วันนี้ในอดีต

1 กรกฎาคม นอสตราดามุส ราชาโหรโลก เสียชีวิต

1 กรกฎาคม 2109 นอสตราดามุส (Nostradamus) แพทย์และนักพยากรณ์ชาวฝรั่งเศส ผู้ได้รับการขนานนามให้เป็น “ราชาโหรโลก” เสียชีวิต

นอสตราดามุส

นอสตราเดมัส ไทยมักเรียก นอสตราดามุส (Nostradamus) ชื่อจริงว่า มีแชล เดอ นอสทร์ดาม (Michel de Nostredame) เกิด 14 หรือ 21 ธันวาคม 1503 ตาย 2 กรกฎาคม 1566 เป็นชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นเภสัชกร (apothecary) และหมอดูที่มีชื่อเสียง เพราะเผยแพร่ชุดคำทำนายซึ่งเลื่องชื่อที่สุดในโลกหลายชุด

โดยเฉพาะ เลพรอเฟซี (Les Propheties) ที่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1555 เมื่อเผยแพร่หนังสือชุดดังกล่าวแล้ว นอสตราเดมัสก็ได้รับความสนใจจากสำนักพิมพ์ใหญ่หลายแห่ง พร้อมกิตติศัพท์ว่า สามารถทำนายทายทักเหตุการณ์สำคัญหลายเรื่องในโลก

แหล่งข้อมูลทางวิชาการส่วนใหญ่ถือกันว่า การอ้างว่า เหตุการณ์ในโลกสัมพันธ์กับโคลงทำนายของนอสตราเดมัสนั้น เป็นผลมาจากการตีความหรือแปลความที่ผิดพลาด ซึ่งบางครั้งปรากฏว่า ตั้งใจให้ผิดพลาด มิฉะนั้น ก็เป็นเรื่องมโนสาเร่ถึงขนาดที่ไม่อาจถือเอาโคลงเหล่านั้นเป็นพยานหลักฐานว่า นอสตราเดมัสมีอำนาจพยากรณ์อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์จำนวนหนึ่งก็ประสบความสำเร็จในการตีความอย่างเสรีโดยใช้วิธี “พลิกแพลง” ถ้อยคำในโคลงเพื่อระบุเหตุการณ์อันเห็นได้ชัดว่า ใกล้จะมาถึงอยู่แล้ว เช่น ในปี 1867 หลุยส์-มีแชล เลอ เปอเลอตีเย (Louis-Michel le Peletier) ใช้กลวิธีดังกล่าวทำนายล่วงหน้า 3 ปีว่าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 จะทรงมีชัยหรือปราชัยในสงครามฝรั่งเศส–ปรัสเซีย แม้เลอ เปอเลอตีเย จะยอมรับว่า ตนไม่สามารถบอกได้จริงว่า จะทรงมีชัยหรือปราชัย และเหตุการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตาม

นอสตราดามุสทำนาย

นอสตราเดมัสกลับไปเยือนอิตาลีอีกครั้ง ครั้งนี้ เขาเบนเข็มจากสมุนไพรเป็นเรื่องคุณไสย พอได้รับทราบกระแสนิยมหลายกระแสแล้ว เขาก็เขียนกาลานุกรม (almanac) สำหรับปี 1550 ขึ้นเผยแพร่ โดยใช้ชื่อสกุลตนเองเป็นภาษาละตินว่า “Nostradamus” เป็นครั้งแรก กาลานุกรมของเขามียอดขายดีมาก ทำให้เขาเขียนกาลานุกรมอีกหลายฉบับอย่างน้อยปีละเล่ม ส่วนใหญ่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ของแต่ละปี แต่บางปีก็เริ่มแต่วันที่ 1 มีนาคม เมื่อรวมกาลานุกรมทั้งหมดแล้ว เป็นคำพยากรณ์จำนวน 6,338 บท และปฏิทินอย่างน้อย 11 ปี

ความที่กาลานุกรมประสบความสำเร็จอย่างมากนี้เอง นอสตราเดมัสจึงเริ่มมีชื่อเสียง และบุคคลสำคัญมากหน้าหลายตาก็เริ่มแห่กันมาร้องขอให้เขาทำนายโชคชะตาราศีให้ รวมถึงขอให้เขาใช้ “ญาณทิพย์” มอบคำปรึกษาให้ นอสตราเดมัสมักให้ “ลูกค้า” ส่งมอบวันเดือนปีเกิดที่เขียนลงบนตารางให้สำหรับใช้ทายทัก

มากกว่าจะคำนวณตัวเลขเหล่านั้นด้วยตนเหมือนดังที่นักโหราศาสตร์มืออาชีพพึงทำ และเมื่อจำเป็นต้องคำนวณดังกล่าวตามตารางวันเดือนปีที่เผยแพร่กันอยู่แล้ว ก็ปรากฏว่า เขามักคำนวณพลาด ทั้งยังไม่สามารถกำหนดเลขชะตาให้ตรงกับวันเดือนปีหรือสถานที่เกิดของลูกค้าได้ ฉะนั้น เมื่อนอสตราเดมัสเขียนโคลง 4 พยากรณ์จำนวน 1,000 บท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาฝรั่งเศส จึงไม่ลงวันเวลากำกับไว้อีก โคลงเหล่านี้ทำให้เขามีชื่อเสียงมากมาจนบัดนี้

