วันนี้ในอดีต

9 สิงหาคม ริชาร์ด นิกสัน ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

9 สิงหาคม 2517 ริชาร์ด นิกสัน (Richard Milhous Nixon) เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่ลาออกจากตำแหน่ง ก่อนที่สภาจะลงมติถอดถอน (Impeachment) เนื่องจากเขามีส่วนเกี่ยวข้องใน “คดีวอเตอร์เกต” (Watergate scandal)

ริชาร์ด นิกสัน

ริชาร์ด มิลเฮาส์ นิกสัน (Richard Milhous Nixon) 9 มกราคม 2456 – 22 เมษายน 2537 เป็นประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกา ระหว่าง 2512 – 2517 และเคยเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 36 ระหว่างปี 2496 – 2504 ริชาร์ด นิกสันเป็นประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวที่ลาออกจากตำแหน่ง สาเหตุที่ลาออกนั้นเกิดจากคดีวอเตอร์เกต

คดีวอเตอร์เกตและการประกาศลาออก

คดีวอเตอร์เกตเป็นที่สะเทือนศรัทธาชาวอเมริกันต่อประธานาธิบดีมากที่สุด เพราะมันทำลายภาพทุกอย่างสหรัฐพยายามสร้างขึ้นมา ตั้งแต่บทบาทตำรวจโลก แนวคิดที่ยึดมั่นในเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน และระบบการปกครองแม่แบบของประเทศประชาธิปไตย ทั้งหมดที่ว่านี้กลายเป็นภาพจอมปลอมเมื่อประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสันผู้ชื่อว่าทำประโยชน์ต่อชาติอเมริกามากที่สุดผู้หนึ่งแท้จริงคือคนที่ใช้วิธีสกปรกเพื่อให้ตนเองชนะเลือกตั้ง ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น บิดเบือนซุกซ่อนข้อมูล และใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นเพื่อให้ตนเองพ้นผิด และเมื่อคดีแดงขึ้น คดีนี้จึงกลายเป็นแผลใจของชาวอเมริกันไปตลอด

คดีวอเตอร์เกตมีจุดเริ่มต้นที่โรงแรมวอเตอร์เกตซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ระดับชาติของพรรคเดโมแครต ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1972 ช่วงนั้นเป็นเวลากลางคืนและเจ้าหน้าที่โรงแรมได้สังเกตเห็นสิงผิดปกติในที่ทำการพรรคเดโมแครตจึงโทรเรียกตำรวจ ส่งผลสามารถจับกุมผู้ต้องหา 5 คนได้พร้อมของกลาง ผู้ต้องหาเหล่านี้ประกอบด้วยนายเบอร์นาร์ด บาร์เกอร์ (Bernard Barker) เวอร์จิลิโอ กอนซาเลซ (Virgilio Gonzalez) ยูจินิโอ มาร์ติเนซ (Eugenio Martínez) เจม แม็คคอร์ด (James W. McCord, Jr.) และแฟรงค์ สเตอร์กิส (Frank Sturgis) โดยก่อนหน้านี้กลุ่มคนร้ายเคยแอบเข้าในออฟฟิศแห่งนี้แล้วเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนถูกจับ

เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดต่อมาตำรวจจึงพบว่าบรรดาคนที่ถูกจับเหล่านี้ไม่ใช่โจรกระจอก เพราะแต่ละคนต่างทำงานให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐอเมริกา (ซีไอเอ) โดยชายทั้ง 5 ได้รับคำสั่งให้บุกเข้าไปขโมยข้อมูลที่พรรคเดโมแครตซึ่งเตรียมไว้เพื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่แข่งกับริชาร์ด นิกสัน เจ้าของตำแหน่งเดิม ในตัวผู้ต้องหาคนหนึ่งมีเบอร์โทรศัพท์ของที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาว และในบัญชีของผู้ต้องหาอีกคนหนึ่ง มีเงิน 25,000 เหรียญสหรัฐที่ขึ้นด้วยแคชเชียร์เช็คประทับตรา นอกจากนั้นเอฟบีไอยังเจอบันทึกมีชื่อย่อซึ่งอาจหมายถึงทำเนียบขาวก็ได้ เช่น W.House และ W.H (White House)

ต่อมาคณะกรรมการเลือกตั้งประธานาธิบดี รัฐสภาสหรัฐจึงตัดสินใจตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีวอเตอร์เกตขึ้นจากการสอบสวนได้พบว่าในสมุดโน้ตของ เจม แม็คคอร์ด มีหมายเลขโทรศัพท์ของโฮเวิร์ด ฮันต์ อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวคนหนึ่ง ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่า คดีนี้น่าจะมีเงื่อนงำทางการเมือง นอกจากนี้แม็ค คอร์ดยังสารภาพกับศาลด้วยว่าเขาเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอปลดเกษียณ

ต่อมาแฟรงค์ วิลส์ ยามรักษาความปลอดภัยประจำส่วนที่เป็นสำนักงานของโรงแรมพบว่ามีเศษเทปติดอยู่ที่ประตูห้องใต้ดินของอาคารส่วนที่เปิดไปโรงรถซึ่งทำให้ประตูไม่ได้ล็อก ตอนแรกเขาคิดว่าคนทำความสะอาดอาจจะลืมไว้จึงดึงออกแต่เมื่อกลับมาดูอีกครั้งก็พบว่ามีเทปติดอยู่อีกวิลส์จึงติดต่อไปยังสำนักงานตำรวจวอชิงตัน ดี.ซี.

