วันนี้ในอดีต

21 กันยายน โกวเล้ง นักประพันธ์ชาวจีน เสียชีวิต

21 กันยายน 2528 โซง เอี๋ยวฮวา (Xiong Yaohua) เจ้าของนามปากกา “โกวเล้ง” (Gu Long) นักประพันธ์นิยายกำลังภายในชาวจีนไต้หวัน เสียชีวิตด้วยโรคตับแข็ง โกวเลิงเกิดที่ฮ่องกงในปี 2480

โกวเล้ง

โกวเล้ง (古龙) มีชื่อจริงว่า เอี้ยวฮั้ว แซ่ฮิ้ม (สำเนียงแต้จิ๋ว หากออกเสียงเป็นสำเนียงจีนกลางจะอ่านว่า สยง เย่า หัว – สยงหรือฮิ้มเป็นแซ่ แปลตามตัวอักษรว่าหมี) เกิด เมื่อ พ.ศ. 2480 เสียชีวิต 21 กันยายน พ.ศ. 2528 ที่โรงพยาบาลซันจวิน กรุงไทเป ด้วยโรคตับแข็งเพราะการดื่มสุราหนัก จนมีฉายาว่า “ปีศาจสุรา” รวมอายุ 48 ปี มีภรรยา 3 คน มีบุตร 2 คน

อายุได้ 15 ปีก็ย้ายไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน ครอบครัวมีฐานะยากจน เขาต้องทำงานหาเงินไปเรียนหนังสือ จนจบสาขาภาษาต่างประเทศจากมหาวิทยาลัย Tamkang University จากนั้นก็ได้งานทำเป็นบรรณารักษ์ที่ห้องสมุดในฐานทัพอเมริกันที่กรุงไทเป ทำให้มีโอกาสหาความรู้ด้านวรรณกรรมและนวนิยายตะวันตก ในปี 2503 เขาตีพิมพ์นิยายเรื่องแรกคือ “The Vault of Heaven and the Sword of Divinity” โดยใช้นามปากกาว่า “โกวเล้ง” ในช่วงแรก ๆ นิยายของเขายังเป็นแนวบู๊ล้างแค้นธรรมดา จึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก จากนั้นก็พัฒนาฝีมือมาเรื่อย สอดแทรกคติเตือนใจ แฝงคุณธรรมน้ำมิตร และใช้เทคนิคการเดินเรื่องแบบภาพยนตร์ จนกลายเป็นแนวทางของตัวเอง เช่น “ฤทธิ์มีดสั้น”, “ดาบจอมภพ”, “จอมดาบหิมะแดง”, “เซียวจับอิดนึ้ง”, “จอมโจรจอมใจ”, “เล็กเซียวหง” ผลงานของโกวเล้งโดดเด่นในการนำเสนอเรื่องราวธรรมดาในชีวิตมนุษย์ ได้อย่างลึกซึ้ง ซ่อนปรัชญาคมคาย สะท้อนเบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ผ่านภาษาที่สวยงาม อีกทั้งโกวเล้งยังมีความสามารถในการสร้างบุคลิกภาพของตัวละครได้ชัดเจน มีเลือดเนื้อและมีอารมณ์ความรู้สึกสมจริง แม้โกวเล้งจะรู้สึกขมขื่นในฐานะที่เป็น “นักเขียนนิยายกำลังภายใน” ซึ่งสายตาของคนทั่วไปในสมัยนั้นมองว่าด้อยค่า มิใช่วรรณกรรม ภายหลังเมื่อรูปแบบการเขียนของเขาถูกลอกเลียนโดยนักเขียนรุ่นใหม่ ผลงานของเขาจึงเสื่อมความนิยมลง ประกอบกับนิสัยใจกว้าง คบคนทุกระดับ รักสุรา นารี แม้จะมีรายได้จากงานเขียน แต่เขาก็ใช้มันไปกับการนี้จนไม่เหลือ ทุกคราวที่สุข เศร้า เหงา หรือทำงานจำต้องยกจอกสุราขึ้นดื่ม ภายหลังจึงเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง และเสียชีวิตด้วยโรคตับแข็ง ในวัย 48 ปี

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button