วันสำคัญ

วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

วันปิยมหาราช

วันปิยมหาราช (ภาษาอังกฤษ: Chulalongkorn Memorial Day) ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยมหาราช ซึ่งมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม เป็น วันปิยมหาราช

ประวัติวันปิยมหาราช

วันปิยมหาราช วันที่ 23 ตุลาคม 2453 ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทงพระประชวรและเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ

เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น กรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็น สำนักพระราชวัง ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติฉัตร 5 ชั้น ประดับโคมไฟ ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันปิยมหาราช ครั้งแรกเกิดขึ้นถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้วเสด็จฯ ไปวางพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์

กิจกรรมวันปิยมหาราช

ในวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งราชการและภาคเอกชน นักเรียน-นิสิตนักศึกษา รวมทั้งประชาชนจะมาวางพวงมาลาดอกไม้สักการะ และถวายบังคมที่พระบรมรูปทรงม้า และพระบรมราชานุสาวรีย์ตามจังหวัดต่างๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทำบุญตักบาตอุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ในหน่วยงาน และโรงเรียน มหาวิทยาลัยจะจัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นการประกาศเกียรติคุณให้ไพศาลสืบไป

กำหนดการวันปิยมหาราช

  • ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรการกุศล องค์กรภาคเอกชน สมาคม ชมรม มูลนิธิ กลุ่มพลังมวลชน นักเรียน นักศึกษา พร้อมกัน ณ บริเวณพิธี
  • ลงทะเบียนจัดลำดับการวางพวงมาลาถวายราชสักการะ เวลา 07.00 น. – ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรการกุศล องค์กรภาคเอกชน วางพวงมาลาถวายราชสักการะตามลำดับที่ลงทะเบียนไว้ เวลา 07.45 น. – วงดุริยางค์และกองเกียรติยศเข้าประจำที่ เวลา 08.00 น. – เคารพธงชาติ (วงดุริยางค์บรรเลงเพลงชาติไทย)
  • ประธานเดินทางมาถึงบริเวณพิธี (บรรเลงเพลงมหาฤกษ์)
  • ประธานในพิธีข้นสู่ที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์์ ถวายความเคารพ (วันทยาหัตถ์) ผู้บังคับกองเกียรติยศบอกแถวถวายความเคารพพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ผู้ร่วมพิธีถวายความเคารพพร้อมประธาน
  • ประธานถวายมาลัยคล้องพระหัตถ์พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
  • ประธานถวายพวงมาลา
  • ประธานจุดเทียน เครื่องทองน้อย แล้วถวายบังคมที่แท่นกราบ
  • ประธานประจำพิธีแท่น และกล่าวถวายราชสดุดี (กล่าวจบ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี)
  • เสร็จพิธี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (20 กันยายน 2396 – 23 ตุลาคม 2453) เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน 2396 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์ที่ 1 ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสวยราชสมบัติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง 2411 เสด็จสวรรคต เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม 2453 ด้วยโรคพระวักกะ

พระราชประวัติ รัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2396 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (ในรัชกาลที่ 6 ได้มีการสถาปนาพระบรมอัฐิเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) ได้รับพระราชทานนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร ซึ่งคำว่า จุฬาลงกรณ์ นั้นแปลว่า เครื่องประดับผม อันหมายถึง พระเกี้ยว ที่มีรูปเป็นส่วนยอดของพระมหามงกุฎหรือยอดชฎา

พระองค์มีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดารวม 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

การศึกษา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่หัวทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นในสำนักพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ทรงได้รับการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ ภาษาเขมรจากหลวงราชาภิรมย์ ทรงได้การศึกษาการยิงปืนไฟจากพระยาอภัยเพลิงศร

วันที่ 20 มีนาคม 2404 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ และเมื่อ 2409 พระองค์ผนวชตามราชประเพณี ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ภายหลังจากการผนวช พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เมื่อปี 2410 โดยทรงกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมทหารบกวังหน้า

