เรื่องน่าสนใจ

ประวัติดนตรีไทย มีกี่ประเภท มีอะไรบ้าง?

ดนตรีไทย หมายถึง เป็นศิลปะแขนงหนึ่งของไทย ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย, จีน, อินโดนีเซีย และอื่น ๆ เครื่องดนตรีมี 4 ประเภท ดีด สี ตี เป่า

ประวัติดนตรีไทย

ประวัติดนตรีไทย

เครื่องดนตรีไทยเกิดจากชนชาติไทยเองและการเลียนแบบชนชาติอื่น ๆ ที่อยุ่ใกล้ชิดโดยเริ่มตั้งแต่สมัยโบราณที่ไทยตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาจักรฉ่องหวู่ดินแดนของประเทศจีนในปัจจุบัน ทำให้เครื่องดนตรีไทยและจีนมีการแลกเปลี่ยนเลียนแบบกัน นอกจากนี่ยังมีเครื่องดนตรีอีกหลายชนิด ที่ชนชาติไทยประดิษฐ์ขึ้นใช้ก่อนที่จะมาพบวัฒธรรมอินเดีย ซึ่งแพร่หลายอยู่ทางตอนใต้ของแหลมอินโดจีน สำหรับชื่อเครื่องดนตรีดั้งเดิมของไทยจะเรียนตามคำโดดในภาษาไทย เช่น เกราะ โกร่ง กรับ ฉิ่ง ฉาบ ขลุ่ย พิณเปี๊ยะ ซอ ฆ้องและกลอง ต่อมาได้มีการประดิษฐ์เครื่องดนตรีให้พัฒนาขึ้น โดยนำไม้ที่ทำเหมือนกรับหลายอันมาวางเรียงกันได้เครื่องดนตรีใหม่ เรียกว่าระนาดหรือนำฆ้องหลาย ๆ ใบมาทำเป็นวงเรียกว่า ฆ้องวง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการผสมผสานกับวัฒนธรรมทางดนตรีของอินเดีย มอญ เขมร ในแหลมอินโดจีนที่ไทยได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ ได้แก่ พิณ สังข์ ปี่ไฉน บัณเฑาะว์ กระจับปี่ จะเข้ โทน(ทับ) เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ไทยได้นำบทเพลงและเครื่องดนตรีบางอย่างของประเทศเพื่อนบ้านมาบรรเลงในวงดนตรีไทย เช่น กลองแขกของชวา กลองมลายูของมลายู เปิงมางของมอญ และกลองยาวของไทยใหญ่ที่พม่านำมาใช้ รวมทั้งขิม ม้าล่อ และกลองจีน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของจีน เป็นต้น ต่อมาไทยมีความสัมพันธ์ชาวกับตะวันตกและอเมริกา ก็ได้นำกลองฝรั่ง เช่นกลองอเมริกัน และเครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น ไวโอลีน ออร์แกน มาใช้บรรเลงในวงดนตรีของไทย

จากประวัติเครื่องดนตรีไทยดังกล่าว สามารถแบ่งประวัติศาสตร์ของเครื่องดนตรีไทยได้เป็น 4 สมัย ดังนี้

