วันนี้ในอดีต

7 กันยายน ประกาศใช้ธนบัตรแบบแรกของไทย

7 กันยายน 2445 ประกาศใช้ธนบัตรแบบแรกของไทย เป็นธนบัตรหน้าเดียว มี 5 ราคา คือ 5,10,20,100 และ 1,000 บาท พิมพ์โดย บ. โทมัส เดอลารู แห่งอังกฤษ มีอักษรแจ้งมูลค่าเป็นภาษาไทย จีน อังกฤษ และมลายู

ธนบัตรไทย

ธนบัตรในประเทศไทย เริ่มมีการใช้ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้มีการใช้ “เงินกระดาษ” เป็นครั้งแรก แต่ยังไม่ได้เรียกว่า “ธนบัตร” ใช้คำว่า “หมาย” เรียกแทน โดยออกใช้เมื่อ 2396 และคงใช้ต่อมาทั้งสิ้น 3 รุ่น

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ “ตั๋วกระดาษ” ราคา 1 อัฐ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2417 เพื่อใช้แทนเงินเหรียญกษาปณ์ที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “อัฐกระดาษ” ที่ใช้เรียกขานกันในหมู่ประชาชน

ต่อมาในปี 2432-2442 ทรงอนุญาตให้ธนาคารต่างประเทศที่เข้ามาเปิดสาขาดำเนินงานในประเทศไทย คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้, ธนาคารชาเตอรด์แห่งอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน และธนาคารแห่งอินโดจีน ให้สามารถออกธนบัตรของตัวเองได้ เรียกว่า “แบงก์โน้ต” หรือ “แบงก์” นับว่าเป็น “บัตรธนาคาร” รุ่นแรกๆ ที่มีใช้ในประเทศไทย จนถึงวันที่ 7 กันยายน 2445 จึงทรงให้ยกเลิก และประกาศใช้ “ธนบัตร” แบบแรกของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ประเภทของธนบัตรไทย

  • 7 กันยายน 2445 7 ชนิดราคา 1, 5, 10, 20, 50, 100, 1,000 บาท – เป็นธนบัตรที่พิมพ์ด้านหน้าเพียงด้านเดียว พิมพ์โดยบริษัทโทมัส เดอ ลา รู จำกัด (THOMAS DE LA RUE & COMPANY LIMITED)
  • 21 กรกฎาคม 2468 6 ชนิดราคา 1, 5, 10, 20, 100, 1,000 บาท – เริ่มมีการพิมพ์เส้นนูน พิมพ์โดยบริษัทโทมัสเดอลารู
  • 22 มิถุนายน 2477 4 ชนิดราคา 1, 5, 10, 20 บาท – มีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 7 พิมพ์โดยบริษัทโทมัสเดอลารู
  • 5 ธันวาคม 2481 6 ชนิดราคา 1, 5, 10, 20, 100, 1,000 บาท – ได้เริ่มใช้คำว่า “รัฐบาลไทย” แทนคำว่า “รัฐบาลสยาม” พิมพ์โดยบริษัทโทมัสเดอลารู
  • 8 ธันวาคม 2484 7 ชนิดราคา 50 สตางค์ และ 1, 5, 10, 20, 100, 1,000 บาท – พิมพ์โดยบริษัท Mitsui Butsan จากประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากอยู่ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงไม่สามารถสั่งพิมพ์จากบริษัทโทมัสเดอลารูได้
  • 21 กุมภาพันธ์ 2488 2 ชนิดราคา 20, 100 บาท – พิมพ์โดย กรมแผนที่ทหารบก และกรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ โดยใช้วัตถุดิบเท่าที่หาได้ในประเทศ เนื่องจากสงครามทวีความรุนแรงขึ้น ประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถขนส่งธนบัตรมาได้ ธนบัตรชุดนี้จึงมีคุณภาพต่ำและมีการปลอมแปลงกันมาก แต่ก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนธนบัตรได้ตลอดช่วงสงคราม
  • 21 กุมภาพันธ์ 2488 4 ชนิดราคา 1, 5, 10, 50 บาท – พิมพ์ในประเทศไทย โดยโรงพิมพ์เอกชนที่มีผลงานอยู่ในระดับมาตรฐานขณะนั้น โดยการแยกพิมพ์ตัวธนบัตร หมวดหมายเลข และลายเซ็นคนละแห่งกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปควบคุมดูแลการพิมพ์อย่างใกล้ชิด แต่เนื่องจากในช่วงปลายสงครามซึ่งกระดาษและหมึกพิมพ์มีอยู่อย่างจำกัด คุณภาพและสีของธนบัตรจึงไม่ดีเท่าที่ควร และจากขนาดธนบัตรที่เล็กกว่าธนบัตรทั่ว ๆ ไป ในขณะนั้น บางครั้งประชาชนจึงเรียก “แบงก์ขนมโก๋”

