วันนี้ในอดีต

10 พฤษภาคม คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบ หมู่เกาะเคย์แมน

10 พฤษภาคม 2046 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) นักสำรวจชาวสเปนพร้อมลูกเรือ เป็นชาวยุโรปคณะแรกที่ค้นพบ หมู่เกาะเคย์แมน (Cayman Islands) ในระหว่างการเดินทางค้นหาดินแดน โลกใหม่ (New world)

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) กริสโตบัล โกลอน , คริสโตโฟรุส โกลุมบุส (Christophorus Columbus) หรือ กริสตอโฟโร โกลอมโบ (Cristoforo Colombo) เกิด ค.ศ. 1451 เสียชีวิตวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1506 เป็นนักทำแผนที่ นักสำรวจ นักเดินเรือ และพ่อค้า เชื่อกันว่าน่าจะเป็นชาวสาธารณรัฐเจนัว ภายใต้การสนับสนุนของราชสำนักสเปน เขาได้เดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและทำให้ชาวยุโรปรู้จักทวีปอเมริกาในซีกโลกตะวันตกเป็นผลสำเร็จ การเดินทางทั้งสี่ครั้งและความพยายามที่จะตั้งถิ่นฐานบนเกาะฮิสปันโยลาของโคลัมบัสยังเป็นจุดเริ่มต้นของการล่าอาณานิคมของสเปนและชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ในทวีปยุโรปบน “โลกใหม่” อีกด้วย

ในช่วงที่ลัทธิจักรวรรดินิยมและการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างอาณาจักรต่าง ๆ ในยุโรป (ผ่านทางการควบคุมเส้นทางการค้าและการล่าอาณานิคม) กำลังเริ่มขึ้นนั้น โคลัมบัสได้วางแผนการเดินทางไปยังอินเดียตะวันออกโดยเดินเรือมุ่งไปทางตะวันตก ด้วยเขามีความเชื่อว่าโลกมีรูปร่างเป็นทรงกลม ความเชื่อนี้ขัดแย้งกับแนวความเชื่อในยุคนั้นว่าโลกนั้นมีรูปทรงแบน แต่ปัญหาสำคัญที่มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง คือ ความเป็นไปได้ของการเดินทางรอบโลก เนื่องมาจากอุปสรรคเรื่องของอาหารและข้อจำกัดทางเทคโนโลยีการเดินเรือในสมัยนั้น เช่น การเดินเรือไปติดในบริเวณที่ไม่มีลมพัด เป็นต้น

โคลัมบัสนำโครงการเดินเรือดังกล่าวไปเสนอต่อราชสำนักโปรตุเกสเพื่อขอทุนทรัพย์ในการแต่งกองเรือออกไปค้นหาความมั่งคั่งยังดินแดนไกลโพ้น แต่ถูกปฏิเสธ เขาจึงไปขอรับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 5 และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 แห่งอาณาจักรคาสตีล และได้รับการอนุมัติให้ออกเดินทางเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1492 แต่แทนที่โคลัมบัสจะไปถึงหมู่เกาะญี่ปุ่นอย่างที่ได้ตั้งใจไว้ เขากลับไปพบหมู่เกาะบาฮามาสและขึ้นฝั่งบนเกาะแห่งหนึ่งที่เขาตั้งชื่อว่า “ซานซัลบาดอร์” เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ปีเดียวกัน ในการเดินทางอีกสามครั้งถัดมา เขาได้ค้นพบหมู่เกาะเกรตเตอร์แอนทิลลีส เลสเซอร์แอนทิลลีส รวมทั้งชายฝั่งทะเลแคริบเบียนของเวเนซุเอลาและอเมริกากลาง และประกาศให้ดินแดนเหล่านั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจักรวรรดิสเปน

แม้ว่าโคลัมบัสนั้นไม่ได้เป็นบุคคลแรกที่เดินทางมาถึงทวีปอเมริกา (เนื่องจากเลฟ เอริกสัน และกองเรือชาวนอร์สได้มาถึงทวีปนี้ก่อนแล้ว) แต่การเดินทางของโคลัมบัสก็ทำให้เกิดการติดต่ออย่างถาวรและต่อเนื่องระหว่างโลกใหม่ (ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก) กับโลกเก่า (ฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแอตแลนติก) นำไปสู่ช่วงเวลาของการสำรวจและการล่าอาณานิคมในดินแดนภายนอกทวีปยุโรปที่ดำเนินผ่านเวลาหลายศตวรรษและส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของโลกตะวันตกสมัยใหม่

โคลัมบัสเรียกชนพื้นเมืองบนดินแดนที่เขาไปเยือนว่า “อินดิโอส” (เป็นคำภาษาสเปนแปลว่าชาวอินเดีย) โดยไม่ทราบว่าเขาได้ค้นพบทวีปที่ชาวยุโรปไม่เคยรู้จักมาก่อนแล้วโดยบังเอิญ ไม่กี่ปีต่อมา ความขัดแย้งระหว่างโคลัมบัสกับราชบัลลังก์สเปนและผู้ปกครองอาณานิคมคนอื่น ๆ ทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้บริหารอาณานิคมบนเกาะฮิสปันโยลาในปี ค.ศ. 1500 และถูกส่งตัวกลับมายังสเปน ทายาทของเขาใช้เวลาฟ้องร้องราชบัลลังก์สเปนอยู่เป็นเวลาหลายสิบปีหลังจากเขาเสียชีวิต กว่าจะได้รับส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ในดินแดนต่าง ๆ ที่เขาเคยไปสำรวจ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button