วันนี้ในอดีต

10 กรกฎาคม วันเกิด ทมยันตี ผู้เขียนนิยายชื่อดัง คู่กรรม

10 กรกฎาคม 2480 วันเกิด วิมล ศิริไพบูลย์ เจ้าของนามปากกา “ทมยันตี” ผู้เขียนนิยายชื่อดัง “คู่กรรม”

ทมยันตี

ทมยันตี เป็นนามปากกาของ คุณหญิงวิมล เจียมเจริญ (นามสกุลเดิม ศิริไพบูลย์) เกิด 10 กรกฎาคม 2480 เป็นนักประพันธ์นวนิยาย ผลงาน เช่น คู่กรรม, ทวิภพ, ค่าของคน, อุบัติเหตุ, ดาวเรือง, ล่า, เวียงกุมกาม, นากพัทธ์, พิษสวาท, ดั่งดวงหฤทัย, คำมั่นสัญญา, พี่เลี้ยง, เลือดขัตติยา,ใบไม้ที่ปิดปลิว และอื่นๆ ซึ่งมีการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายยุคหลายสมัย

วิมล ได้ชื่อว่ามีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับฝ่ายทหาร และมักสนับสนุนระบอบทหาร โดยเฉพาะในช่วง เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 วิมลมีบทบาทเป็นแกนนำสำคัญของชมรมแม่บ้าน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพล และแม่บ้าน กับทั้งเคยปราศรัยโจมตีขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยว่า เป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว วิมลได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

นอกจากความสัมพันธ์กับฝ่ายทหารในด้านหน้าที่การงานแล้ว ในด้านความประพฤติส่วนตัวนั้น วิมล ขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ยังเคยถูกศาลฎีกาพิพากษาว่าเป็นชู้กับนายทหารซึ่งเป็นเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาด้วยกัน และให้หย่าขาดจากสามีด้วย คดีนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ คดีทมยันตี หรือ คดีชู้รักบันลือโลก

คู่กรรม

คู่กรรมเป็นนวนิยายแนวโศกนาฏกรรมและวีรคติ ประพันธ์โดย ทมยันตี ดำเนินเรื่องที่มีฉากหลังในประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้ประพันธ์ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อราวปี 2508 จากการเดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรี และเข้าเยือนสุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรักที่ทอดร่างของเหล่าทหารสัมพันธมิตร โดยสะดุดใจเมื่อเห็นคำจารึกถึงบนหลุมศพทหารสัญชาติเนเธอร์แลนด์คนหนึ่ง เมื่อสอบถามดู ได้ความว่าเป็นลูกชายเพียงคนเดียวของครอบครัวที่มาเสียชีวิตลงที่ประเทศไทย โดยที่ผู้เป็นพ่อแม่มิอาจมาร่วมฝังศพของลูกชายได้

คู่กรรม เขียนขึ้นในปี 2508 ตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารศรีสยาม (ในเครือนิตยสารขวัญเรือน) และรวมเล่มเป็นครั้งแรกในปี 2512 แล้วตีพิมพ์มาหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน มีภาคต่อคือ คู่กรรม 2 ถือว่าเป็นบทประพันธ์ที่ชื่อเสียงมากที่สุดเรื่องหนึ่งของทมยันตีเลยทีเดียว

คู่กรรม ได้รับการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์แล้วหลายครั้ง เริ่มจาก ช่อง 4 บางขุนพรหม เป็นละครถึง 2 ครั้ง ในปี 2513, 2515 และต่อมาทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ในปี 2521

ครั้งสำคัญเป็นละครทางช่อง 7 สี ในปี 2533 เป็นละครที่สร้างประวัติศาสตร์เรตติ้งสูงสุดอันดับ 1 ของเมืองไทยตลอดกาล เรตติ้ง 40 เรื่องนี้ได้รับรางวัลทั้งเมขลาและโทรทัศน์ทองคำในปีเดียวกัน หลังจากนั้นได้นำมาสร้างใหม่เป็นละครทางช่อง 3 ในปี 2547 (มีภาคต่อคือ คู่กรรม 2) ล่าสุดเป็นละครทางช่อง 5 ในปี 2556

คู่กรรม นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 4 ครั้ง ในปี 2516, 2531, 2538 และ 2556 ซึ่งทั้ง 2 ครั้ง (ปี 2531 และ 2538) ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลตุ๊กตาทองไปทั้งคู่ และเคยดัดแปลงเป็นละครเวที โดยค่ายดรีมบอกซ์ กลางปี 2547 แสดงที่โรงละครกรุงเทพ และกลางปี 2550 แสดงที่ โรงละครกรุงเทพเมโทรโพลิส

นอกจากนี้แล้ว คู่กรรม ยังเป็นที่รู้จักกันดีถึงประเทศญี่ปุ่นด้วย จนถึงกับมีการแต่งเป็นนวนิยายเนื้อหาคล้ายคลึงกันของนักประพันธ์ชาวญี่ปุ่น โดยในฉบับของญี่ปุ่นนี้ ตัวละครเอกได้เปลี่ยนชื่อเป็น โอโมริ กับ กันยา

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button