วันนี้ในอดีต

27 พฤศจิกายน ช่อง 7 เริ่มออกอากาศเป็นครั้งแรก

27 พฤศจิกายน 2510 สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 หรือ ช่อง 7 สี เริ่มออกอากาศ-แพร่ภาพเป็นครั้งแรกตามมาตรฐาน CCIR 625 เส้น ระบบ PAL โดยการถ่ายทอดสดรายการประกวดนางสาวไทยประจำปี 2510 จากเวทีบริเวณงานวชิรานุสรณ์ พระราชวังสราญรมย์ นับว่าเป็นโทรทัศน์สีแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นครั้งแรกที่ประชาชนได้มีโอกาสชมรายการโทรทัศน์ที่มีสีสันตามธรรมชาติ โดยได้นางสาวอภันตรี ประยุทธเสนีย์ เป็นนางสาวไทยประจำปี 2510

ช่อง 7

ช่อง 7 เอชดี (Channel 7 HD) (ชื่อเดิม: สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 อังกฤษ: Bangkok Broadcasting Television Channel 7) เป็นสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินซึ่งออกอากาศด้วยระบบภาพสีแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 3 ของประเทศไทย

ดำเนินกิจการภายใต้สัญญาสัมปทานกับกองทัพบก เริ่มแพร่ภาพเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2510 ในระบบวีเอชเอฟ เดิมออกอากาศเป็นภาพขาวดำ ทางช่องสัญญาณที่ 9 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นระบบภาพสี และย้ายการออกอากาศ

ไปทางช่องสัญญาณที่ 7 จนถึงปัจจุบัน มีกฤตย์ รัตนรักษ์ เป็นประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด และ ดร.เยาวลักษณ์ พูลทอง เป็นกรรมการผู้จัดการ

ประวัติช่อง 7

บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นด้วยทุน 10,000,000 บาท เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2510 เพื่อประกอบธุรกิจโฆษณา ขณะที่ปัจจุบัน (2556) มีทุนจดทะเบียนที่ 61,000,000 บาท โดยมีรายชื่อผู้ก่อตั้งประกอบด้วย คุณหญิงไสว จารุเสถียร (คำนำหน้าชื่อขณะนั้น; ภริยาจอมพล ประภาส จารุเสถียร), เรวดี เทียนประภาส (น้องสาวคุณหญิงไสว), ร้อยเอกชูศักดิ์ บุณยกะลิน, เฑียร์ กรรณสูต (น้องชายสุชาติ กรรณสูต สามีของเรวดี ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่ 2501), ชาติเชื้อ กรรณสูต (บุตรชายคนโต), ร้อยโทชายชาญ กรรณสูต (ยศขณะนั้น; บุตรชายคนที่สอง เปลี่ยนมาใช้นามสกุลฝ่ายแม่ เมื่อ 2517) และสุรางค์ เปรมปรีดิ์ (บุตรสาวคนเล็ก)

ซึ่งคณะผู้ก่อตั้งมอบหมายให้สมภพ ศรีสมวงศ์ (ปัจจุบันชื่อสหสมภพ) เป็นผู้ยื่นขอจดทะเบียนบริคณห์สนธิ กับกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) จากนั้นมีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 กันยายน ซึ่งมีมติแต่งตั้งให้คุณหญิงไสว เป็นประธานกรรมการบริษัท ส่วนเฑียร์, ชาติเชื้อกับร้อยโทชายชาญ

เป็นกรรมการบริษัท ทั้งสี่ถือหุ้นจำนวน 100 หุ้นเท่ากัน, ชวน รัตนรักษ์ ผู้บริหารธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นรองประธานกรรมการ ถือ 50 หุ้น, เรวดีเป็นกรรมการผู้จัดการ ถือ 230 หุ้น และร้อยเอกชูศักดิ์ เป็นกรรมการบริษัท ถือ 20 หุ้น

ในระยะเดียวกัน จอมพลประภาส ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก มีนโยบายให้ คณะกรรมการควบคุมวิทยุและโทรทัศน์กองทัพบก ลงมติอนุมัติให้ร่วมกับ บจก.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ ดำเนินการติดต่อให้นำเครื่องส่งโทรทัศน์สี ของบริษัทฟิลิปส์แห่งฮอลแลนด์ ระบบแพร่ภาพ 625 เส้นต่อภาพ 25 ภาพต่อวินาที มาทดลองใช้งาน

โดยบันทึกภาพการประกวดนางสาวไทย ภายในงานวชิราวุธานุสรณ์ ที่พระราชวังสราญรมย์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน มาถ่ายทอดผ่านคลื่นวิทยุ ในย่านความถี่สูงมาก ทางช่องสัญญาณที่ 7

ออกอากาศคู่ขนาน ด้วยระบบแพร่ภาพขาวดำ 525 เส้นต่อภาพ 30 ภาพต่อวินาที ทางช่องสัญญาณที่ 9 ในอีกสองวันถัดมา คือวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน หลังจากนั้น ก็ยุติการแพร่ภาพชั่วคราว เพื่อดำเนินการในทางเทคนิค

โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม มีการประกอบพิธีสถาปนา บจก.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ อย่างเป็นทางการ โดยในปีถัดมา (2511) ผู้ถือหุ้นมีมติให้เฑียร์ ลาออกจากตำแหน่ง กรรมการบริษัท, หัวหน้าฝ่ายรายการ และหัวหน้าฝ่ายเทคนิค

โดยแต่งตั้งให้สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เข้าเป็นกรรมการแทน พร้อมถือ 80 หุ้น และในปีเดียวกัน คณะกรรมการฯ ทำสัญญาร่วมกับทาง บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ซึ่งกำหนดให้บริษัทฯ จัดสร้างอาคารที่ตั้ง สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ภายในบริเวณที่ทำการ

ประวัติ

สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.) สนามเป้า พร้อมติดตั้งเครื่องส่งโทรทัศน์สี กำลังออกอากาศ 500 วัตต์ เพื่อมอบทั้งหมดให้แก่ ททบ.5 แล้วจึงทำสัญญาเช่าช่วงจาก ททบ.เป็นระยะเวลา 10 ปี

เพื่อเข้าบริหารงานอีกทอดหนึ่ง โดยในระยะสองปีแรก ใช้บุคลากรและห้องส่ง ร่วมกับ ททบ. พร้อมทั้งนำรถประจำทางเก่าสามคัน เข้าไปจอดไว้ภายในที่ทำการ ททบ.5 สนามเป้า แล้วรื้อที่นั่งออกทั้งหมด เพื่อใช้ติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปพลางก่อน

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2512 บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด จัดหาเครื่องส่งโทรทัศน์สี กำลังออกอากาศ 10 กิโลวัตต์ พร้อมเสาอากาศสูง 570 ฟุต และเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง ระบบเอฟเอ็ม กำลังส่ง 1 กิโลวัตต์ เพื่อส่งมอบให้แก่ ททบ.

วันที่ 30 มกราคม ปีถัดมา (2513) เรวดีและร้อยเอกชูศักดิ์ เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ผู้ถือหุ้นมีมติแต่งตั้งให้ชาติเชื้อ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

โดยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ปีเดียวกัน บจก.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ ย้ายเข้าใช้อาคารที่ทำการถาวร ของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 บริเวณหลังสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) แห่งเดิม (ปัจจุบันเป็น อาคารศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส และลานจอดรถ

สำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร บริเวณสถานีสวนจตุจักร) และเมื่อวันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2514 เวลา 15:30 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยัง สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เพื่อทอดพระเนตรการแข่งขัน มวยไทยและมวยสากล

โดยเสด็จพระราชกุศล สมทบทุนนักมวยไทย ในมูลนิธิอานันทมหิดล พร้อมทั้งพระราชทานถ้วยรางวัล แก่นักกีฬามวยไทยและมวยสากลยอดเยี่ยม จากนั้นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2516 ชาติเชื้อขอลาออก ผู้ถือหุ้นจึงมีมติให้ร้อยเอกชายชาญ เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แล้วแต่งตั้งให้ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ สามีของสุรางค์ ที่มีอยู่ 20 หุ้น เป็นกรรมการบริษัท

ในเดือนมิถุนายน 2517 ท่านผู้หญิงไสวลาออกจากกรรมการบริษัท ชวนจึงขยับขึ้นเป็นประธานกรรมการแทน และให้ร้อยเอกหญิงสุมิตรา จารุเสถียร บุตรสาวท่านผู้หญิงไสว ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการที่ว่าง

ต่อมาในปี 2521 ททบ. ร่วมกับ บจก.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมปาลาปาของอินโดนีเซีย เพื่อถ่ายทอดสัญญาณจากกรุงเทพมหานคร ไปสู่สถานีเครือข่ายทุกภูมิภาค เป็นสถานีแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเช่าสัญญาณดาวเทียมนานาชาติ (อินเทลแซท) ถ่ายทอดเหตุการณ์จากทั่วโลกมายังไทย

ในเวลาใกล้เคียงกัน ก็ริเริ่มใช้รถถ่ายทอดสัญญาณดาวเทียมย่านความถี่สูง (เคยู-แบนด์) และรถบรรทุกเครื่องถ่ายทอดนอกสถานที่ (โอ.บี.) ใช้ย่านความถี่ ซี-แบนด์ ทำหน้าที่เป็นสถานีแม่ข่ายชั่วคราว

เพื่อถ่ายทอดสดงานประเพณีที่น่าสนใจ กีฬานัดสำคัญ และเหตุการณ์ในท้องที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผลงานสำคัญของชายชาญ ในหน้าที่กรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถานีฯ โดยตำแหน่งคือ การขยายสถานีส่งสัญญาณช่อง 7 สีออกไปสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากกว่า 300 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2522 บริษัทจึงเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท

โดยส่วนหนึ่งใช้วิธีขายหุ้นเพิ่มทุน ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ เป็นจำนวน 10 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งให้ประธานกรรมการ (ชวน รัตนรักษ์) และกรรมการผู้จัดการ เป็นผู้ดำเนินการตามที่เห็นสมควร เป็นจำนวน 30 ล้านบาท และให้ลดมูลค่าต่อหุ้นลงเหลือ 100 บาท เมื่อรวมกับการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกครั้ง เป็นจำนวน 61 ล้านบาท

เมื่อปี 2527 จึงทำให้ในที่สุด สกุลรัตนรักษ์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บจก.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ แทนกลุ่มสกุลจารุเสถียร กรรณสูต และเทียนประภาส พันโทชายชาญ ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนขนาด 11 มิลลิเมตร ยิงจนเสียชีวิตที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2523 ส่งผลให้ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการว่างลง

ผู้ถือหุ้นมีมติให้จัดตั้ง คณะกรรมการผู้จัดการขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ ในความรับผิดชอบของกรรมการผู้จัดการ โดยมีไพโรจน์เป็นประธาน คณะกรรมการชุดดังกล่าว และมีกรรมการคือพิสุทธิ์ ตู้จินดา, สมภพ ศรีสมวงศ์, ร้อยเอกสุพจน์ แสงสายัณห์, ชัชฎาภรณ์ รักษนาเวศ (อดีตนักร้องชื่อดัง ผู้เป็นภรรยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ของพันโทชายชาญ) และวีระพันธ์ ทีปสุวรรณ ซึ่งเป็นญาติของสกุลรัตนรักษ์

ซึ่งวีระพันธ์เข้ามารับตำแหน่ง กรรมการบริษัทที่ว่างลงด้วย ทว่าต่อมาไม่นาน ระบบคณะกรรมการผู้จัดการก็ยกเลิกไป โดยผู้ถือหุ้นแต่งตั้งให้ไพโรจน์ เป็นกรรมการผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียว จากนั้นในปี 2524 ชาติเชื้อกลับเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการอีกครั้ง พร้อมทั้งให้น้องสาว คือสุรางค์เข้ามาช่วยงานด้วย ซึ่งเป็นผลให้ช่อง 7 สีประสบความสำเร็จอย่างสูงในระยะต่อมา และเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2536 ชวนก็เสียชีวิตลง โดยมีบุตรชายคือกฤตย์ รัตนรักษ์ ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทมาตั้งแต่ 2513 เข้าดำรงตำแหน่งแทนบิดา

ในช่วงปลายพุทธทศวรรษ 2530 ชาติเชื้อล้มป่วยด้วยอาการอัมพาต จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่มาหลายปี ในที่สุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 สุรางค์จึงต้องรับตำแหน่งแทนพี่ชาย โดยที่ยังเป็นผู้จัดการฝ่ายข่าว (2541-2545) และผู้จัดการฝ่ายรายการ (2524-2551) อยู่ด้วย ทว่าเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 กฤตย์ลงนามในคำสั่งบริษัทฯ ให้สุรางค์พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ โดยให้ส่งมอบงานแก่ศรัณย์ วิรุตมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ ภายในวันที่ 30 ธันวาคม และให้ศรัณย์เริ่มเข้ารักษาการกรรมการผู้จัดการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ต่อมาในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติ ให้แต่งตั้งพลากร สมสุวรรณ อดีตพิธีกรในสังกัดช่อง 7 สีขึ้นเป็นกรรมการแทนสุรางค์ ซึ่งเป็นการพ้นจากตำแหน่งสุดท้ายในบริษัทฯ พร้อมทั้งมอบหมายให้พลากร เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และรักษาการในตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายรายการด้วย จากนั้นพลากรก็ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ แทนศรัณย์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 จนถึงปัจจุบัน

ยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อก

สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ได้เตรียมที่จะกำหนดยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อก ก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง (สัมปทาน 25 ปี ตั้งแต่ปี 2541 ไปจนถึงปี 2566) ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2560 โดยทางบริษัทฯ เห็นความจำเป็นในการยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกเพื่อลดต้นทุนการส่งสัญญาณ ประกอบกับโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่ช่อง 7 เช่าใช้ร่วมกับ ททบ. ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560

ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย ชุมพร พังงา พัทลุง และสงขลา และวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ตราด บุรีรัมย์ นครสวรรค์ แพร่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน ระนอง นครศรีธรรมราช สตูล และยะลา และจะยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกโดยสมบูรณ์จากสถานีกรุงเทพมหานครในวันที่ 16 มิถุนายน 2561 พร้อมกับสถานีอื่น ๆ อีก 18 สถานี ทั้งนี้ พันธะผูกพันต่าง ๆ กับกองทัพบกในฐานะคู่สัญญาสัมปทานยังคงมีอยู่จนกระทั่งหมดสัญญาสัมปทาน

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button