บรมราชาภิเษกครั้งที่ 1

วันที่ 1 ตุลาคม 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตภายหลังเสด็จออกทอดพระเนตรสุริยุปราคา 18 สิงหาคม 2411 โดยก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตนั้น ได้มีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า

“พระราชดำริทรงเห็นว่า เจ้านายซึ่งจะสืบพระราชวงศ์ต่อไปภายหน้า พระเจ้าน้องยาเธอก็ได้ พระเจ้าลูกยาเธอก็ได้ พระเจ้าหลานเธอก็ได้ ให้ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ปรึกษากันจงพร้อม สุดแล้วแต่จะเห็นดีพร้อมกันเถิด ท่านผู้ใดมีปรีชาควรจะรักษาแผ่นดินได้ก็ให้เลือกดูตามสมควร”

ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรคต จึงได้มีการประชุมปรึกษาเรื่องการถวายสิริราชสมบัติแด่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ซึ่งในที่ประชุมนั้นประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระสงฆ์

โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ได้เสนอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งที่ประชุมนั้นมีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ ดังนั้น พระองค์จึงได้รับการทูลเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระราชบิดา โดยในขณะนั้น มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ดังนั้น จึงได้แต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระองค์จะมีพระชนมพรรษครบ 20 พรรษา โดยทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฎว่า

ผนวชและบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 20 พรรษาแล้ว เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2416 จึงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหารเป็นเวลา 15 วัน หลังจากทรงลาสิกขาแล้ว ได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2416 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยในครั้งนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฎว่า

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ มหามงกุฎราชวรางกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฏไพบูลย์ บุรพาดูลย์กฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตร โสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณต บาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ อุดมเดชาธิการ บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินธร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

สวรรคต

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระวักกะ (ไต) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 เวลา 2.45 นาฬิกา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สิริพระชนมายุได้ 57 พรรษา ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้จัดให้วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็น วันปิยมหาราช และเป็นวันหยุดราชการ

พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 5

พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 5

การเลิกทาส

เป็นพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่ง ที่ทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสมัญญาว่า สมเด็จพระปิยมหาราช ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่า มีทาสในแผ่นดินเป็นจำนวนมาก และลูกทาสในเรือนเบี้ยจะสืบต่อการเป็นทาสไปจนรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างไม่มีที่ สิ้นสุด ถ้าไม่มีเงินมาไถ่ตัวเองแล้ว ต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต พระองค์จึงทรง มีพระทัยแน่วแน่ว่า จะต้องเลิกทาสให้สำเร็จ แม้จะเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะทาสมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ อีกทั้งเจ้านายที่เป็นใหญ่ในสมัยนั้นมักมีข้ารับใช้เมื่อไม่มีทาส บุคคลเหล่านี้อาจจะไม่พอใจและก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นเหมือนกับที่เกิด ขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงตราพระราชบัญญัติขึ้น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2417 ให้มีผลย้อนหลังไปถึงปีที่พระองค์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติมีบัญญัติว่า ลูกทาสซึ่งเกิดเมื่อปีมะโรง 2411 ให้มีสิทธิได้ลดค่าตัวทุกปี และพอครบอายุ 21 ปีก็ให้ขาดจากความเป็นทาส ทั้งชายและหญิง จากนั้นใน 2448 จึงได้ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) เลิกลูกทาสในเรือนเบี้ยอย่างเด็ดขาด เด็กที่เกิดจากทาส ไม่ต้องเป็นทาสอีกต่อไป และการซื้อขายทาสเป็นโทษทางอาญา ส่วนผู้ที่เป็นทาสอยู่แล้ว ให้นายเงินลดค่าตัวให้เดือนละ 4 บาท จนกว่าจะหมด

ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน ในเวลาเพียง 30 ปีเศษ ทาสในเมืองไทยก็หมดไปโดยไม่เกิดการนองเลือดเหมือนกับประเทศอื่น ๆ

