วันนี้ในอดีต

8 มิถุนายน วันเกิด โรเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ ชูมันน์ คีตกวีชาวเยอรมัน

8 มิถุนายน 2353 วันเกิด โรเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ ชูมันน์ (Robert Alexander Schumann) คีตกวียุคโรแมนติกชาวเยอรมัน

โรเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ ชูมันน์

โรแบร์ท อเล็คซันเดอร์ ชูมัน (Robert Alexander Schumann) เป็นคีตกวีและนักวิจารณ์ดนตรีชาวเยอรมัน เกิดวันที่ 8 มิถุนายน 2353 ที่เมืองซวิคเคา เสียชีวิต 29 กรกฎาคม 2399 ที่เมืองเอ็นเดอนิช (Endenich) ซึ่งปัจจุบันนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองบ็อน ประเทศเยอรมนี

ในวัยเด็ก โรแบร์ท ชูมัน มีความสนใจในศิลปะสองแขนง นั่นคือเปียโนกับวรรณคดี (บิดาของเขาเป็นนักประพันธ์และบรรณาธิการ) ดังนั้นในวัยเด็กเขาจึงแต่งทั้งเพลงและหนังสือ รวมถึงบทกวีด้วย เมื่อบิดาที่เขารักเสียชีวิตลง เขาจึงสูญเสียผู้ให้การสนับสนุนที่จะทำให้เขาเป็นนักดนตรีอาชีพ

มารดาของเขาผลักดันให้เขาเรียนกฎหมาย ระหว่างเรียนกฎหมายที่เมืองไลพ์ซิช เขาก็ได้เรียนเปียโนกับฟรีดริช วีค (Friedrich Wieck) ผู้ที่ภายหลังเป็นพ่อตาของเขา เมื่อเขาแต่งงานกับบุตรสาวของวีค ชื่อคลารา เขายอมทำทุกวิถีทางเพื่อยอมเป็นนักดนตรีเอก ทั้งการฝึกฝนด้วยความขยันขันแข็ง และได้ใช้เครื่องกลช่วยเพิ่มความเร็วให้กับการเคลื่อนไหวของนิ้ว จนทำให้นิ้วกลางมือขวาใช้การไม่ได้ ความฝันที่จะกลายเป็นนักเปียโนเอกต้องสิ้นสุดลงเมื่อเขามีอายุได้เพียง 22 ปีเท่านั้น

หลังจากช่วงเวลาที่เขาต้องซึมเศร้ากับความพิการและการตกหลุมรักสตรีที่แต่งงานแล้ว ในปี 2377 (ค.ศ. 1834) ชูมันได้หันมาสนใจและใส่ใจกับการประพันธ์เพลงและการเขียนบทความใน “น็อยเออไซท์ชริฟท์เฟือร์มูซีค” (Neue Zeitschrift für Musik) (นิตยสารใหม่เพื่อการดนตรี) ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่เป็นนักวิจารณ์และผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี เขาปกป้องแนวคิดด้านดนตรีที่เป็นดนตรีแท้จริงจากแนวคิดของพวกนายทุน (ภาษาเยอรมันเรียกว่า “Philister”) ในช่วงเวลานี้เองที่เขาได้ประพันธ์ผลงานอย่าง “คาร์นาวัล โอปุส 9” (Carnaval op.9)

ในปี 2378 (ค.ศ. 1835) หลังจากถูกบังคับให้แยกทางกับคลารา เขาได้ประพันธ์บทเพลง “โซนาตาแห่งความรัก” ให้แก่เธอ แต่คำขอแต่งงานของเขาถูกพ่อของคลาราปฏิเสธ ทำให้เขาตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าอีกครั้ง เขายังคงประพันธ์ผลงานต่อไปและเป็นงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ เพลงที่โด่งดังได้แก่ เซนด็องฟ็อง, ฟ็องแตซี, โนเวลเล็ต เกิดขึ้นมาในช่วงนี้เอง เขาได้หนีไปที่รักษาแผลใจที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และประพันธ์เพลงต่าง ๆ ระหว่างที่รอขอแต่งงานกับคลารา

ปี 2383 (ค.ศ. 1840) เป็นปีนำโชคของชูมัน เขาได้แต่งงานกับคลาราในที่สุด ความสุขนี้ได้ถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลงของเขา เขาได้ประพันธ์เพลงมากมายจากบทกวีของโยฮันน์ วอล์ฟกัง ฟอน เกอเทอ ชิลเลอร์ หรือไฮน์ เช่นเพลง Liederkreis ความรักของนักกวี และ ความรักและชีวิตของหญิงคนหนึ่ง ในปีต่อมา เขาได้ลองแต่งเพลงสำหรับวงดุริยางค์ (ซิมโฟนีหมายเลข 1 ซิมโฟนีหมายเลข 4 ฯลฯ) ในปี 2385 (ค.ศ. 1842) เขาได้หันมาโปรดปราน เชมเบอร์มิวสิก โดยเขาประพันธ์ไว้หลายชิ้น ในปีถัดมาเขาได้แต่ง โอราโตริโอ (“oratorio”) Le Paradis et la Péri และได้ติดตามคลารา ภรรยาที่อ่อนโยนและแสนดีของเขา ผู้ซึ่งเป็นนักเปียโนฝีมือฉกาจ ออกเปิดการแสดงที่ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายทั่วทวีปยุโรป หรือแม้กระทั่งในประเทศรัสเซีย

ในปี 2387 (ค.ศ. 1844) คู่รักได้ตั้งถิ่นฐานที่เมืองเดรสเดิน ที่ซึ่งเขาได้ประพันธ์อุปรากรชิ้นแรกและชิ้นเดียว ชื่อ เจโนเววา แต่เขาก็ยังคงแต่งฟิวก์ ซิมโฟนี เพลงสำหรับเปียโน ควอร์เต็ต ฯลฯ ไปด้วย ตั้งแต่ปี 2393 (ค.ศ. 1850) เขาได้เป็นวาทยกรแห่งเมืองดึสเซิลดอร์ฟ แต่เมื่อถึงปี 2396 (ค.ศ. 1853) สภาพร่างกายของเขาเสื่อมโทรมลงเป็นอันมาก และความเจ็บปวดจากโรคซิฟิลิส ทำให้เขาพยายามฆ่าตัวตายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2397 (ค.ศ. 1854) ด้วยการกระโดดแม่น้ำไรน์ที่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็ง ถึงเขาจะโชคดีรอดมาได้ด้วยความช่วยเหลือจากพวกกะลาสี แต่ก็ต้องก็ต้องทนทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ จากนั้นเขาก็ถูกส่งตัวไปพักฟื้นที่เมืองเอ็นเดอนิช

ไม่มีสิ่งใดสามารถทำให้เขาคลายความทุกข์ลงได้ เขาเสียสติไปแล้ว เนื่องด้วยคิดถึงคลาราสุดที่รัก และเพื่อนรักเฟลิคส์ เม็นเดิลส์โซน และนักดนตรีรุ่นน้อง โยฮันเนิส บรามส์ ที่เขาได้พบเมื่อสองปีที่แล้ว ในขณะที่เขามีสภาพกึ่งดีกึ่งร้าย ก็ได้ประพันธ์ (บทเพลงแห่งรุ่งอรุณ) ชูมันจบชีวิตลงเมื่อวันที่29 กรกฎาคม 2399 (ค.ศ. 1856) ซึ่งทำให้เขาพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ในที่สุด

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button