ดนตรีไทยสมัยสุโขทัย

ชาวไทยมีความสนุกสนานกับการเล่นดนครีและร้องเพลงกันมากดังที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 ว่า “ดบงคมกลอง ด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื้อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน” ซึ่งแลดงถึงการบรรเลงเครื่องดนตรีประเภทตี เป่า ดีด และสี คือ กลอง ปี่ พิณ และเครื่องดนตรีทีมีสายไว้สีได้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานของล้านนาไทยที่มีศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกันในหลักศิลาจารึกในวัดพระยืน จังหวัดลำพูน ที่จารึกไว้ว่า “ให้ถือกระทงข้างตอกดอกไม้ไต้เทียน ตีพาทย์ดังพิณฆ้องกลอง ปี่สรไนพิสเนญชัยทะเทียดกาหลแตรสังมาลย์กังสดาล มรทงค์ดงเดือด เสียงเลิศเสียงก้อง อีกทั้งคนร้องโห่อื้อดาสรท้านทั่งทั้งนครหริภุญชัย แล” ซึ่งแสดงถึงเครื่องดนตรีบรรเลงในวงดนตรี และประชาชนนำมาเล่นเพื่อความสนุกสนานครึกครื้นกัน ดังนั้นจึงสามารถกล่าวถึงเครื่องดนตรีไทยในสมัยสุโขทัยได้จากวงดนตรีไทยในสมัยนั้น ได้แก่ วงแตรสังข์ ที่ใช้บรรเลงในพระราชพิธีต่าง ๆ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีแตรฝรั่ง แตรงอน ปี่ไฉนแก้ว กลองชนะ บัณเฑาะว์ และมโหระทึก วงปี่พาทย์เครื่องห้าประกอบด้วย ปี่ใน ฆ้องวง ตะโพน กลองทัด และฉิ่ง นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีเช่น พิณ และซอสามสาย อยู่ในสมัยนั้นอีกด้วย

ดนตรีไทยสมัยอยุธยา

เป็นช่วงที่บ้านเมืองมีศึกสงครามอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ดนตรีไทยไม่เจริญก้าวหน้ามากนัก ยังคงมีเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ เครื่องห้าเท่าเดิม จนมาเพิ่มระนาดเอกภายหลังในตอนปลายสมัยอยุธยา ส่วนวงดนตรีที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ได้แก่ วงมโหรี ที่บรรเลงโดยผู้หญิง เพื่อขับกล่อมถวายแด่พระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี กระจับปี่ ซอสามสาย โทน(ทับ) กรับ รำมะนา ขลุ่ยและฉิ่ง แต่ต่อมาได้นำจะเข้ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของมอญมาประสมแทนกระจับปี่ เพื่อให้ทำนองได้ละเอียดลออและไพเราะกว่า และวงเครื่องสาย ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ซอด้วง ซออู้ จะเข้ ขลุ่ย โทน(ทับ) และฉิ่ง

ดนตรีไทยสมัยธนบุรี

มีวงดนตรี 3 ประเภท เช่นเดียวกับสมัยอยุธยา คือ วงปี่พาทย์ วงมโหรี และวงเครื่องสาย แต่มีเครื่องดนตรีของชาติต่าง ๆ เข้ามาในประเทศไทยหลายชนิด ดังปรากฏในหมายกำหนดการของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิณพาทย์ไทย พิณพาทย์รามัญ มโหรีไทย ฝรั่ง มโหรีญวน เขมร ผลัดเปลี่ยนกันสมโภช 2 เดือนกับ 12 วัน” ในงานสมโภชพระแก้วมรกตเป็นต้น

ดนตรีไทยสมัยรัตนโกสินทร์

คณะละครและวงปี่พาทย์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ มีความก้าวหน้าทางดนตรีมาก เริ่มจาก

