วันนี้ในอดีต

22 สิงหาคม ภาพ โมนา ลิซา ถูกขโมยจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์

22 สิงหาคม 2454 โมนา ลิซา (Mona Lisa) ภาพจิตรกรรมชิ้นเอกของโลก ถูกขโมยจากพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Louvre) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ภาพ โมนา ลิซา ถูกขโมย

ภาพโมนาลิซาถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อเวลา 7 นาฬิกาของวันนี้ ขณะผู้ดูแลเข้ามาทำความสะอาดเหมือนเช่นเคย แต่เช้าวันถัดมาพวกเขาก็พบว่า ภาพวาดตัวชูโรงประจำพิพิธภัณฑ์ได้หายสาบสูญไป เหลือเพียงแต่กรอบรูปที่ถูกทิ้งไว้ข้างบันไดเท่านั้น

“เมื่อวานนี้เป็นวันทำความสะอาด ทางพิพิธภัณฑ์ปิดไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า และก็ไม่มีใครสังเกตว่าภาพได้หายไป จนเมื่อเช้าผู้ดูแล Salon Carré (ห้องจัดแสดงภาพโมนาลิซา) เห็นว่ามันหายไป แต่คิดว่าน่าจะเป็นเพราะทางช่างภาพประจำพิพิธภัณฑ์เผลอลืมไป ด้วยเขาชอบเอาภาพไปไว้ที่สตูดิโอ ก่อนจะเอามาติดไว้ตามเดิมในเช้าวันถัดมาก่อนที่พิพิธภัณฑ์จะเปิดให้เข้าชม แต่จนกระทั่งเที่ยงไปแล้วภาพก็ยังไม่โผล่ให้เห็น เขา (ผู้ดูแล) เลยแจ้งกับทางผอ.ที่ดูแล ผอ.ก็รีบมาสำนักงานของเราบอกว่าตอนนี้ไม่มีใครรู้ถึงชะตากรรมของภาพเขียนชิ้นนี้” M. Bénédite ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์กล่าว

ตอนแรกๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่า พวกโมเดินนิสต์ที่ต่อต้านขนบศิลปะแบบเก่าอาจจะเป็นผู้ก่อเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัว กีโยม อะพอล์ลิแนร์ (Guillaume Apollinaire) ศิลปิน นักประพันธ์ และนักวิจารณ์ศิลปะชื่อดัง ในเดือนกันยายนปีเดียวกันเพื่อทำการสอบสวน ก่อนที่จะปล่อยตัวเขาออกมา

และ ปาโบล ปีกัสโซ ศิลปินที่เรียกได้ว่าทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในยุคศตวรรษที่ 20 ก็เคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีนี้กับเขาด้วยเหมือนกัน (ด้วยการซัดทอดของอะพอล์ลิแนร์) แต่เจ้าหน้าที่ขาดหลักฐานที่จะดำเนินคดีกับเขาได้

คดีนี้ ค่อยๆ เงียบหายไป จนกระทั่งสองปีถัดมาโจรตัวจริงก็เผยตัว เมื่อเขาอดใจไม่ไหวออกมาติดต่อเจ้าของแกลเลอรีในฟลอเรนซ์ด้วยหวังจะปล่อยภาพที่ประเมินค่ามิได้ชิ้นนี้ แต่เจ้าของแกลเลอรีตลบหลังพาตำรวจมาจับโจรรายนี้แทน

โจรผู้ก่อเหตุอุกอาจครั้งนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาเคยทำงานกับพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์มาก่อน เป็นหนุ่มอิตาเลียนที่ย้ายมาทำงานในกรุงปารีสเมื่อปี 1908 นามว่า วินเซนโซ เปรูจา (Vincenzo Perugia)

