นิทานก้อม

นิทานก้อม คือ นิทานที่มีเนื้อเรื่องสั้น ๆ กะทัดรัด อาจจะเป็นในรูปนิทานที่มีคติสอนใจ สอดแทรกคำสอนหรือสะท้อนวิถีชีวิต หรือตลกขำขัน ประโลมโลก นิทานก้อมอาจเล่าในทีมีงานรื่นเริง หรือพบปะเฮฮากัน หรือเล่าสู่กันฟังในตอนเย็น หลังจากกินข้าวเย็นเสร็จ (ข้าวแลง) เพราะว่าสมัยก่อน บ่มีโทรทัศน์ พัดลม หรือ สื่อสิ่งบันเทิง นอกจากมีการมีงานบุญ ถึงจะได้ดูสิ่งมหรสพ เช่น หมอลำ เป็นต้น

นิทานก้อม อาจแบ่งออกในชุดหรือท้องเรื่อง ดังนี้

  1. หัวพ่อกับจั่วน้อย (หลวงพ่อกับสามเณรน้อย) เนื้อเรื่องจะกล่าวถึงความฉลาดแกมโกงของสามเณรน้อย และความไม่ทันคนทันโลกของหลวงพ่อ บางคนกล่าวว่า เณรน้อยก็คือ เซียงเมี่ยง (ศรีธนญชัย) ในตอนที่ไปบวช ก่อนที่จะสึกออกมา แล้วไปพนันชนะกับพ่อค้าขายเมี่ยง ได้เมี่ยงจากพวกพ่อค้า เลยได้ชื่อว่า เชียงเมี่ยง
  2. พ่อเฒ่ากับลูกเขย (พ่อตากับลูกเขย) กล่าวถึงลูกเขยกับพ่อเฒ่าที่ชิงความได้เปรียบเสียเปรียบ ที่พ่อเฒ่าอยากทดสอบว่าลูกเขยคนนี้ จะฉลาดหรือสามารถเลี้ยงดูบุตรสาวของตนหรือพาบุตรสาวของตนให้เจริญก้าวหน้าต่อไปหรือไม่ แต่สุดท้ายพ่อเฒ่าก็มักจะพ่ายแต่ความกะล่อน และฉลาดของลูกเขย
    นิทานเรื่องนี้ อาจจะมีเรื่องของ แม่เฒ่า (แม่ยาย) กับลูกเขย ลูกใภ้กับย่า ร่วมด้วยเสมอ รวมทั้งลูกสาวด้วย
  3. เรื่องของทิด จารย์ เซียง (บุคคลที่เคยเข้าไปบวช แล้วสึกออกมาใช้ชีวิตทางโลก) กล่าวถึงความไม่ประสีประสาของคนที่สึกออกมาใช้ชีวิตทางโลก
  4. พี่อ้ายกับน้าสาว (พี่เขยกับน้องเมีย) กล่าวถึงความไม่ประสีประสาของเมีย หรือผู้สาวขึ้นใหม่ เป็นการสะท้อนสังคมอีกแบบหนึ่ง
  5. หัวหงอกหยอกสาว กล่าวถึงคนแก่หรือมีอายุ หยอกล้อสาวน้อย ประมาณว่า โคแก่อยากกินหญ้าอ่อน
  6. สามเกลอ กล่าวถึงสามสหาย คนหนึ่งตาบอด หูดี อีกคน หูหนวกหรือหูตึง ตาดี ตาดีปากกืก เนื้อเรื่องมักจะกล่าวถึงความพิการไม่สมประกอบ แต่ชอบแสดงตัวหรืออวดฉลาดไม่สมกับสารรูปของโตเอง หรือ เว้าใหญ่เกินโต
  7. เรื่องเบ็ดเตล็ด อื่น ๆ ทั่วไป อาจเป็นคำสอนหรือคติสอนใจ ปริศนา ขำขัน เช่น กระต่ายกับหอย ย่ากินปลิง กระต่ายในดวงจันทร์ เป็นต้น
Back to top button