  • สมัยรัชกาลที่ 1 ได้เพิ่มกลองทัดขึ้นในวงปี่พาทย์เป็น 2 ลูก และเพิ่มระนาดในวงมโหรีปี่พาทย์อีก 1 ราง
  • สมัยรัชกาลที่ 2 เริ่มมีปี่พาทย์บรรเลงประกอบเสภา จึงได้นำเปิงมางมาติดข้างสุกถ่วงเสียงให้ต่ำลง เรียกว่าสองหน้า ใช้ประกอบการบรรเลงประกอบเสภา และได้เพิ่มฆ้องวงในวงมโหรีด้วย
  • สมัยรัชกาลที่ 3 มีผู้สร้างระนาดทุ้มและฆ้องวงเล็กขึ้นมา ทำให้เกิดวงปี่พาทย์เครื่องคู่ขึ้นในสมัยนั้น ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีระนาดทีเปลี่ยนชื่อเป็นระนาดเอก เพื่อให้เข้าคู่กับระนาดแบบใหม่ ที่เพิ่มราง 1 ราง และสร้างขนาดใหญ่เรียกว่า ระนาดทุ้ม และฆ้องวงใหญ่ เพื่อให้เข้าคู่กับฆ้องวงเล็กที่สร้าง ขนาดเล็กลงเรียกว่า ฆ้องวงเล็ก นอกจากนี่ยังมีการนำปี่นอกเข้ามาผสมเข้าคู่กับปี่ใน และเครื่องดนตรีเดิม คือ ตะโพน กลองทัดและฉิ่งเช่นเดิม รวมทั้งมีวงมโหรีเครื่องคู่เกิดขึ้น โดยมีการนำระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก และขลุ่ยหลีบ ให้เข้าคู่กับเครื่องดนตรีที่มีอยู่เดิม
  • สมัยรัชกาลที่ 4 วงปี่พาทย์มีความเจริญมาก โดยเจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการ ต่างก็มีวงปี่พาทย์ประจำบ้านกัน และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระราชดำริให้นำลวดเหล็กเล็ก ๆ ที่ทรงทอดพระเนตรจากนาฬิกาตั้งโต๊ะที่กลไกข้างในมีลวดเส้น เล็ก ๆ สั้นบ้างยาวบ้าง ปักเรียงกันถี่ ๆ เป็นวงกลมคล้ายหวีตรงกลางมีแกนหมุนและเหล็กเขี่ยเส้นลวดเหล็กเหล่านั้นผ่านไปโดยรอบที่พระองค์ทรงเรียกว่า นาฬิกาเขี่ยหวี ซึ่งมีเสียงดังกังวานมาสร้าง เป็นระนาดทุ้มเหล็ก และระนาดเหล็กที่เล็กกว่าและมีเสียงสูงกว่า มาเพิ่มเข้าในวงปี่พาทย์ และเรียกวงปี่พาทย์นี้ว่า วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเครื่องดนตรี ระนาดทุ้มเหล็กและระนาดเอกเหล็กที่ทำด้วยทองเหลืองเรียกว่า ระนาดทอง และนำซอด้วงและซออู้มาผสมในวงมโหรีด้วยเรียกว่า มโหรีเครื่องใหญ่
  • สมัยรัชกาลที่ 5 ได้เกิดวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงปรับปรุงขึ้นเพื่อบรรเลงประกอบละครวงปี่พาทย์นี้มีชื่อเสียงไพเราะนุ่มนวลกว่า เพราะได้ดัดเครื่องดนตรีที่มีเสียงดังมาก เสียงสูงและเสียงเล็กแหลมออกจนหมด และระนาดเอกก็ตีด้วยไม้นวม รวมทั้งยังนำฆ้องชัยหรือฆ้องหุ่ยมา 7 ลูก เทียบเสียงเรียงลำดับตีห่าง ๆ คล้ายกับ เบสของฝรั่ง เพิ่มเข้ามา
  • สมัยรัชกาลที่ 6 การดนตรีมีความเจริญขึ้นมาก โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งกรมมหรสพ กรมบัญชาการ กรมโขนหลวง กรมพิณพาทย์หลวงกลองเครื่องสายฝรั่งหลวง และกรมช่างมหาดเล็ก สำหรับสร้างและซ่อมสิ่งที่เป็นศิลปะต่าง ๆ และพระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องปี่พาทย์ประดับมุกและประดับงาขึ้น 2 ชุด ประดับเป็นลวดลายวิจิตร มีอักษรพระปรมาภิไธย ม.ว. ซึ่งงดงามมีค่ายิ่ง
  • สมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งวงเครื่องสาย ส่วนพระองค์ขึ้น โดยพระองค์ทรงซอด้วง และพระบรมราชินีทรงซออู้ พร้อมทั้งเจ้านายอีกหลายพระองค์ อยู่ในวงนั้น นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์ เพลงราตรีประดับดาว เถา เพลงเขมรละออองค์ เถา และเพลงคลื่นกะทบฝั่ง 3 ชั้น ต่อมาเมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 การดนตรีไทยได้ค่อย ๆ เสื่อมลง จนมาถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้ว จึงได้มีการฟื้นฟูดนตรีไทยขึ้นใหม่ จนมาถึงปัจจุบันนี้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระปรีชาสามารถทางดนตรีสากล และพระราชนิพนธ์เพลงขึ้นหลายเพลงด้วย แต่พระองค์ยังทรงสนพระทัยการดนตรีไทย โดยพระราชทานทุน ให้พิมพ์เพลงไทยเป็นโน้ตสากลออกจำหน่ายจนเป็นที่นิยมของวงการดนตรีทั่วไป
ดนตรีไทยมีกี่ประเภท อะไรบ้าง