ในการเขียนโคลงดังกล่าว เขาเกรงว่า จะถูกต่อต้านด้วยเหตุผลทางศาสนา เขาจึงเขียนให้เนื้อความเคลือบคลุมเข้าไว้ โดยใช้กลวิธีทางวากยสัมพันธ์แบบเวอร์จิล (Virgil) ทั้งยังเล่นคำ และแทรกภาษาอื่น เช่น ภาษากรีก ภาษาอิตาลี ภาษาละติน และภาษาถิ่นพรอว็องส์

โคลง 4 ข้างต้นได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ เลพรอเฟซี แปลว่า คำทำนาย เมื่อเผยแพร่แล้วมีเสียงตอบรับในทางบวกบ้างลบบ้างคละกันไป ชาวบ้านเชื่อว่า นอสตราเดมัสเป็นทาสมาร

เป็นนักพรตต้มตุ๋น หรือเป็นบ้า แต่พวกผู้ลากมากดีไม่คิดเช่นนั้น แคทเธอรีน เดอ เมดีชี (Catherine de’ Medici) มเหสีพระเจ้าอ็องรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศส เป็น 1 ในบรรดาผู้เลื่อมใสนอสตราเดมัสอย่างเหนียวแน่นที่สุด นางได้อ่านกาลานุกรมสำหรับปี 1555

ซึ่งแย้มเปรยถึงภัยอันจะมีต่อวงศ์ตระกูลนางแล้ว ก็มีเสาวนีย์เบิกตัวเขามาที่กรุงปารีสเพื่อให้อธิบายภัยดังกล่าว และให้ทำนายดวงชะตาของบุตรนาง เมื่อเสร็จการแล้ว นอสตราเดมัสหวั่นเกรงอย่างยิ่งว่า ศีรษะจะหลุดจากบ่าเพราะคำทำนายที่ให้ไป แต่กลับได้รับแต่งตั้งเป็นปุโรหิต (Counselor) และหมอหลวง (Physician-in-Ordinary) ประจำพระเจ้าชาร์ลที่ 9 (Charles IX) บุตรผู้เยาว์ของแคทเธอรีน เขาดำรงตำแหน่งนี้จนเขาตายในปี 1566

อนึ่ง มีเรื่องร่ำลือเกี่ยวกับชีวิตของนอสตราเดมัสว่า เขากลัวอยู่เสมอว่า ชีวิตจะไม่เป็นสุข เพราะจะถูกศาลพระ (Inquisition) จับไปลงโทษฐานเผยแพร่ความเชื่อนอกรีต แต่ผลงานของเขาทั้งที่เป็นคำพยากรณ์และงานเขียนด้านโหราศาสตร์ก็ไม่เคยถูกเพ่งเล็ง และอันที่จริงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพระศาสนจักรนั้นอยู่ในขั้นดีมากมาตลอด แม้เขาจะถูกจำคุกที่เมืองมารีญาน (Marignane) เมื่อปลายปี 1561 ก็เพียงเพราะเผยแพร่กาลานุกรมสำหรับปี 1562 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากมุขนายกก่อนตามความในพระราชกฤษฎีกาที่ใช้อยู่ในเวลานั้น

นอสตราดามุสตาย

นอสตราเดมัสได้รับความทรมานจากโรคเกาต์มาหลายปี ในบั้นปลายชีวิตเริ่มเคลื่อนไหวลำบาก จนโรคนั้นลุกลามกลายเป็นอาการบวมน้ำหรือท้องมานไป ปลายเดือนมิถุนายน 1566 เขาจึงเรียกทนายความประจำตัวมาเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดซึ่งมีมูลค่ากว่า 3,444 คราวน์ (ราว 300,000 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน) พร้อมหนี้สินพ่วงมาด้วยเล็กน้อย ให้แก่ภริยาเขาระหว่างที่ยังมิได้สมรสใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนรอนเลี้ยงบุตรหญิงบุตรชายต่อไป ครั้นบ่ายวันที่ 1 กรกฎาคม 1566 ร่ำลือกันว่า เขาบอกฌ็อง เดอ ชาวีญี (Jean de Chavigny) เลขานุการส่วนตัวของเขา ว่า “พออาทิตย์ขึ้นแล้ว เจ้าจะไม่เห็นข้ามีชีวิตอีก” วันรุ่งขึ้น มีรายงานว่า เขาถูกพบเป็นศพนอนอยู่บนพื้นถัดจากเตียงและตั่งของเขา

ศพของเขาฝังไว้ที่โบสถ์คณะฟรันซิสกันในเมืองซาลง (Salon) ซึ่งบัดนี้บางส่วนกลายเป็นภัตตาคารชื่อ ลาโบรเชอรี (La Brocherie) แล้ว แต่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส มีการขุดศพเขาขึ้นไปฝังที่ป่าช้าโบสถ์แซ็ง-ลอแร็ง (Saint-Laurent) แทน ศพของเขาอยู่ที่นั้นมาตราบทุกวันนี้

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button