การปฏิรูประบบราชการ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่าง ๆ มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะไม่ก้าวก่ายกัน จากเดิมมี 6 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงลาโหม, กระทรวงนครบาล, กระทรวงวัง,กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตราธิการ ได้เพิ่มอีก 4 กระทรวง รวมเป็น 10 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงธรรมการ มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกิจการของพระสงฆ์ และการศึกษา, กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับคดีความที่ต้องตัดสินต่าง ๆ , กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ดูแลตรวจตราการก่อสร้างการทำถนนขุดลอกคูคลอง งานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง และกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ

การสาธารณูปโภค

การประปา ทรงให้กักเก็บน้ำจากแม่น้ำเชียงรากน้อย จังหวัดปทุมธานี และขุดคลองเพื่อส่งน้ำเข้ามายังสามเสน พร้อมทั้งฝังท่อเอกติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นในเดือน กรกฎาคม 2452

การคมนาคม วันที่ 9 มีนาคม 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปขุดดินก่อพระฤกษ์ เพื่อประเดิมการสร้างทางรถไฟไปนครราชสีมา แต่ทรงเปิดทางรถไฟกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยาก่อน จึงนับว่าเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นทางรถไฟแห่งแรกของไทย

นอกจากนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพาน และถนนอีกมากมาย คือ ถนนเยาวราช ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ถนนดินสอ ถนนบูรพา ถนนอุณากรรณ เป็นต้น และโปรดให้ขุดคลองต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางคมนาคม และส่งเสริมการเพาะปลูก

การสาธารณสุข เนื่องจากการรักษาแบบยากลางบ้าน ไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงที จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200 ชั่ง โปรดเกล้าฯให้สร้างโรงพยาบาลวังหลัง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลศิริราช เปิดทำการรักษาประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน 2431

การไฟฟ้า พระองค์ทรงมอบหมายให้กรมหมื่นไวยวรนาถ เป็นแม่งานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนครั้งแรกเมื่อปี 2433

การไปรษณีย์ โปรดให้เริ่มจัดขึ้นในปี 2424 รวมอยู่ในกรมโทรเลข ซึ่งได้จัดขึ้นตั้งแต่ 2412 โดยโทรเลขสายแรกคือ ระหว่างจังหวัดพระนคร(กรุงเทพมหานคร) กับจังหวัดสมุทรปราการ

การเสด็จประพาส

การเสด็จประพาสเป็นพระราชกรณียกิจที่ สำคัญอันหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหลังจากเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสแล้วก็ได้เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง ในปี 2440 ครั้งหนึ่ง และในปี 2450 อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ตลอดจนประเทศฝรั่งเศสด้วย อีกทั้งยังได้ทรงเลือกสรรเอาแบบแผนขนบธรรมเนียมอันดีในดินแดนเหล่านั้นมา ปรับปรุงในประเทศให้เจริญขึ้น

ในการเสด็จประพาสครั้งแรกนี้ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาตลอดระยะทางถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรม ราชินีนาถ (ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชเทวี) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระราชหัตถเลขานี้ต่อมาได้รวมเป็นหนังสือเล่มชื่อ พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน ให้ความรู้อย่างมากมายเกี่ยวแก่สถานที่ต่าง ๆ ที่เสด็จไป

ส่วนภายในประเทศ ก็ทรงถือว่าการเสด็จประพาสในที่ต่าง ๆ เป็นการตรวจตราสารทุกข์สุขดิบของราษฎรได้เป็นอย่างดี พระองค์จึงได้ทรงปลอมแปลงพระองค์ไปกับเจ้านายและข้าราชการ โดยเสด็จฯ ทางเรือมาดแจวไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ เพื่อแวะเยี่ยมเยียนตามบ้านราษฎร ซึ่งเรียกกันว่า ประพาสต้น ซึ่งได้เสด็จ 2 ครั้ง คือในปี 2447 และในปี 2449 อีกครั้งหนึ่ง

การศึกษา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงโปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง คือ โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ต่อมาโปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม และในที่สุดได้โปรดให้จัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น เมื่อปี 2435 (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ)เพื่อดูแลเรื่องการศึกษาและการศาสนา

