วันนี้ในอดีต

27 ตุลาคม ประกาศเลิกใช้ เงินพดด้วง

27 ตุลาคม 2447 ประกาศเลิกใช้ เงินพดด้วง ทุกชนิด เนื่องจากความต้องการเงินตราไทยมีมากเพราะการค้าระหว่างประเทศขยายตัว การผลิตเงินพดด้วงไม่ทันใช้ รัชกาลที่ 5 จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกประกาศลงวันที่ 27 ตุลาคม 2447 มีความสำคัญว่า ได้โปรดให้สั่งว่า เงินพดด้วงซึ่งได้จำหน่ายออกจากพระคลังฯ ใช้กันแพร่หลายอยู่ในพระราชอาณาจักรเวลานี้ มีลักษณะปลอมแปลงได้ง่าย สมควรให้เลิกใช้เงินพดด้วงเสีย โดยตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2447 เป็นต้นไป ให้เลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด ยกเป็นเงินตราที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เงินพดด้วง

ราชอาณาจักรสุโขทัย ล้านนา กรุงศรีอยุธยา ได้ผลิตคิดค้นเงินตราขึ้นใช้ในระบบเศรษฐกิจ พร้อมกันนั้นก็ยอมรับเงินตราของต่างชาติด้วย เงินตราที่ใช้ในอาณาจักรล้านนา ได้แก่ เงินไซซี เงินกำไล เงินเจียง เงินท้อก เงินดอกไม้ ส่วนราชอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาได้ผลิตเงินพดด้วง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตนเองขึ้นใช้ และใช้เบี้ยหอยแทนเงินปลีกย่อย บางครั้งเบี้ยหอยขาดแคลนก็ได้ผลิตเบี้ยโลหะและประกับดินเผาขึ้นใช้ร่วมด้วย

ภายหลังราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาสลายลง กรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ถือกำเนิดขึ้นตามลำดับ ก็ยังคงใช้เงินพดด้วงเช่นครั้งกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 การเปิดประเทศสยามสู่อารยประเทศ มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเงินตราให้เป็นสากล นำไปสู่การผลิตเงินตราในลักษณะเหรียญกลมแบนออกใช้เป็นครั้งแรก ต่อมารัชกาลที่ 5 จึงทรงประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วง นับตั้งแต่นั้นเงินตราไทยจึงคงเป็นลักษณะเป็นเหรียญกลมแบนต่อเนื่องมาจนถึง ปัจจุบัน

วิวัฒนาการเงินตราไทย

วิวัฒนาการเงินตราไทย เริ่มตั้งแต่กลุ่มชนดั้งเดิมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันตั้งแต่ราว 38,000 ปีมาแล้ว ก่อนจะได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียนั้น กลุ่มชนเหล่านี้ติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน โดยใช้สิ่งของเป็นสื่อกลาง เมื่อวัฒนธรรมอินเดียแพร่เข้ามาจึงเริ่มผลิตเงินตราเป็นสื่อกลางค้าขาย

ช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-16 ในวัฒนธรรมแบบฟูนัน-ทวารวดี ได้ผลิตเหรียญกลมแบนจากโลหะเงิน ดีบุก ทองแดง โดยใช้แม่พิมพ์ตราสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น พระอาทิตย์ สังข์ แพะ ปูรณกลศ ตัวอักษร เป็นต้น ซึ่งสื่อถึงความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ อำนาจรัฐ กษัตริย์ และความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์

ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 อาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเป็นเมืองท่าค้าขายบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทยมีอำนาจควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเล มีการผลิตเงินดอกจันทน์และเงินนโม เพื่อระบบเศรษฐกิจอย่างแพร่หลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ราชอาณาจักรสุโขทัยและล้านนาก็ถือกำเนิดขึ้นและได้ติดต่อค้าขายกับราชอาณาจักรในลุ่มเจ้าพระยา คือ กรุงศรีอยุธยา ตลอดจนดำเนินการค้าทางทะเลกับจีน อินเดีย ยุโรป และได้ติดต่อค้าขายกับกลุ่มชนทางตอนเหนือของไทย เช่น ล้านช้าง ยูนาน น่านเจ้า เป็นต้น และไปไกลถึงเปอร์เซีย อาหรับ ในดินแดนตะวันออกกลาง

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button