วันนี้ในอดีต

8 กันยายน เริ่มเปิดใช้ ถนนสุขุมวิทเป็นครั้งแรก

8 กันยายน 2479 ถนนสุขุมวิท เริ่มเปิดใช้เป็นครั้งแรก ถนนสุขุมวิทเป็นทางหลวงหมายเลข 3 (กรุงเทพ – ตราด) เริ่มตั้งแต่เขตคลองเตยในกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราด เดิมชื่อว่า “ถนนกรุงเทพฯ – สมุทรปราการ”

ถนนสุขุมวิท

ถนนสุขุมวิท (ภาษาอังกฤษ: Thanon Sukhumvit) ซึ่งมีระยะทางส่วนใหญ่เป็น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 สายบางนา–หาดเล็ก เป็นหนึ่งในทางหลวงแผ่นดินสายประธานทั้งสี่ของประเทศไทย จุดเริ่มต้นที่ขอบทางรถไฟสายแม่น้ำฟากตะวันออก ต่อจากถนนเพลินจิต ในกรุงเทพมหานคร มีเส้นทางเลียบตามชายทะเลภาคตะวันออก และไปสิ้นสุดที่ด่านพรมแดนในอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ติดต่อกับชายแดนจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา รวมระยะทางยาวทั้งสิ้นประมาณ 488 กิโลเมตร

ถนนสุขุมวิทในกรุงเทพมหานคร มีประวัติเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2462 เมื่อนางสาว อี. เอส. โคล หรือ “แหม่มโคล” ครูใหญ่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ได้ย้ายโรงเรียนจากข้างโรงพยาบาลศิริราชมาอยู่ริมคลองแสนแสบซึ่งตอนนั้นยังไม่มีชุมชน การคมนาคมก็มีเพียงแต่คลองแสนแสบ จึงขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ตัดถนนเพลินจิตต่อจากถนนปทุมวัน (ถนนพระรามที่ 1)

จนถึงจุดบรรจบบนถนนวิทยุที่แยกไปสถานีวิทยุโทรเลข (แยกเพลินจิต) ซึ่งถนนดังกล่าวอยู่ในแนวถนนที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ดำริจะตัดไปสมุทรปราการอยู่แล้ว แต่กรมสุขาภิบาลยังไม่มีเงินสร้าง ในปี 2466 โรงเรียนกุลสตรีวังหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย นาย เอ.อี.นานา ได้เรี่ยไรเจ้าของที่ดินในย่าน แล้วนำเงินมาให้กรมสุขาภิบาลขุดคลองเอาดินพูนขึ้นเป็นถนน จากจุดตัดของถนนเพลินจิตกับถนนวิทยุ ไปจนถึงซอยเข้าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เป็นระยะทาง 3,072 เมตร

ต่อมาในปี 2470 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงลพบุรีราเมศร เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ขอพระบรมราชานุญาต รัชกาลที่ 7 ตัดถนนต่อจากปากซอยโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยไปถึงสมุทรปราการ ได้ชื่อว่า “ถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ” เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2479 ต่อมาพระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม) ตำแหน่งอธิบดีกรมทางในขณะนั้น และเป็นบุตรของเจ้าพระยายมราชและท่านผู้หญิงตลับ

ได้จัดทำ “โครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย” เป็นแม่บทในการสร้างทางหลวงเป็นเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ถูกกำหนดให้เป็นทางสายหลักของภาคตะวันออก จึงสร้างต่อจากสมุทรปราการ ผ่านชลบุรี ระยอง ไปจนถึงตัวเมืองตราด เรียกชื่อว่า “ถนนกรุงเทพฯ-ตราด” ทำให้คณะรัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีมติให้ตั้งชื่อทางหลวงสายกรุงเทพฯ-ตราดว่า ถนนสุขุมวิท เพื่อเป็นเกียรติแก่พระพิศาลสุขุมวิท เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2493

ต่อมาได้มีการกำหนดให้รวมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 318 ตลอดทั้งสาย (ช่วงตัวเมืองตราดถึงด่านพรมแดนบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่) ให้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ทำให้ถนนสุขุมวิทมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก 89 กิโลเมตร

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button