วันนี้ในอดีต

8 พฤษภาคม วันเกิด อองรี ดูนังต์ นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวสวิส

8 พฤษภาคม 2371 วันเกิด อองรี ดูนังต์ (Jean Henri Dunant) นักธุรกิจและนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวสวิส ผู้ริเริ่มก่อตั้ง สภาการกาชาดสากล (International Committee of the Red Cross : ICRC)

อองรี ดูนังต์

อองรี ดูนังต์ หรือที่รู้จักในชื่อ อังรี ดูนังต์ (Henri Dunant) ชื่อเต็ม ฌ็อง อองรี ดูนังต์ (Jean Henri Dunant) 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1828 — 30 ตุลาคม ค.ศ. 1910 เป็นนักธุรกิจ และนักช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ชาวสวิส เขาเป็นผู้ให้กำเนิดคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศและสภากาชาดประจำชาติ เพื่อช่วยเหลิอบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภัยสงครามและภัยพิบัติต่าง ๆ และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี ค.ศ. 1901 ร่วมกับเฟรเดริก ปาซี (Frédéric Passy)

นาย อองรี ดูนังต์ เกิดที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นผู้เคร่งศาสนา โดยมีความเชื่อตามแนวทางของนิกายคาลวิน และตั้งมั่นในหลักการ “จงรักเพื่อนบ้านของท่าน” (“Love thy neighbor”) เขาได้เดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อบรรยายถึงความชั่วร้ายเรื่องความเป็นทาส (slavery) ในปี ค.ศ. 1859 ระหว่างอยู่ที่ประเทศอิตาลี เขาได้ไปที่สนามรบของสงครามแห่งโซลเฟริโน และได้เห็นทหารที่ได้รับบาดเจ็บนับพันคน ถูกปล่อยทิ้งรอความตายในสนามรบตามยถากรรม โดยไม่ได้รับแม้แต่การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ที่อาจรักษาชีวิตของคนเหล่านี้ได้ หลังจากที่เขากลับถึงกรุงเจนีวา เขาได้เขียนบทความเกี่ยวกับประสบการณ์ครั้งนี้ของเขา ในชื่อ Un Souvenir de Solferino (ความทรงจำแห่งซอลเฟรีโน) ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1862 ในบทความเขาได้พยายามผลักดันให้มีการจัดตั้ง เครือข่ายนานาชาติของอาสาสมัครเพื่อบรรเทาทุกข์ขึ้น หนังสือของเขาได้รับความสนใจจาก สภาบริหารประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland’s Federal Council) และส่งผลให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์สนับสนุนให้มีการประชุมสัมมนานานาชาติขึ้นในปี ค.ศ. 1863 เพื่ออภิปรายถึงแนวความคิดของดูว์น็องที่เขาได้เขียนไว้ในบทความ เก้าบทความ (Nine Articles) มีประเทศเข้าร่วมการประชุมสัมนาในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1864 ทั้งหมด 16 ประเทศ และในจำนวนนั้น 12 ประเทศได้ให้การสนับสนุนในเนื้อหา ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็น คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่หนึ่ง

ในขณะที่มีการให้รางวัลโนเบลเป็นครั้งแรกนั้น ก็มีข้อโต้แย้งว่า เขาควรจะได้รับรางวัลนี้หรือไม่ เนื่องจากในขณะนั้นองค์กรกาชาดได้ถูกจัดตั้งเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และบทบาทของ อองรี ดูนังต์ ก็ได้ถูกลืมเลือนไปเช่นกัน ได้มีข้อเสนอให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในสาขาแพทยศาสตร์ เนื่องมาจากบทบาทขององค์กรกาชาดในขณะนั้น ผลการประนีประนอมในท้ายที่สุดได้มีการตัดสินให้เป็นรางวัลร่วมในสาขาสันติภาพ โดยได้รับร่วมกับเฟรเดริก ปาซี ซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่อสันติภาพที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส และถึงแม้ว่า อองรี ดูนังต์ จะมีชีวิตที่ยากจนในขณะนั้น แต่เขาก็บริจาคเงินรางวัลที่ได้รับทั้งหมดเพื่อการกุศล

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button