วันนี้ในอดีต

3 มิถุนายน ร.9 ทรงเปิด เขื่อนจุฬาภรณ์

3 มิถุนายน 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมรากุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ วลัยลักษณ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด เขื่อนจุฬาภรณ์ เดิมชื่อว่า เขื่อนน้ำพรม

เขื่อนจุฬาภรณ์

เขื่อนจุฬาภรณ์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก สร้างปิดกั้นลำน้ำพรมบนเทือกเขาขุนพาย บริเวณภูหยวกที่ ต. ทุ่งพระ อ. คอนสาร จ. ชัยภูมิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและเริ่มก่อสร้างในปี 2512 แล้วเสร็จในปี 2515 ลักษณะเขื่อนเป็นแบบหินถม แกนกลางเป็นดินเหนียวบดอัดทับแน่นด้วยกรวดและหิน มีความยาวสันเขื่อน 700 เมตร กว้าง 8 เมตร ฐานกว้าง 250 เมตร ความสูงจากฐานราก 70 เมตร

ความจุของอ่างเก็บน้ำ 188 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 165 ล้านลูกบาศก์เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 20,000 กิโลวัตต์จำนวน 2 ชุด สามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 95 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง บริเวณที่ตั้งของเขื่อนมีทิวทัศน์สวยงาม จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ ในการสร้างเขื่อนแห่งนี้ได้มีการทำลายพื้นที่ป่าไปมากกว่าผืนป่าที่ถูกน้ำท่วมกลายเป็นอ่างเก็บน้ำถึง 20 เท่า

อีกทั้งน้ำจากลำน้ำพรมที่เคยมีเพียงพอและหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในเขต อ. เกษตร-สมบูรณ์, อ. ภูเขียว, อ. บ้านแท่น ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากปริมาณน้ำพรมที่เคยมีใช้อย่างเพียงพอได้ลดลง เกือบตลอดปีลำน้ำพรมก็จะแห้งขอด ส่งผลให้พันธุ์สัตว์น้ำสูญหาย และวิถีชีวิตของคนตลอดลำน้ำพรมเปลี่ยนไป ตลอดเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา

เกษตรกรผู้เดือดร้อนต้องเดินทางไปเขื่อนจุฬาภรณ์เพื่อขอให้เขื่อนปล่อยน้ำมาให้เพียงพอกับการทำการเกษตรอย่างน้อยปีละ 3 – 4 ครั้งจนเกิดเป็น “ประเพณีการตามน้ำของคนน้ำพรม” กลุ่มเกษตรกรลุ่มน้ำพรมได้รวมตัวเป็น “คณะกรรมการชาวบ้านแก้ไขปัญหาลำน้ำพรม” (คกพ.) และยืนยันข้อเรียกร้องในการแก้ปัญหาลำน้ำพรมต่อนายสาวิตต์ โพธิวิหค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2542 เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาลำน้ำพรมอย่างจริงจัง แต่จนถึงปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button