ดนตรีไทยมีกี่ประเภท

เครื่องดนตรีไทยแบ่งตามลักษณะการทำให้เกิดเสียงได้เป็น 4 ประเภท คือ เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี และเครื่องเป่า

ดนตรีไทยมีอะไรบ้าง

เครื่องดีด

  • จะเข้
  • กระจับปี่
  • พิณ ได้แก่ พิณเปี๊ยะ พิณน้ำเต้า พิณอีสาน
  • ซึง

เครื่องสี

  • ซอด้วง
  • ซอสามสาย
  • ซออู้
  • สะล้อ
  • ซอแฝด
  • รือบับ
  • ซอกันตรึม

เครื่องตี

  • กรับ ได้แก่ กรับพวงและกรับเสภา
  • ระนาด ได้แก่ ระนาดเอก, ระนาดทุ้ม, ระนาดเอกมโหรี, ระนาดทุ้มมโหรี, ระนาดเอกเหล็ก, ระนาดทุ้มเหล็ก, ระนาดแก้ว
  • ฆ้อง ได้แก่ ฆ้องมโหรี, ฆ้องมอญ, ฆ้องวงใหญ่, ฆ้องวงเล็ก, ฆ้องโหม่ง, ฆ้องกระแต, ฆ้องระเบ็ง
  • ขิม
  • ฉาบ
  • ฉิ่ง
  • กลอง ได้แก่ กลองแขก, กลองมลายู, ตะโพน, ตะโพนมอญ, กลองทัด, กลองตุ๊ก, กลองยาว, มโหระทึก, บัณเฑาะว์, โทน, รำมะนา, โทนชาตรี, กลองสองหน้า, เปิงมางคอก, กลองมังคละ

เครื่องเป่า

  • ขลุ่ย ได้แก่ ขลุ่ยหลิบ, ขลุ่ยเพียงออ, ขลุ่ยอู้
  • ปี่ ได้แก่ ปี่ใน, ปี่นอก, ปี่ไฉน, ปี่ชวา, ปี่มอญ
วงดนตรีไทยมีกี่ประเภท

วงดนตรีไทยมีกี่ประเภท

หากจะแบ่งประเภทของวงดนตรีไทยนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามเครื่องดนตรีไทยหลักที่ใช้ในการบรรเลง ดังนี้

วงปี่พาทย์

วงปี่พาทย์ เป็นวงดนตรีไทยที่ใช้เครื่องเป่าเป็นหลักในการบรรเลง และมีเครื่องตีในการให้จังหวะ ซึ่งวงปี่พาทย์ยังสามารถแบ่งแยกย่อยออกได้เป็นอีกหลายรูปแบบ ตามเครื่องดนตรีที่ประกอบกัน ดังนี้

  • วงปี่พาทย์ชาตรี เป็นวงที่ใช้ประกอบการแสดงละครชาตรี ใช้เครื่องดนตรี 5 ชนิด ปี่นอก ฆ้องคู่ กลองชาตรี โทนชาตรี ฉิ่ง
  • วงปี่พาทย์ไม้แข็ง เป็นวงที่ใช้ประกอบการบรรเลงเพลงอย่างเดียว และใช้ไม้ตีเครื่องตีที่มีลักษณะแข็งไม่ได้ใช้ไม้นวมตี
  • วงปี่พาทย์ไม้นวม ลักษณะคล้ายกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง แต่ใช้ไม้นวมในการเล่นเครื่องตีต่างๆ
  • วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เป็นวงที่ใช้เล่นประกอบละครดึกดำบรรพ์ โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงปรับปรุงขึ้น ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 10 ชิ้น ได้แก่ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ซออู้ ขลุ่ยเพียงออ ตะโพนกลอง ตะโพน กลองแขก ฆ้องหุ่ย 7 ใบ
  • วงปี่พาทย์มอญ มีต้นกำเนิดจากมอญ อดีตใช้เล่นทั้งงานมงคลและไม่มงคล แต่ปัจจุบันใช้เล่นเฉพาะในการศพเท่านั้น เครื่องดนตรีไทย 5 ชนิด ฆ้องมอญวงใหญ่ ระนาดเอก ปี่มอญ เปิงมางคอก ตะโพนมอญ โหม่งมอญ ฉิ่ง
  • วงปี่พาทย์นางหงส์ ใช้เล่นในงานศพเท่านั้น ใช้เครื่องดนตรีไทย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก กลองมลายู ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง

