วันนี้ในอดีต

27 มิถุนายน คณะราษฎร ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวพุทธศักราช 2475

27 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งกฎหมายสูงสุดในการปกครองรัฐ หลังจากคณะราษฎรทำการอภิวัติน์การปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (Constitution) ฉบับนี้

ซึ่งนับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ร่างโดย นายปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎร โดยมีเจตนารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อให้ประเทศนี้เป็นของ “ประชาชน” อย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดเด่นที่ได้ระบุคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรว่า จะต้องมีอายุ 20 ปี และจะต้องสอบไล่วิชาการเมืองได้ตามหลักสูตรซึ่งสภาได้ตั้งขึ้นไว้ (ต่อมาได้มีการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมารองรับ) และที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้เพศชายและหญิงมีสิทธิเท่ากันในการออกเสียงเลือกตั้ง ทั้งที่ในสมัยนั้น บางประเทศในยุโรป ผู้หญิงยังไม่มีสิทธิ์ทางการเมืองด้วยซ้ำ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะไม่กี่มาตรา แต่ก็นับเป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศภายหลังทั้งสิ้น “รัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” จึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศนี้ หาใช่ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475” ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 อย่างที่คนส่วนมากเข้าใจไม่ ถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2550)

ประเทศไทยอยู่ในระบอบประชาธิปไตยมาแล้ว 75 ปี แต่เราเขียนและฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้วถึง 17 ฉบับ ล่าสุด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ฉบับที่ 18) กำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการร่าง ในขณะที่ประเทศต้นกำเนิดประชาธิปไตยอย่าง อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับถึงวันนี้ รัฐธรรมนูญของเขามีอายุ 792 ปี [นับที่ กฎบัตรแมกนาคาร์ตา (Magna Carta)] และ 220 ปี ตามลำดับ แต่ทั้งสองประเทศนี้กลับใช้รัฐธรรมนูญเพียงแค่ฉบับเดียว แต่อาจมีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมัย เพราะประชาชน นักการเมือง และทหารของเขาต่างเคารพกฎหมายและรู้หน้าที่ของตน

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button