6 สิงหาคม เกรียงไกร เตชะโม่ง ขโมย เพชรซาอุ

6 สิงหาคม 2532 เกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทยชาวลำปางที่ทำงานอยู่ในพระราชวังของ กษัตริย์ไฟซาล (King Faisal) แห่งซาอุดิอารเบีย ขโมยเพชรซาอุของ เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด (Prince Faisal Bin Fahd Bin Abdul Aziz) มูลค่าหลายร้อยล้านบาท
เพชรซาอุ
คดีขโมยเครื่องเพชรราชวงศ์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบีย เมื่อปี 2532 หรือที่รู้จักกันว่า คดีเพชรซาอุ เป็นคดีการขโมยเครื่องเพชรของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย โดยลูกจ้างชาวไทย ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียและไทยเสื่อมลงจนถึงปัจจุบัน
คดีดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากการที่นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ซึ่งเป็นแรงงานไทยที่ได้เดินทางไปทำงานยังประเทศซาอุดิอาระเบีย และถูกจัดให้เข้าไปทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดภายในพระราชวังของกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532 นายเกรียงไกรเมื่อเข้าไปทำงานในพระราชวังจึงได้เห็นช่องทางในการขโมยเครื่องเพชรดังกล่าว เพราะเครื่องเพชรเหล่านั้นมีจำนวนมากและถูกวางไว้อย่างไม่เป็นที่เป็นทาง แม้แต่ตู้เซฟก็ยังถูกเปิดทิ้งเอาไว้
นายเกรียงไกรอาศัยช่วงเวลาที่เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด บิน อับดุล อซิซ (Prince Faisal Bin Fahud Bin Abdul Aziz) แปรพระราชฐานไปพักผ่อนในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในเดือนธันวาคม 2532 ทำการขโมยเครื่องเพชร โดยแอบนำถุงกระสอบขนาดใหญ่เข้าไปในพระราชวัง ซ่อนตัวอยู่ภายในพระราชวังจนถึงเวลากลางคืน แล้วจึงทำการขโมยเครื่องเพชรใส่ถุงกระสอบแล้วโยนถุงกระสอบลงมาออกนอกกำแพงพระราชวัง
เมื่อได้เครื่องเพชรมาแล้ว นายเกรียงไกรใช้วิธีส่งเครื่องเพชรกลับมายังประเทศไทยล่วงหน้า ด้วยบริการขนส่งพัสดุทางอากาศ โดยปะปนกับเสื้อผ้าและเครื่องใช้ส่วนตัว ซึ่งด่านศุลกากรของทั้งสองประเทศไม่สามารถตรวจพบ เมื่อทำการโจรกรรมเรียบร้อยแล้ว เกรียงไกรได้เดินทางกลับประเทศไทยทันที ก่อนที่เจ้าชายไฟซาลจะเสด็จกลับมายังพระราชวัง ทั้งที่เหลือเวลาทำงานตามสัญญาอีก 2 เดือน
โดยเครื่องเพชรดังกล่าวถูกนำมายังจังหวัดลำปาง หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ประสานมายังรัฐบาลไทย ขอให้ติดตามเครื่องเพชรประจำราชวงศ์ส่งคืน