แต่ได้ขอปฏิเสธรางวัลและค่าตอบแทน)

การทำงาน

สุจิตต์ วงษ์เทศ เริ่มสนใจงานเขียนมาตั้งแต่เรียนที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ด้วยการชักชวนของนายขรรค์ชัย บุนปาน เพื่อนร่วมห้องซึ่งทำหนังสือประจำห้องอยู่ก่อนแล้วด้วยใจรักและด้วยความสนุกร่วมกับนายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เพื่อนในชั้นเรียนอีกคนหนึ่ง ชักชวนกันเขียนกลอน ช่วงนั้นได้อ่านหนังสือของไม้ เมืองเดิม เกิดความชอบใจสำนวนโวหาร จึงคิดเขียนกลอนที่แตกต่างจากกลอนรักที่นิยมเขียนกันทั่วไป คือ เขียนกลอนแนวลูกทุ่งสะท้อนสภาพสังคมวัฒนธรรมในขณะนั้น จนมีผลงานรวมพิมพ์เป็นเล่ม ร่วมกับผลงานของนายขรรค์ชัย บุนปาน ชื่อ นิราศ เมื่อ 2507

โดยสุจิตต์ เขียนนิราศเมืองนนท์ ส่วนกลอนลูกทุ่ง เขียนร่วมกัน ต่อมา 2508 เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ คนบาป ซึ่งเป็นปฐมบทของพฤติกรรม “ขุนเดช” ผู้หวงแหนโบราณวัตถุและโบราณสถาน ลงพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2509 ทำให้มีกำลังใจเขียนเรื่องสั้นต่ออีกมาก จน 2511 มีรวมเรื่องสั้นเล่มแรกร่วมกับนายขรรค์ชัย บุนปาน ชื่อ ครึ่งรักครึ่งใคร่ และโด่งดังมากใน 2512 จากผลงานร้อยกรองร่วมกับนายขรรค์ชัย บุนปาน ชื่อ กูเป็นนิสิตนักศึกษา และรวมเรื่องสั้นของตนเอง ชื่อ ขุนเดช กับนวนิยายขนาดสั้น หนุ่มหน่ายคัมภีร์ ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกว้างขวาง

โดยเฉพาะรวมเรื่องสั้นชุดขุนเดช มีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์อีกด้วย ในช่วงที่เรียนคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากจะประพันธ์ร้อยกรองและเรื่องสั้นกับเพื่อนๆ นักเขียนกลุ่ม “หนุ่มเหน้าสาวสวย” จนโด่งดังแล้ว ยังได้ไปทำนิตยสารช่อฟ้า ที่มีนายสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เป็นบรรณาธิการ

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยรับหน้าที่บรรณาธิการวารสารโบราณคดี และได้ทำงานที่โรงพิมพ์กรุงสยาม รับจ้างพิสูจน์อักษร ออกแบบปก จัดทำรูปเล่มและทำงานการพิมพ์อื่น ๆ เกือบทุกอย่าง ทำให้รอบรู้และมีรายได้ส่งเสียตัวเองและน้องสาวที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ด้วย เนื่องจากนายสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยอ่านวรรณคดีโบราณ เช่น ทวาทศมาส ยวนพ่าย กำสรวลโคลงดั้น ฯลฯ มามาก จึงได้รับการขอร้องจากอาจารย์ให้เป็นผู้สอนวิชาภาษาและวรรณคดีไทยในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 และสอนต่อเนื่องมาจนจบการศึกษาแล้วก็ยังกลับไปสอนอีกระยะหนึ่ง

เมื่อเรียนจบปริญญาตรี เมื่อ 2513 ได้เข้าทำงานกับ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ทำงานแทนบรรณาธิการเกือบทุกอย่างประมาณ 1 ปี จึงขอลาไปสหรัฐอเมริกา 1 ปีเศษ ทำงานเขียนหนังสืออย่างเดียว มีผลงานรวมเรื่องสั้นพิมพ์เผยแพร่ในช่วงนี้ชุดหนึ่ง ชื่อ มุกหอมบนจานหยก

เรื่องที่ส่งกลับมาลงพิมพ์ในสยามรัฐรายวัน และเรื่องที่เขียนให้นายสุทธิชัย หยุ่น แปลเป็นภาษาอังกฤษลงในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นนั้น ได้รวมพิมพ์ชื่อ เมดอิน ยูเอสเอ และ โง่เง่าเต่าตุ่นเมดอิน ยูเอสเอ ช่วงที่อยู่สหรัฐอเมริกาได้แต่งงานกับนางสาวปรานี เจียรดิษฐ์อาภรณ์ (รองศาสตราจารย์ปรานี วงษ์เทศ) ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา

เดือนพฤษภาคม 2515 เดินทางกลับมาทำงานที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันตามเดิม แล้วออกมาพร้อมกับนายขรรค์ชัย บุนปาน และนายเสถียร จันทิมาธร ไปทำงานที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายวันระยะหนึ่ง แล้วร่วมกับนายขรรค์ชัย บุนปาน ก่อตั้งโรงพิมพ์พิฆเนศ กระทั่งหลัง 14 ตุลาคม 2516 จึงเริ่มออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายสัปดาห์ ซึ่งต่อมาเป็นประชาชาติรายวัน โดยนายสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นบรรณาธิการในระยะแรก แต่ถูกสั่งปิดในระยะต่อมา

จึงไปช่วยก่อตั้งสำนักพิมพ์การเวกจัดพิมพ์หนังสือต่าง ๆ ออกจำหน่าย จากนั้นได้ก่อตั้งโรงพิมพ์เรือนแก้วเป็นของตัวเอง ออกหนังสือการะเกดรายสัปดาห์ ก็เลิกล้มไปอีก จนกระทั่ง 2522 ริเริ่มทำนิตยสารศิลปวัฒนธรรมรายเดือน ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้อ่านกว้างขวาง จึงรับหน้าที่บรรณาธิการเรื่อยมา

จนภายหลังได้มอบหมายให้นายฐากูร บุนปาน ทำหน้าที่นี้แทน ขณะเดียวกันก็เขียนบทความแนวประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมในนามจริง สุจิตต์ วงษ์เทศ และใช้นามปากกา “ทองเบิ้ม บ้านด่าน” ไปพร้อม ๆ กับงานร้อยกรอง ด้วยความรักในกาพย์ กลอน นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ยังคงสร้างผลงานกวีนิพนธ์ร่วมสมัยสะท้อนสภาพสังคมเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นบทกลอนสั้น ๆ ลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันประจำทุกวันอาทิตย์จนถึงปัจจุบัน

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button