วันนี้ในอดีต

15 พฤษภาคม วันเกิด โชติ แพร่พันธุ์ เจ้าของนามปากกา ยาขอบ

15 พฤษภาคม 2450 วันเกิด โชติ แพร่พันธุ์ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทย เจ้าของนามปากกา ยาขอบ

โชติ แพร่พันธุ์

โชติ แพร่พันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2450 เป็นบุตรของเจ้าอินทร์แปลง เทพวงศ์ กับจ้อย (เป็นต้นห้องของหม่อมเฉื่อยในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) และเป็นราชนัดดาในเจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย เมื่อแรกเกิดนั้นเจ้าอินทร์แปลงผู้เป็นบิดาได้ตังชื่อบุตรชายของตนว่า “อินทรเดช” แต่จ้อยผู้เป็นแม่ได้ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “โชติ” ต่อมาเมื่อโชติจะเข้าโรงเรียน แม่จ้อยจึงได้พาโชติมาเฝ้าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อขอประทานนามสกุล ซึ่งได้ประทานนามสกุลว่า “แพร่พันธุ์”

เข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ได้รับการอุปถัมภ์จากพระยาพิทักษ์ภูบาลอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งถึงยุคเศรษฐกิจตกต่ำ โชติต้องกลับมาเร่ร่อนอีกครั้งหนึ่ง จนมีโอกาสได้เข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ เริ่มจากสยามรีวิว และธงไทย

ในปี 2472 กุหลาบ สายประดิษฐ์ จัดตั้งคณะสุภาพบุรุษ ออกหนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ คราวหนึ่ง อบ ไชยวสุ ซึ่งเป็นนักเขียนตลกประจำฉบับ ส่งต้นฉบับไม่ทัน กุหลาบ จึงขอให้โชติเขียนแทน โดยตั้งนามปากกาให้ว่า ยาขอบ เลียนแบบจากนักเขียนเรื่องตลกชาวอังกฤษ ชื่อ เจ.ดับบลิว. ยาค็อบ

ทำให้เกิดงานประพันธ์ชิ้นแรกในนาม ยาขอบ ชื่อ จดหมายเจ้าแก้ว 2474 โชติ แพร่พันธุ์ ได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สุริยารายวัน และเริ่มเขียนนิยายเรื่อง ยอดขุนพล แต่หนังสือพิมพ์สุริยามีอายุไม่ยืน เมื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ ไปทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ในปี 2475 โชติจึงเขียนเรื่อง ยอดขุนพล ต่อ โดยมาลัย ชูพินิจ เปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น ผู้ชนะสิบทิศ โดยผู้ชนะสิบทิศเขียนมาจากพงศาวดารที่โชติมีโอกาสได้อ่านเพียง 8 บรรทัดเท่านั้น แต่ความเป็นอัจฉริยะทางวรรณกรรมกลับถ่ายทอดได้อย่างหลากอรรถรส มากถึง 8 เล่ม

มีบุตรชายคนเดียวคือ นายมานะ แพร่พันธุ์ (นักเขียน, นักหนังสือพิมพ์ผู้ทรงคุณวุฒิของเมืองไทย)

โชติ แพร่พันธุ์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2499 ขณะอายุ 48 ปี ด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง และเบาหวาน

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button