วันนี้ในอดีต

27 มิถุนายน วันสถาปนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

27 มิถุนายน 2477 วันสถาปนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) (Thammasat University : TU)

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชื่อเมื่อเริ่มก่อตั้งคือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ซึ่งเกิดจากความคิดริเริ่มของ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ (รัฐมนตรีว่าการ กระทรวง มหาดไทย ในขณะนั้น) โดยเล็งเห็นว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในขณะนั้นยังไม่เพียงพอ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จึงต้องการบุคคลที่มีความรู้ทางกฎหมาย การปกครอง และสังคม

มารับใช้ประเทศชาติโดยด่วน จึงได้เสนอร่าง “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งเป็น “ผู้ประศาสน์การ” คนแรกของมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายที่จะให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร เป็น “ตลาดวิชา” หรือ “มหาวิทยาลัยเปิด” แห่งแรกของประเทศไทย ในปีแรกมีผู้สมัครเข้าศึกษาถึง 7,094 คน ในช่วงเริ่มต้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งอยู่ที่โรงเรียนกฎหมายเดิม

เชิงสะพานผ่านฟ้าภิภพลีลา ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2478 มหาวิทยาลัยขอซื้อที่ดินบริเวณท่าพระจันทร์เพิ่มเติมและย้ายมาอยู่ที่นี่ ภายหลังจากคณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ชื่อมหาวิทยาลัยถูกตัดคำว่า “การเมือง” ออก เปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” และความเป็นตลาดวิชาหมดไป จากนั้นในปี 2518 สมัย ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี ได้ขยายการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น และซื้อที่ดินเพิ่มเติมที่รังสิต นอกจากนี้ ยังขยายไปที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ด้วย

โดยอยู่บนพื้นฐานการปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ ดั่งเช่น “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์” ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดสอนกว่า 20 คณะ สีประจำมหาวิทยาลัยคือ เหลืองแดง หมายถึงศาสนาและชาติ ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยคือ ต้นหางนกยูง ปรัชญาของมหาวิทยาลัยคือ “…มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา…” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแหล่งผลิตบัณฑิต ปัญญาชน นักวิชาการ ที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย และเป็นสถาบันการศึกษาที่ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนในเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของบ้านเมืองมาโดยตลอด ทั้ง เหตุการณ์ “14 ตุลา 16” และ “6 ตุลา 19”

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button