วงเครื่องสาย

วงเครื่องสาย เป็นวงดนตรีไทยที่ใช้เครื่องสายเป็นหลักในการบรรเลง มีเครื่องเป่าประกอบเป็นทำนอง และมีเครื่องตีในการให้จังหวะ มีจำนวน 4 ขนาด ดังนี้

  • วงเครื่องสายเล็ก จะประกอบด้วยเครื่องดนตรีจำนวน 8 ชนิด ได้แก่ จะเข้ ซออู้ ซอด้วง ขลุ่ยเพียงออ โทน รำมะนา ฉาบเล็ก ฉิ่ง
  • วงเครื่องสายเครื่องคู่ จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเนื่องจากจะมีเครื่องสาย 2 ชิ้น ดังนี้ จะเข้ 2 คัน ซออู้ 2 คัน ซอด้วง 2 คัน ขลุ่ยเพียงออ โทน กรับ รำมะนา ฉาบเล็ก ฉิ่ง โหม่ง
  • วงเครื่องสายผสม คือ วงเครื่องสายที่นำเอาเครื่องดนตรีอื่นๆมาผสมกับเครื่องสายธรรมดา เช่น ขิม ก็จะมีลักษณะเป็นผสมแต่ยังมีเครื่องสายเป็นหลัก
  • วงเครื่องสายปี่ชวา คือวงเครื่องสายที่ใช้ขลุ่ยหลิบมาแทนปี่อ้อ จึงได้ใช้ชื่อวงเครื่องสายปี่ชวา

วงมโหรี

วงมโหรี เป็นการผสมผสานดนตรีทุกประเภท ทั้งดีด สี ตี เป่า แต่ย่อขนาดให้พอเหมาะ และเพิ่มซอสามสายเข้าไปด้วย สามารถแข่งตามขนาดวงได้ 3 ขนาด ดังนี้

  • วงมโหรีขนาดเล็ก ใช้เครื่องดนตรีไทย 10 ชิ้น ได้แก่ ระนาดเอกมโหรี ฆ้องวงใหญ่มโหรี จะเข้ ซอสามสาย ซออู้ ซอด้วง ขลุ่ยเพียงออ โทน รำมะนา ฉิ่ง
  • วงมโหรีเครื่องคู่ จะเพิ่มจะเข้ ซออู้ ซอด้วง ซอสามสาย ฆ้องวง ขึ้นมาให้มีคู่ รวมเครื่องดนตรีไทยทั้งสิ้น 18 ชิ้น ดังนี้ จะเข้ 2 ตัว ซอสามสาย ซอสามสายหลีบ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ซออู้ 2 คัน ซอด้วง 2 คัน ขลุ่ยหลีบ ขลุ่ยเพียงออโทน รำมะนา ฉิ่ง ฉาบเล็ก กรับ โหม่ง
  • วงมโนรีเครื่องใหญ่ เรียกว่าจัดเต็มที่สุดในวงดนตรีไทย ใช้เครื่องดนตรี 23 ชิ้น ดังนี้ จะเข้ 2 ตัว ขลุ่ยหลีบ ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยอู้ ซออู้ 2 คัน ซอด้วง 2 คัน ซอสามสาย 2 คัน ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก โทน รำมะนา ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง

ทิ้งท้าย

ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลคร่าว ๆ ของดนตรีไทย หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจประวัติดนตรีไทยกันมากขึ้น

อ่านต่อ

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button