วันนี้ในอดีต

1 มิถุนายน วันเกิด โกมล คีมทอง ครูผู้เสียสละ

1 มิถุนายน 2489 วันเกิด โกมล คีมทอง บัณฑิตหนุ่มผู้เสียสละตนเองไปเป็นครูในถิ่นทุรกันดาร

โกมล คีมทอง

โกมลคือชื่อของคนหนุ่มแห่งลุ่มน้ำลพบุรี ตามทะเบียนนิสิตของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มีหลักฐานเป็นลายมือของโกมลเองว่า เขาเกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2489 ที่จังหวัดสุโขทัย เป็นบุตรของนายชวน คีมทอง กับนางทองคำ คีมทอง ซึ่งปัจจุบัน (ปี 2539) เสียชีวิตแล้ว

โกมลมีพี่น้องท้องเดียวกันทั้งหมด 5 คน เป็นชายทั้งสิ้น คนโตชื่อโอภาส สิ้นชีวิตเมื่อมีอายุได้ 3 เดือน คนที่สองคือโกมล คนที่สามชื่อด้วง สิ้นชีวิตเมื่ออายุได้ 1 ขวบ คนที่สี่สิ้นชีวิตเสียแต่เมื่อยังไม่ได้ตั้งชื่อ คนที่ห้าชื่อนิพนธ์ ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ และบวชเป็นพระ (ปี 2540) สมัยเด็กอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ต่อมาลุงกับป้าขอตัวไปเลี้ยงเพราะไม่มีลูก

เด็กชายโกมลใช้ชีวิตวัยเด็กและได้รับการศึกษาขั้นต้นจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านกล้วย อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี และมาต่อที่โรงเรียนบ้านหมี่วิทยาจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สอบไล่ได้ 87 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นได้มาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

โดยอาศัยอยู่กับบ้านญาติ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่สาว ในเขตบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี จนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แผนกศิลปะ เมื่อปี 2509 สอบไล่ได้ 72.70 เปอร์เซ็นต์ และในสมัยนุ่งกางเกงขาสั้นนั้น เขาเคยทำกิจกรรมด้านหนังสือมาบ้าง เนื่องจากเรียนมาทางสายศิลปะ และมีแววทางด้านการขีดเขียน ส่วนกิจกรรมด้านอื่น ๆ ไม่ปรากฏหลักฐานให้เห็น

ครูผู้เสียสละ

ในสมัยนั้น ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร ในรั้วมหาวิทยาลัยจึงมีแต่กิจกรรมเชียร์กีฬา การจัดงานเต้นรำ แต่นิสิตโกมลกลับเลือกไปออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทตั้งแต่อยู่ปี 2 ทำให้เขาได้เห็นความเป็นจริงในสังคม พอขึ้นปี 3 เขาทำกิจกรรมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ “ค่ายพัฒนาการศึกษา” โดยไปให้การศึกษาเด็ก ๆ ในโรงเรียน ซึ่งนับเป็นค่ายแบบใหม่ของสโมสรนิสิตจุฬาฯ

โดยมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษามากกว่าเรื่องการสงเคราะห์ หรือการก่อสร้างถาวรวัตถุให้แก่ชาวบ้าน ปี 4 เขาทำกิจกรรมออกค่ายน้อยลง หันไปทำกิจกรรมเสวนาทางความคิด และทำหนังสือมหาวิทยาลัย พร้อมกับเริ่มฝึกสอน ครูโกมลเรียนจบในปี 2512 ปีต่อมา ผู้จัดการเหมืองห้วยในเขา ที่ ต. บ้านส้อง กิ่ง อ. เวียงสระ จ. สุราษฎร์ธานี ได้อ่านบทความของครูโกมลในหนังสือ วิทยาสารปริทัศน์ ซึ่งมี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการ

จึงได้ชักชวนให้ครูโกมลเข้ามาจัดค่ายที่เหมือง จากนั้นครูโกมลก็ตัดสินใจยอมทิ้งความก้าวหน้าที่รออยู่ในเมือง อุทิศตนให้แก่อาชีพครูโดยเข้าไปบุกเบิกตั้งโรงเรียนสอนหนังสือที่ โรงเรียนเหมืองห้วยในเขา ที่ ต. บ้านส้อง กิ่ง อ. เวียงสระ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพื้นที่อันตราย เพราะอยู่ในเขตปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งครูโกมลก็รู้ดี เพียงแต่คิดว่าตนเองอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่คิดว่าตนจะเป็นพิษภัยแก่ผู้ใด แต่สายของพรรคคอมมิวนิสต์สงสัยว่าครูโกมลเป็นสายลับปลอมตัวมาสืบราชการลับให้กองทัพบก

จึงดักยิงครูโกมลและเพื่อนครูกับคนนำทางเสียชีวิต เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2514 ขณะอายุเพียง 25 ปี และดำเนินชีวิตครูตามปณิธานที่ตั้งไว้ได้ไม่ถึง 10 เดือน ภายหลังพรรคคอมมิวนิสต์ได้ออกมายอมรับว่าเป็นผู้สังหารครูโกมลด้วยความเข้าใจผิด ศพของครูโกมลถูส่งมาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 26 กุมภาพันธ์

ก่อนจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 2 มีนาคม อาจารย์สุลักษณ์เขียนไว้ในคำนำหนังสือที่ระลึกในงานศพครูโกมลว่า “สิ่งซึ่งโกมลก่อไว้ จักไปจุดไฟในดวงใจของคนอื่น ๆ ให้ลุกโพลงเป็นอุดมการณ์ตามเยี่ยงอย่างเขาได้” ครูโกมลได้กลายเป็น “อิฐก้อนแรก” ที่ยอมเสียสละตนเองจมหายลงไปให้อิฐก้อนอื่น ๆ ทับถมลงมาเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น หลังจากโกมลเสียชีวิตในปีเดียวกัน ได้มีการจัดตั้ง มูลนิธิโกมลคีมทอง ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์และเพื่อสานต่ออุดมคติของครูโกมลให้แพร่หลายเป็นจริงในสังคมต่อไป

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button