การปกป้องประเทศจากการสงครามและเสียดินแดน

เนื่องจากลัทธิจักรวรรดินิยมได้แผ่อิทธิพลเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลพระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ปรีชาสามารถอย่างสุดพระกำลังที่จะรักษาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤติ การณ์ ถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไปก็ตาม โดยดินแดนที่ต้องเสียให้กับต่างชาติ ได้แก่

  • 2431 เสียดินแดนในแคว้นสิบสองจุไทย
  • 2436 เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ให้ฝรั่งเศส และฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีไว้
  • 2447 เสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี แต่ฝรั่งเศสได้ยึดตราดไว้แทน
  • 2449 เสียดินแดนที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับตราด และเกาะทั้งหลาย

แต่การเสียดินแดนครั้งสุดท้ายนี้ไทยก็ได้ประโยชน์อยู่บ้าง คือฝรั่งเศสยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ยอมให้ศาลไทยมีสิทธิที่จะชำระคดีใด ๆ ที่เกิดขึ้นแก่ชาวฝรั่งเศส ไม่ต้องไปขึ้นศาลกงสุลเหมือนแต่ก่อน

ส่วนทางด้านอังกฤษ ประเทศไทยได้เปิดการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ รวมถึงเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตด้วย ในปี 2454 อังกฤษจึงยอมตกลงให้ชาวอังกฤษ หรือคนในบังคับอังกฤษมาขึ้นศาลไทย และยอมให้ไทยกู้เงินจากอังกฤษ เพื่อนำมาใช้สร้างทางรถไฟสายใต้จากกรุงเทพฯ ถึงสิงคโปร์ เพื่อตอบแทนประโยชน์ที่อังกฤษเอื้อเฟื้อ ทางฝ่ายไทยยอมยกรัฐกลันตัน ตรังกานูและไทยบุรี ให้แก่สหรัฐมลายูของอังกฤษ

พระราชนิพนธ์

มีพระราชนิพนธ์ ทั้งหมด 12 เรื่อง

  • ไกลบ้าน
  • ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน
  • พระราชนิพนธ์จดหมายเหตุรายวัน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประพาสเกาะชวาครั้งหลัง
  • เงาะป่า
  • นิทราชาคริต
  • พระราชพิธีสิบสองเดือน
  • กาพย์เห่เรือ
  • คำเจรจาละครเรื่องอิเหนา
  • ตำราทำกับข้าวฝรั่ง
  • พระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
  • โคลงบรรยายภาพรามเกียรติ์
  • โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

ลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น

  • 2411 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
  • 2412 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์
  • 2413 เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา, โปรดฯ ให้ยกเลิกการไว้ผมทรงมหาดไทย
  • 2415 ทรงปรับปรุงการทหารครั้งใหญ่, โปรดให้ใช้เสื้อราชปะแตน, โปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษแห่งแรกขึ้นในพระบรมหาราชวัง
  • 2416 ทรงออกผนวชตามโบราณราชประเพณี, โปรดให้เลิกประเพณีหมอบคลานในเวลาเข้าเฝ้า
  • 2417 โปรดให้สร้างสภาที่ปรึกษาราชการแผ่น ดิน, ตั้งโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง (ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) และให้ใช้อัฐกระดาษแทนเหรียญทองแดง
  • 2424 เริ่มทดลองใช้โทรศัพท์ครั้งแรก เป็นสายระหว่างกรุงเทพฯ–สมุทรปราการ, สมโภชพระนครครบ 100 ปี มีการฉลอง 7 คืน 7 วัน
  • 2426 โปรดให้ตั้งกรมไปรษณีย์ เริ่มบริการไปรษณีย์ในพระนคร, ตั้งกรมโทรเลข และเกิดสงครามปราบฮ่อครั้งที่ 2
  • 2427 โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนราษฎร์ทั่วไปตามวัด โรงเรียนแห่งแรกคือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม
  • 2429 โปรดฯ ให้เลิกตำแหน่งมหาอุปราช ทรงประกาศตั้งตำแหน่งมกุฏราชกุมารขึ้นแทน
  • 2431 เสียดินแดนแคว้นสิบสองจุไทให้แก่ ฝรั่งเศส, เริ่มการทดลองปกครองส่วนกลางใหม่, เปิดโรงพยาบาลศิริราช, โปรดฯให้เลิกรัตนโกสินทร์ศก โดยใช้พุทธศักราชแทน
  • 2434 ตั้งกระทรวงยุติธรรม, ตั้งกรมรถไฟ เริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา
  • 2436 ทรงเปิดเดินรถไฟสายเอกชน ระหว่างกรุงเทพฯ-ปากน้ำ, กำเนิดสภาอุนาโลมแดง (สภากาชาดไทย)
  • 2440 ทรงเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก
  • 2445 เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส
  • 2448 ตราพระราชบัญญัติยกเลิกการมีทาสโดยสิ้นเชิง
  • 2451 เปิดพระบรมรูปทรงม้า
  • 2453 เสด็จสวรรคต
พระบรมรูปทรงม้า

