วันสำคัญ

วันนักประดิษฐ์ มีความสำคัญอย่างไรมาดูกัน

วันนักประดิษฐ์ (Thailand Inventors Day) คือวัน 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ประวัติวันนักประดิษฐ์ และความสำคัญวันนักประดิษฐ์ มีความสำคัญอย่างไรมาดูกัน

วันนักประดิษฐ์

วันนักประดิษฐ์ของไทย ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ทั้งนี้เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ กังหันชัยพัฒนา และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 และเพื่อเป็นที่ระลึกในวาระการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่พระมหากษัตริย์ พระองค์แรกของโลก

ที่มาและความสำคัญ

ตามมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ได้กำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันนักประดิษฐ์” เพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ในการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และเป็นครั้งแรกของโลกรวมทั้งทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และสังคมส่วนรวมได้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงาน “วันนักประดิษฐ์” มาแล้ว เป็นครั้งที่ 20 ซึ่งในปีพุทธศักราช 2562 จะถือเป็นการจัดงาน ครั้งที่ 21 เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม พร้อมใช้และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศให้เกิดการขยายผลและนำไปใช้ประโยชน์ในมิติ ต่าง ๆ สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2560 – 2579) และเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ในการนำการวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมของประเทศ ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อความก้าวไกลของประเทศไทย”

งานวันนักประดิษฐ์

งานวันนักประดิษฐ์

วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันนักประดิษฐ์

  • เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ที่ทรงพระปรีชาสามารถประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ
  • เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรถวายแด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก
  • เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานของนักประดิษฐ์ไทยให้เป็นที่รู้จัก
  • เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเทคโนโลยีอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
  • เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและประสานประโยชน์ระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์คิดค้น
  • เพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจแก่นักประดิษฐ์เยาวชนและประชาชนทั่วไปในอันที่จะแสดงความรู้ความสามารถต่อสาธารณชน
  • เพื่อจะได้ทำการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น
  • เพื่อประกาศเกียรติคุณแก่นักประดิษฐ์ที่มีความสามารถ และนำผลงานของนักประดิษฐ์ออกเผยแพร่ใช้งานได้อย่างจริงจังกิจกรรมที่จัดให้มีขึ้นภายในงาน

สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการเกษตร

สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการเกษตรประกอบด้วยผลงานสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร อาทิ อุปกรณ์ เครื่องมือเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร การขนส่ง/โลจิสติกส์ ของสินค้าอาหารและสินค้า เกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกล อุปกรณ์ทางการเกษตร บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์ อาหารและผลิตภัณฑ์เกษตร เกษตรแปรรูปและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อพลังงาน

สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อพลังงานประกอบด้วยผลงานสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน อาทิเทคโนโลยีในการผลิต พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือกพลังงานสะอาด เครื่องมืออุปกรณ์ที่ช่วยลดการใช้พลังงาน ช่วยประหยัด พลังงานการนำของเสียกลับมาใช้เป็นพลังงาน เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเชื้อเพลิง จากพืชนำามันที่ปลูกได้ในประเทศ เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่ง และ ภาคอุตสาหกรรมและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม

สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมประกอบด้วย ผลงานสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางอุตสาหกรรมภาคและบริการผลิต อาทิ เครื่องจักรกลอโนมัติ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหุ่นยนต์ การเชื่อมต่อของสรรพสิ่ง Internet of Things (IoT) ปัญญาประดิษฐ์ Artificial intelligence (AI) และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข

สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการแพทย์และสาธารณสุขประกอบด้วย ผลงาน สิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยที่ดีต่อไป อาทิ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เครื่องมือ อุปกรณ์ ชุดทดสอบทางการแพทย์และสาธารณสุข ผลิตภัณฑ์เวชสำอางค์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม นวัตกรรมเพื่อลดอุบัติเหตุ ลดอัตราการตาย นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ นวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางกายและทางจิต และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย ผลงาน สิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริม การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทางทรัพยากรต่าง ๆ การป้องกันและปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติ อาทิ เครื่องมือเทคโนโลยีในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ การลดปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ เช่นอุทกภัย วาตภัย ไฟป่า การลดมลภาวะทางอากาศเช่นปัญหาหมอกควัน การจัดการสิ่งแวดล้อมและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการศึกษาและภูมิปัญญาไทย

สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการศึกษาและภูมิปัญญาไทยประกอบด้วยผลงาน สิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการยกระดับเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนในสังคม การส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพต่อการเรียนการสอนสื่อทางอาทิสื่อ การศึกษาสื่อการเรียนรู้ เกมส์ ของเล่น กิจกรรมสันทนากาเทคโนโลยีที่ช่วยอนุรักษ์ สืบสานต่อยอด ภูมิปัญญาไทยและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงปลอดภัย

สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงปลอดภัยประกอบด้วย ผลงาน สิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์สนาม เครื่อง สื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์การป้องกันและรับมือการก่อการร้ายและการคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ การรักษาความ สงบเรียบร้อยภายในมิติพื้นที่ อาทิ ชายแดน ชายฝั่งทะเล และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

วันนักประดิษฐ์โลก

สมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (ไอเฟีย) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงบูดาเปสต์ สาธารณรัฐฮังการีได้ร่วมกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็น “วันนักประดิษฐ์โลก” (International inventor’s day convention: IIDC) ขึ้นด้วย โดยจัดในปี 2551 เป็นครั้งแรก เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมายุครบ 80 พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และยกย่องในพระอัจฉริยภาพการเป็นนักประดิษฐ์ของพระองค์ท่าน