ในวันก่อเหตุเขาสวมเสื้อคลุมหลวมสีขาวเหมือนเสื้อพนักงานพิพิธภัณฑ์ ก่อนซ่อนตัวอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทั้งวันทั้งคืน และใช้เวลาในช่วงที่พิพิธภัณฑ์ปิดงัดแงะเอาภาพออกจากกรอบออกมาได้ เสร็จแล้วก็ซ่อนไว้ในเสื้อเดินออกจากประตูตามปกติราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เรื่องมาแดงเอาตอนเดือนพฤศจิกายน 1913 (พ.ศ. 2456) เมื่อเขาใช้ชื่อปลอมเรียกตัวเองว่า ลีโอนาร์โด วินเซนโซ (Leonardo Vincenzo) เขียนจดหมายไปหา อัลเฟรโด เจรี (Alfredo Geri) นายหน้าค้างานศิลปะในนครฟลอเรนซ์ บอกด้วยสำนึกแบบชาตินิยมว่า เขาสามารถนำภาพโมนาลิซากลับมายังถิ่นกำเนิดในอิตาลีได้ (เพราะเข้าใจไปว่าภาพชื่อดังของดาวินชี ถูกนโปเลียน ปล้นไป) พร้อมขอสินน้ำใจเล็กน้อยสัก 5 แสนลีร์ สำหรับการปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติด้วย (แต่จริงๆ แล้ว ภาพโมนาลิซาไม่ได้ถูกนโปเลียนขโมยไป กลับกันดาวินชี เป็นคนเอาภาพนี้ไปฝรั่งเศสเองเมื่อครั้งที่เข้าไปรับใช้ราชสำนักในรัชสมัยของพระเจ้าฟรานซิสที่ 1 ซึ่งพระองค์ทรงซื้อภาพดังกล่าวมาจากดาวินชี มันจึงเป็นสมบัติของฝรั่งเศสโดยชอบ)

เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย เปรูจาก็นั่งรถไฟมายังนครฟลอเรนซ์ในเดือนธันวาคม เมื่อเขาเอาภาพมาให้เจรี ดู เจ้าของห้องภาพรายนี้ก็เลยขอกับเปรูจาว่าให้ทิ้งภาพไว้ที่แกลเลอรีเพื่อรอให้ผู้เชี่ยวชาญมาพิสูจน์ให้แน่ชัด แต่คล้อยหลังไม่ทันไรเปรูจาก็ถูกจับในวันเดียวกันนี่เอง

และเมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหลักฐานก็ไปพบสมุดจดบันทึกของ เปรูจาเข้า ปรากฏว่าเขาจดชื่อของบรรดานักสะสมที่มีศักยภาพพอจะซื้อภาพของเขาได้หลายคนมีทั้งชาวอเมริกัน ชาวเยอรมันและชาวอิตาลี ที่ดังๆ ก็มี จอห์น ดี. ร็อคกีเฟลเลอร์ , เจ.พี. มอร์แกน และแอนดรูว์ คาร์เนกี และก่อนหน้าที่เขาจะติดต่อกับ เจรี เขาก็เคยติดต่อนายหน้าหลายคนทั้งในลอนดอน ปารีส และเนเปิล ทำให้ข้ออ้างที่ว่า เขาทำไปด้วยความรักชาติ (แบบเข้าใจผิด) มีน้ำหนักน้อยลงไปถนัดตา

ขณะเดียวกันก็น่าสงสัยว่า บรรดานายหน้าที่ได้รับการติดต่อจากผู้มีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าอาจครอบครอง “ของโจร” ทำไมถึงยอมแจ้งเบาะแสกับตำรวจ

อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วเปรูจาก็ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง แต่เขาก็รับโทษอยู่แค่ไม่กี่เดือน แถมชาวอิตาเลียนอีกหลายรายยังพากันเชิดชูเขาราวกับเป็นวีรบุรุษ เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า ในการก่ออาชญากรรม (นอกจากการอ้างว่าป่วยแล้ว) หากอ้างว่าทำไปด้วยความรักชาติ ผู้คนอาจจะไม่ถือโทษ แถมบางทียังอาจได้รับการยกย่องในความกล้าหาญที่ยอมเสี่ยงสร้างวีรกรรมเพื่อชาติอีกด้วยซ้ำ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button