วันนี้ในอดีต

6 พฤษภาคม วันเกิด อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

6 พฤษภาคม 2484 วันเกิด อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 6 พฤษภาคม 2484 — อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว

ศาสตราจารย์พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หรือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เกิดเมื่อวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม 2484 ที่บ้านห้องแถว ถนนทรงพล อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เกิดและเติบโตจากครอบครัวชนชั้นกลาง

คุณพ่อชื่อ เชิญ (เปลี่ยนนามสกุลเดิมจาก “แก่นแก้ว” เป็น “เกษตรศิริ”) จบการศึกษาชั้นมัธยม 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย คุณพ่อรับราชการเป็นเทศมนตรี อำเภอบ้านโป่ง และทำการค้าขายมี “ร้านขายปืนบ้านโป่ง” คุณแม่ชื่อ ฉวีรัตน์ (สกุลเดิม “เอี่ยมโอภาส”) จบการศึกษาจากโรงเรียนพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีอาชีพเป็นพยาบาลและผดุงครรภ์

เมื่อ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ อายุได้เพียง 7 เดือน เกิดเหตุการณ์กองทัพญี่ปุ่นบุกไทย (8 ธันวาคม 2484) และใช้บริเวณสถานีรถไฟหนองปลาดุก ซึ่งใกล้กับอำเภอบ้านโป่ง เป็นที่ตั้งค่ายทหารญี่ปุ่นเพื่อควบคุมการสร้างทางรถไฟสายมรณะ

จนก่อให้เกิด “เหตุการณ์บ้านโป่ง” ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว และเมื่อถึงช่วงปลายสงคราม ซึ่งเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดอย่างหนักที่หนองปลาดุก คุณแม่ฉวีรัตน์ จึงได้พา ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ (อายุ 3 ขวบ) หนีหลบภัยสงครามไปยังบ้านญาติในคลองบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เริ่มเรียน ก ไก่ ข ไข่ จากโรงเรียนเฉลิมวิทยา ที่วัดกลางปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งคุณตาคุณยายเป็นเจ้าของโรงเรียน จากนั้นกลับมาเรียนที่บ้านโป่งอีกครั้ง โดยเข้าศึกษาต่อระดับประถม 3 – 4 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 (ระหว่าง 2493 – 2497 เป็นเวลา 5 ปี) ที่โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือคณะนักบวชซาเลเซียน โดยเป็นโรงเรียนเดียวกับที่ธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้บริหารสูงสุดของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เคยเข้าศึกษา เมื่อปี 2492

เมื่ออายุ 14 ปี 2498 ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เดินทางเข้ามาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 8 จากนั้นสอบเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (แผนกการทูต) โดยมีผลการเรียนดีจนได้รับเกียรตินิยมดี และได้รับรางวัลภูมิพล ในปี 2506 จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับทุน Rockefeller Foundation ผ่านภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ไปเรียนในระดับปริญญาโททางการทูตที่ Occidental College รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นเวลา 2 ปี (2508 – 2510) จากนั้นให้เรียนต่อระดับปริญญาเอก ด้านประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล รัฐนิวยอร์ก เป็นเวลา 5 ปี (2510 – 2515) โดยเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง The Rise of Ayudhaya

การเป็นนักเรียนนอกในยุค 60s ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในวิธีคิดและการมองโลกของ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ ซึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นเป็นยุคที่เกิดกระแส “ซ้ายใหม่” หรือ New Left ในกลุ่มคนหนุ่มสาวในสหรัฐฯ ที่กบฏต่อทุกอย่างที่เป็นจารีตดั้งเดิม โดยการทุ่มเทชีวิตให้กับการชุมนุนประท้วง ในเรื่องต่างๆ อาทิเช่น สงครามเวียดนาม การแต่งกาย ฯลฯ จนเกิดเป็นค่านิยม Hippies หรือบุปผาชน ประสบการณ์ชีวิตช่วงนี้ส่งผลให้ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกิดจิตวิญญาณที่อิสระเสรี และเกิดจิตสำนึกที่จะเรียนรู้และขุดคุ้ยแสวงหาความจริงความถูกต้อง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเป็นนักประวัติศาสตร์ของ ดร.ชาญวิทย์ ในเวลาต่อมา และจากประสบการณ์นี้เองส่งผลให้ ดร.ชาญวิทย์ ผลิตผลงานต่างๆที่ก้าวทันโลกและรักษ์รากเหง้า ด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม เพื่อการต่อสู้ เพื่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม และความเสมอภาคในสังคม และในขอบเขตเหนือความเป็นรัฐประชาชาติ ด้วยความมุ่งหวังให้สาธารณชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและมีส่วนในกระบวนการเรียนรู้ด้วย จนบางคนเรียก ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ว่า ปัญญาชนสาธารณะ

ดร.ชาญวิทย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555

หลังรัฐประหารในประเทศไทย 2557 ในวันที่ 24 มกราคม 2561 ดร.ชาญวิทย์ เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยตำรวจปอท.กล่าวหาว่าเขาทำผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ 2560

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button