พระบรมรูปทรงม้า

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างอนุสาวรีย์ถวายเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระ เกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ผู้ทรงสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และเนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์นานถึง 40 ปี

พระบรมรูปทรงม้านี้ หล่อด้วยโลหะชนิดทองบรอนซ์ พระองค์ใหญ่กว่าขนาดจริงเล็กน้อย ประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนอันเป็นแท่นรองสูงประมาณ 6 เมตรกว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาว 5 เมตร ห่างจากฐานของแท่นออกมามีรั้วเตี้ย ๆ ลักษณะเป็นสายโซ่ขึงระหว่างเสาล้อมรอบกว้าง 9 เมตร ยาว 11 เมตร ที่แท่นด้านหน้ามีคำจารึกบนแผ่นโลหะติดประดับสรรญเสริญว่า คำจารึกฐานองค ์พระบรมรูปทรงม้า ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนากาลล่วงแล้ว 2451 พรรษา จำเดิมแต่พระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ได้ประดิษฐาน แลดำรงกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยาเป็น ปีที่ 127 โดยนิยม

สำหรับแบบรูปของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ได้จ้างช่างหล่อชาวฝรั่งเศส แห่งบริษัทซูซ เซอร์เฟรส ฟองเดอร์เป็นผู้หล่อ ณ กรุงปารีส เลียนแบบพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ประดิษฐานอยู่หน้าพระราชวังแวร์ซายส์ ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จ พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ในปี 2450 พระองค์ได้เสด็จประทับให้ช่างปั้นพระบรมรูป เมื่อวันที่ 22 สิงหคม ศกนั้นพระบรมรูปเสร็จเรียบร้อย และส่งเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ในทางเรือ

เมื่อปี 2451 โปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ พระลานหน้าพระราชวังดุสิต ระหว่างพระราชวังสวนอัมพรกับบสนามเสือป่า ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปนี้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2451 ตรงกับวันพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกครองราชสมบัติได้ 40 ปี

เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระบรมรูปทรงม้า ขึ้นประดิษฐานบนแท่นรองที่หน้าพระลานพระราชวังดุสิต ที่ประจักษ์อยู่ในปัจจุบันนี้ โดย พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงอ่านคำถวายพระพรชัยมงคล เสร็จแล้วจึงน้อมเกล้าฯ ถวายพระบรมรูปทรงม้า กราบบังคมทูลอัญเชิญให้พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช พระราชบิดาให้ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อประกาศเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ให้สถิตสถาพรปรากฏสืบไปชั่วกาลนาน

พระบรมราชอิสริยยศและพระเกียรติยศ

พระบรมราชอิสริยยศและพระเกียรติยศ

พระอิสริยยศ

  • พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
  • สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ
  • สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ
  • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว
  • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชลัญจกรประจำพระองค์

พระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เป็นตรางา ลักษณะกลมรี กว้าง 5.5 ซ.ม. ยาว 6.8 ซ.ม. โดยมีตรา พระเกี้ยว หรือ พระจุลมงกุฏ ซึ่งประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า 2 ชั้น มีฉัตรบริวารตั้งขนาบทั้ง 2 ข้าง ถัดออกไปจะมีพานแว่นฟ้า 2 ชั้น ทางด้านซ้ายวางสมุดตำรา และทางด้านขวาวางพระแว่นสุริยกานต์เพชร โดยพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเป็นการเจริญรอยจำลองมาจากพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การสร้างพระลัญจกรประจำพระองค์นั้น จะใช้แนวคิดจากพระบรมนามาภิไธยก่อนทรงราชย์ นั่นคือ จุฬาลงกรณ์ ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับศีรษะ หรือ จุลมงกุฎ ดังนั้น จึงเลือกใช้ พระเกี้ยว หรือ จุลมงกุฎ มาใช้เป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์

พระพุทธรูปประจำพระองค์

พระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระพุทธรูปปางห้ามพระแก่นจันทน์ ซึ่งโปรดให้สร้างขึ้นแทน ปางไสยาสน์เพราะทรงพระราชสมภพวันอังคาร โดยทรงให้สร้างขึ้นในราวปี 2466–2453 สร้างด้วยทองคำ ความสูงรวมฐาน 34.60 เซนติเมตร พระพุทธรูปประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง เหนือพระเศียรกางกั้นด้วยฉัตรปรุทอง 3 ชั้น สร้างราว 2453-2468 หน้าตักกว้าง 7.2 นิ้ว สูงเฉพาะองค์พระ 11.8 ซ.ม. สูงรวมฉัตร 47.3 ซ.ม.

คาถาสักการะบูชา ร.5

พระคาถาบูชาพระพุทธเจ้าหลวง แบบย่อ

“พระสะยามะมินโท วะโร อิติ พุทธะสังมิ อิติ อะระหัง สะหัสสะกายัง วะรัง พุทโธ นะโม พุทธายะ” หรือแบบเต็ม “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตัง พุทธะปิติอิ พระสะยามะมินโท วะโร อิติ พุทธะสังมิ อิติ อะระหัง สะหัสสะกายัง วะรัง พุทโธ นะโม พุทธายะ มาสีสะมานัง”

พระคาถาอธิษฐานขอพร แต่ห้ามบนบาน

“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ) พระสยามะมินโท วะโร อัตตัง พุทธะสังมิ อิติ อะระหัง วะรัง พุทโธ นะโม พุทธายะ ปิโย เทวามนุสสานัง”

จงเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ปิโย นาคะสัมปันนานัง จงบังเกิดความรักที่มีอนุภาคสูงสุด ปิโย พรหมานะมุตตะโม จงบังเกิดความรักกับผู้มีอำนาจท่านท้าวมหาพรหม เจ้าจอม อินทรา นาค ครุฑ และคนธรรพ์ ปินันทิยัง นะมามินัง ความรัก ความยินดี ความเมตตา จงบังเกิดในเรือนร่างข้าพเจ้าทุกส่วนแม้ปลายเส้นผม

“ปิยะ มะมะ นะโม พุทธายะ (5 จบ) ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้า (นาย นาง นางสาว) ชื่อ…นามสกุล… ต้องการให้พระองค์ท่านช่วยเรื่อง… อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะ นาเมอิ อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตัง พุทธะปิติอิ ปิยะ มะมะ นะโม พุทธายะ (3 จบ) พระพุทธเจ้าขอรับด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะขอให้บุญบารมีขององค์เสด็จพ่อ ร.5 สูงยิ่ง ๆ ขึ้น และแกร่งกล้ายิ่ง ๆ ขึ้น”

เครื่องสักการะให้ถวาย

  1. น้ำมะพร้าวอ่อน
  2. กล้วยน้ำว้า
  3. ทองหยิบ
  4. ทองหยอด
  5. บรั่นดี
  6. ซิการ์
  7. ข้าวคลุกกะปิ
  8. ดอกกุหลาบสีชมพู

Advertisement

กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม
Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button
Shopee