วันนี้ในอดีต

13 มิถุนายน พุ่มพวง ดวงจันทร์ เสียชีวิต

13 มิถุนายน 2535 พุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีเพลงลูกทุ่ง เสียชีวิต ชื่อเดิมคือ รำพึง จิตรหาญ มีชิ่อเล่นว่า ผึ้ง

พุ่มพวง ดวงจันทร์

พุ่มพวง ดวงจันทร์ 4 สิงหาคม 2504 – 13 มิถุนายน 2535 ชื่อเล่น ผึ้ง มีชื่อจริงเมื่อเกิดว่า รำพึง จิตรหาญ เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่ง เจ้าของฉายา “ราชินีลูกทุ่ง” ได้ชื่อว่ามีน้ำเสียงออดอ้อน หวาน จำเนื้อร้องได้แม่นทั้งที่ไม่รู้หนังสือ และเป็นแม่แบบให้แก่นักร้องรุ่นหลัง

เธอเกิดที่จังหวัดชัยนาท แต่โตที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายสำราญ และนางเล็ก จิตรหาญ ครอบครัวมีอาชีพทำไร่อ้อย และมีฐานะที่ยากจน เธอเป็นบุตรคนที่ 5 จากพี่น้องทั้งหมด 12 คน เธอชื่นชอบการร้องเพลงลูกทุ่งตั้งแต่เด็ก เคยเดินสายประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ใช้ชื่อว่า น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย เมื่ออายุได้ 15 ปี

บิดาของเธอฝากให้เธอนั้นเป็นบุตรบุญธรรมของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ซึ่งแต่งเพลงและอัดแผ่นเสียงชุดแรกให้ ชื่อเพลง แก้วรอพี่ โดยขณะนั้นเธอใช้ชื่อในการร้องเพลงว่า น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ ต่อมามนต์ เมืองเหนือ ได้ตั้งชื่อในวงการบันเทิงให้เธอใหม่ว่า พุ่มพวง ดวงจันทร์

พุ่มพวง ดวงจันทร์ เริ่มมีชื่อเสียงมากที่สุดในช่วงปี 2525 โดยมีผลงานเพลงดังเช่น อาทิ สาวนาสั่งแฟน, นัดพบหน้าอำเภอ, อื้อฮือหล่อจัง, กระแซะเข้ามาซิ, ดาวเรืองดาวโรย, คนดังลืมหลังควาย, บทเรียนราคาแพง ฯลฯ เป็นต้น ส่วนมากมาจากการประพันธ์ของวิเชียร คำเจริญ

ต่อมาในปี 2532 เธอได้ย้ายมาเป็นศิลปินสังกัดท็อปไลน์ ไดมอนด์ เธอเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในปี 2526 จากการแสดงภาพยนตร์เรื่อง สงครามเพลง ซึ่งกำกับโดยฉลอง ภักดีวิจิตร โดยแสดงคู่กับยอดรัก สลักใจ และเธอยังแสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง ส่วนมากเธอมักรับบทเป็นนางเอก อาทิ รอยไม้เรียว, ผ่าโลกบันเทิง, นักร้อง นักเลง เป็นต้น

เธอเคยคบหาดูใจกับธีรพล แสนสุข ซึ่งเป็นนักแซกโซโฟนของวงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ แต่เมื่อเธอเรื่มทำงานในวงการอย่างเต็มที่ ธีรพลจึงปันใจให้กับสลักจิต ดวจันทร์ ซึ่งเป็นน้องสาวของเธอ ต่อมาในปี 2527 เธอสมรสกับไกรสร ลีละเมฆินทร์ นักแสดงภาพยนตร์ โดยเธอมีบุตรกับไกรสร 1 คน คือ ภัควรรธน์ ลีละเมฆินทร์​

พุ่มพวง ดวงจันทร์ หายหน้าไปจากวงการในช่วงปี 2534 เนื่องจากเธอป่วยด้วยโรคเอสแอลอี และได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2535 รวมอายุได้ 30 ปี

โดยมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 25 กรกฎาคม 2535 ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ในขณะนั้นยังทรงพระยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ

แม้เธอจะเสียชีวิตไปแล้วแต่ผลงานของเธอก็ยังมีการวางจำหน่าย และยังมีศิลปินนักร้องลูกทุ่งอีกหลายรายได้นำผลงานเพลงของเธอมาขับร้องใหม่ เช่น พุ่มพวง ในดวงใจ ชุดที่ 1 – 4 โดย ใหม่ เจริญปุระ , อัลบั้ม เพชร สรภพ – เพลงของแม่ ชุดที่ 1 โดย ภัควรรธน์ ลีละเมฆินทร์ และอัลบั้ม ดวงจันทร์ .. กลางดวงใจ พุ่มพวง ดวงจันทร์

ต่อมาในปี 2541 ได้มีการจัดทำละครโทรทัศน์เรื่อง ราชินีลูกทุ่งพุ่มพวง ดวงจันทร์ ออกอากาศทาง ช่อง 7 ซึ่งเค้าโครงเรื่องมาจากชีวประวัติของเธอ นำแสดงโดย รชนีกร พันธุ์มณี วรวุฒิ นิยมทรัพย์ ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ และในปี 2554 มีการสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่อง พุ่มพวง กำกับโดยบัณฑิต ทองดี ซึ่งผู้ที่รับบทเป็นเธอคือเปาวลี พรพิมล

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button