แต่กระนั้นการสอบสวนของเอฟบีไอก็ไม่ได้ราบรื่นมากนักเพราะถูกซีไอเอคอยดึงเรื่องและขัดขวาง เหมือนกับว่าต้องการให้เอฟบีไอไขว้เขวและวางมือ ในช่วงปีค.ศ. 1972 ความตึงเครียดระหว่างทำเนียบขาวกับเอฟบีไอมีมากยิ่งขึ้นและดูเหมือนทุกอย่างจะมาถึงทางตันเสียแล้ว ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 38 ปรากฏว่า นิกสันชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในปี 1972 ด้วยคะแนนท่วมท้น ระหว่างนั้นเอง ดีพ โธรท (Deep Throat) ซึ่งเป็นนามแฝงของ มาร์ค เฟลท์ (Mark Felt) ก็ปรากฏตัวขึ้น ดีฟ โธรทอ้างตนว่าเป็นแหล่งข่าวลับที่พร้อมจะแฉคดีนี้ โดยเขาหวังว่าจะขยายความคดีวอเตอร์เกต เขาจะคอยชี้ให้ว่าข้อมูลชิ้นไหนสำคัญชิ้นไหนไม่เกี่ยว ทำให้ข่าวได้ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ เป็นประจำ โดยมีนายบ็อบ วู้ดเวิร์ด (Bob Woodward) และนายคาร์ล เบิร์นสไตน์ (Carl Bernstein)

สองนักข่าวประจำหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ เป็นผู้เปิดโปงคดีวอเตอร์เกต การขุดคุ้ยและเปิดโปงเรื่องต่อเนื่องจากคดีวอเตอร์เกตของวู้ดเวิร์ดและเบิร์นสไตน์ดำเนินไปนานนับเดือนสร้างแรงกดดันต่อทำเนียบขาวขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ทางการก็โกรธเกรี้ยวต่อ ดีพ โธรท มากขึ้นรุนแรงขึ้นแต่ ดีพ โธรท ก็ยังเพิ่มระดับการช่วยเหลือไปถึงขั้นเริ่มให้ข้อมูลชี้นำและเบาะแสที่จะนำไปสู่การเผยความจริงว่ามีการรู้เห็นสมรู้ร่วมคิดกันปกปิดความลับในทำเนียบขาว แน่นอนถ้าคดีนี้เป็นเรื่องจริงนี้ถือว่าเป็นเรื่องสกปรกมากในเรื่องของผู้นำที่ใช้อำนาจในทางที่ผิดและด้วยความกลัวนิกสันจึงบีบให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวต้องลาออกและไล่ที่ปรึกษาจอห์น ดีน (John Dean) ออก

เพื่อตัดตอนคดี จอห์น ดีนจึงตัดสินใจขึ้นให้การต่อสภาคองเกรส (Congress) ว่าประธานาธิบดีนิกสันพยายามวิ่งเต้นบิดเบือนคดีและในทำเนียบขาวเองก็มีการติดตั้งเครื่องดักฟังอยู่ซึ่งข้อความต่าง ๆ ในนั้นคือหลักฐานที่จะมัดตัวนิกสันได้อย่างดี แต่เมื่อหัวหน้าฝ่ายสอบสวนคดีวอเตอร์เกตเรียกขอเทปจากเครื่องดักฟังนี้นิกสันปฏิเสธโดยอ้างสิทธิพิเศษของผู้บริหารที่ไม่อาจเปิดเผยข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติส่งผลให้ประชาชนพากันส่งจดหมายกว่า 450,000 ฉบับมาต่อว่า วิทยาลัยกฎหมายกว่า 17 แห่งเรียกร้องให้นำนิกสันขึ้นพิจารณาคดีจนนิกสันต้องยินยอมส่งเทปบันทึกเสียงให้ฝ่ายสืบสวนไปในที่สุด แต่อย่างไรก็ตามเทปที่ส่งไปให้นั้นกลับมีช่วงว่างที่เสียงพูดหายไปเฉย ๆ ถึง 18 นาทีครึ่งซึ่งนิกสันก็เอาตัวรอดด้วยการโยนความผิดให้โรสแมรี่ วู้ดส์ (Rose Mary Woods) เลขาส่วนตัวว่าเธอเผลอลบขณะที่วู้ดส์ปฏิเสธว่าเธอไม่ได้ทำและถ้าพลาดจริงก็ไม่มีทางเกิน 4-5 นาทีแน่ ๆ จากนั้น หลักฐานต่าง ๆ ก็ทยอยเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนรัฐสภามีมติให้นำตัวนิกสันขึ้นพิจารณาคดีและเตรียมถอดถอนและก่อนที่กระบวนการพิจารณาคดีจะเริ่มขึ้น ในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1974 ริชาร์ด นิกสัน ก็กลายเป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกาที่ต้องลงเอยด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่ง แต่เขาได้รับการยกเว้นโทษในเวลาต่อมาโดยประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ขณะที่คนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 40 คนถูกตัดสินจำคุก ซึ่งมีตั้งแต่รอลงอาญา 1 เดือนจนถึงจำคุก 52 เดือน

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button