วันนี้ในอดีต

5 พฤษภาคม จิตร ภูมิศักดิ์ ถึงแก่อสัญกรรม

5 พฤษภาคม 2509 จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนนักปฏิวัติคนสำคัญของสยาม ถึงแก่อสัญกรรม

จิตร ภูมิศักดิ์

จิตร ภูมิศักดิ์ (25 กันยายน 2473 – 5 พฤษภาคม 2509) เป็นนักคิดด้านการเมือง นักประวัติศาสตร์ และนักภาษาศาสตร์ นับเป็นนักปราชญ์และนักปฏิวัติทางความคิดและวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย จิตรเป็นนักวิชาการคนแรก ๆ ที่กล้าถกเถียงและคัดค้านปราชญ์คนสำคัญ ด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลและลุ่มลึก มีความโดดเด่นจากผลงานการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง ขณะเดียวกันจิตรยังมีความคิดต่อต้านระบบเผด็จการและการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด

จิตรเสียชีวิตในปี 2509 หลังเข้าร่วมต่อต้านการปกครองของเผด็จการทหาร โดยถูกตัวแทนเผด็จการทหารคือกำนันแหลมและพวกอาสาสมัครฝั่งตรงข้ามและเหล่าทหารตำรวจล้อมยิง

จิตรเป็นบุตรของศิริ ภูมิศักดิ์ กับแสงเงิน ฉายาวงศ์ มีชื่อเดิมว่า สมจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น จิตร เพียงคำเดียว ตามนโยบายตั้งชื่อให้ระบุเพศชายหญิงอย่างชัดเจน ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ปี 2479 จิตรติดตามบิดา ซึ่งรับราชการเป็นนายตรวจสรรพสามิต เดินทางไปรับราชการยังจังหวัดกาญจนบุรี และเข้ารับการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรี จนถึงปี 2482 จิตรย้ายมาอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ อีก 7 เดือนบิดาก็ได้รับคำสั่งย้ายไปรับราชการในเมืองพระตะบอง ซึ่งสมัยนั้นเป็นเมืองในการปกครองของไทย (ปัจจุบันอยู่ในอาณาเขตของกัมพูชา) จิตรจึงย้ายตามไปด้วย และได้เข้าศึกษาชั้นมัธยมที่นั่น

ปี 2490 ประเทศไทยต้องคืนดินแดนเมืองพระตะบองให้กัมพูชา จิตรจึงอพยพตามมารดากลับเมืองไทย ระหว่างที่ครอบครัวภูมิศักดิ์ ยังอยู่ที่พระตะบอง นางแสงเงินเดินทางไปค้าขายที่จังหวัดลพบุรี ขณะที่จิตรและพี่สาว เดินทางมาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร โดยจิตรเข้าเรียนที่โรงเรียนเบญจมบพิตร (โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน) และสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในที่สุด

บิดาและมารดาของจิตร ภูมิศักดิ์ แยกทางกัน หลังจากนั้นหลายปีต่อมาบิดาของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้แต่งงานใหม่กับนางสงวน สร้างครอบครัวใหม่ที่จังหวัดสระบุรี โดยมีบุตรด้วยกัน 5 คน เป็น หญิง 4 คน และ ชาย 1 คน(คนกลาง)

พ่อของจิตร (นายศิริ) เป็นคนที่มีความคิดก้าวหน้าและถือว่าหัวสมัยใหม่มากสำหรับคนในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศเข้ามาเสมอ เช่น กล้องถ่ายรูป ทรานซิสเตอร์ ฯลฯ และไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก้าวไปพร้อมกับโลกที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว วิศัยทัศน์ที่กว้างไกลของบิดาส่วนหนึ่งเป็นผลทำให้ความคิดของผู้เป็นบุตรมีความก้าวหน้าและเปิดกว้างมากกว่าเด็กในสมัยนั้น

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button