ประเภทของธนบัตรไทย เพิ่มเติม

  • 14 พฤศจิกายน 2489 5 ชนิดราคา 1, 5, 10, 20, 100 บาท – พิมพ์โดย บริษัท The Tudor Press จากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากบริษัทโทมัสเดอลารูได้รับความเสียหายจากสงคราม ไม่มีเส้นนูนและลายน้ำ ในสมัยนั้นมีการปลอมแปลงธนบัตรกันมาก
  • 26 มกราคม 2491 6 ชนิดราคา 50 สตางค์ และ 1, 5, 10, 20, 100 บาท – พิมพ์โดยบริษัทโทมัสเดอลารู
  • 16 พฤษภาคม 2510 ชนิดราคาเดียว 100 บาท – มีเส้นนูน มีหลายสี มีลายไทย เนื่องจากมีการปลอมแบบ 9 ราคา 100 บาท อย่างมากมาย
  • 18 มิถุนายน 2512 5 ชนิดราคา 5, 10, 20, 100, 500 บาท – พิมพ์ในประเทศไทย โดยโรงพิมพ์ธนบัตร ที่จัดตั้งขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2512
  • 6 เมษายน 2521 3 ชนิดราคา 10, 20, 100 บาท – ด้านหลังมีภาพพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ที่เป็นมหาราช
  • 30 สิงหาคม 2528 2 ชนิดราคา 50, 500 บาท – เพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี 2525 ธนบัตร 50 บาท ภาพประธานด้านหน้า พระฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุย
  • 10 สิงหาคม 2535 3 ชนิดราคา 100, 500, 1000 บาท – ออกฉบับละ 1000 บาท เพื่อสนองต่อการใช้เงินจำนวนมาก ภาพประธานด้านหลังของชนิดราคาพันบาท มีพระฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
  • 1 มกราคม 2542 5 ชนิดราคา 20, 50, 100, 500, 1,000 บาท – เป็นธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่ โดยในช่วงท้าย ๆ ของชุดที่ 15 ธนบัตร 50 บาทได้เปลี่ยนรูปแบบธนบัตรจากพอลิเมอร์เป็นกระดาษธรรมดาเพื่อลดต้นทุนและป้องกันไม่ให้วัสดุที่ผลิตธนบัตรมีค่ากว่าราคาธนบัตร และธนบัตร1000 บาทได้เพิ่มแถบสีเงิน เพื่อป้องกันการปลอมแปลงและไม่ได้พิมพ์ธนบัตร 10 บาท
  • 18 มกราคม 2555 5 ชนิดราคา 20, 50, 100, 500, 1,000 บาท – เป็นธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบัน ด้านหลังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ที่เป็นมหาราช
  • 6 เมษายน และ 28 กรกฎาคม 2561 5 ชนิดราคา 20, 50, 100, 500, 1,000 บาท – เป็นธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบันด้านหลังมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button