ทั้งนี้ เมื่อปี 2550 ประธานไอเฟียได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลไอเฟียคัพพร้อมใบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ (IFIA Cup) และเหรียญรางวัลจีเนียสไพรซ์ (Genius Prize) พร้อมด้วยผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ หรือคิปา (KIPA) ได้ถวายรางวัลสเปเชียลไพรซ์พร้อมประกาศนียบัตร (Special Prize) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

การมอบรางวัลจากทั้ง 2 องค์กรข้างต้นเพื่อเทิดพระเกียรติให้แด่ผลงานประดิษฐ์คิดค้นในพระองค์ 3 ชิ้นคือ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ซึ่งทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 36 ที่ต่อมาถือให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์ของไทย ส่วนอีก 2 ผลงานคือผลงานเรื่อง “ทฤษฎีใหม่” และ ผลงานเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง”

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่เหนือนักประดิษฐ์จากทั่วโลกทั้งหมด ทรงเป็นพระบิดาแห่งการประดิษฐ์โลก นั่นเป็นสาเหตุที่เรากำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์โลก” เลขาธิการ วช.กล่าว

กังหันน้ำชัยพัฒนา

กังหันน้ำชัยพัฒนา

กังหันน้ำชัยพัฒนา เป็น กังหันน้ำเพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำแก่ปวงชน ทำงานโดย การหมุนปั่น เพื่อเติมอากาศให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี สามารถประยุกต์ใช้บำบัดน้ำเสีย จากการอุปโภคของประชาชน น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มออกซิเจน ให้กับบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร

ประวัติ โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา

กังหันน้ำชัยพัฒนาสร้างขึ้น เพื่อการแก้มลพิษทางน้ำซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ วิวัฒนาการของกังหันน้ำชัยพัฒนานั้น เริ่มจากการสร้างต้นแบบได้ครั้งแรกในปี 2532 แล้วนำไปติดตั้งยังพื้นที่ทดลองเพื่อแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการวิจัย และพัฒนากังหันน้ำ ซึ่งโครงสร้างและส่วนประกอบ ในส่วนที่เป็นปัญหา ได้รับการแก้ไขมาโดยตลอด นับแต่มีการสร้างเครื่องต้นแบบ

ในด้านโครงสร้างนั้นได้พัฒนาให้กังหันน้ำหมุนด้วยความเร็ว 1,450 รอบต่อนาที โดยที่ซองตักน้ำหมุนด้วยความเร็ว 5 รอบต่อนาที ขับด้วยมอเตอร์ขนาด 2 แรงม้า และมีการปรับปรุง โครงสร้างในรูปแบบต่างๆ เช่น ออกแบบตัวเครื่องให้สามารถ ขับเคลื่อนด้วยคนเพื่อใช้ในแหล่งน้ำ ที่ไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ถึง เป็นต้น ด้านประสิทธิภาพสามารถถ่ายเทออกซิเจนลงน้ำได้ 0.9 กิโลกรัมต่อแรงม้า-ชั่วโมง และมีการพัฒนาให้ถ่ายเทออกซิเจนได้ 1.2 กิโลกรัมต่อแรงม้า-ชั่วโมง

ประโยชน์ โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา

ตามทฤษฎีเครื่องกลเติมอากาศ นับว่าการเติมอากาศหรือออกซิเจนเป็นหัวใจของระบบบำบัดน้ำเสีย เพราะถ้ามีออกซิเจนอยู่มาก จุลินทรีย์ก็สามารถบำบัดน้ำได้ดี และบำบัดน้ำเสียได้มากขึ้น แต่ที่ความดันบรรยากาศซึ่งเป็นความดันที่ค่อนข้างต่ำ สำหรับออกซิเจนในการละลายน้ำ จึงต้องมีการเพิ่มพื้นที่สัมผัส ระหว่างอากาศกับน้ำให้ได้มากที่สุด

กังหันชัยพัฒนา เป็น กังหันน้ำที่มีโครงเป็นรูปเหลี่ยมบนทุ่นลอย และมีซองตักวิดน้ำซึ่งเจาะเป็นรูพรุน เราจึงเห็นสายน้ำพรั่งพรู จากซองวิดน้ำขณะที่กังหันหมุนวนเวียน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ใช้หลักการวิดน้ำขึ้นไปสาดกระจายให้เป็นฝอยในอากาศ ทำให้น้ำสัมผัสกับอากาศได้อย่างทั่วถึง ส่งผลให้ปริมาณ ออกซิเจนในอากาศสามารถ ละลายผสมผสาน เข้าไปในน้ำได้อย่างรวดเร็ว ทุกครั้งที่น้ำถูกตักขึ้นมา ออกซิเจนในอากาศจะละลายในน้ำได้ดีขึ้น เพราะพื้นที่ในการทำปฏิกิริยามีมากกว่าเดิม ทำให้น้ำเสีย ซึ่งเป็นปัญหาของแหล่งน้ำในหลายพื้นที่ มีคุณภาพที่ดีขึ้น

การเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำจะช่วยให้จุลินทรีย์ย่อยสลายสิ่งสกปรกในน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการทางชีวภาพ ที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ และใช้ค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียน้อย และแหล่งน้ำเสียที่กระจายไปตามแหล่งต่างๆ จึงทำให้ยากแก่การรวบรวมน้ำเสีย เพื่อนำไปบำบัดในโรงบำบัดน้ำเสีย และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

การประยุกต์ใช้งานสามารถใช้ประโยชน์เพื่อเติมอากาศให้กับน้ำหรือใช้เพื่อขับเคลื่อนน้ำได้ โดยการใช้งานทั้งในรูปแบบ ที่ติดตั้งอยู่กับที่ และใช้ในรูปแบบเคลื่อนที่ เพื่อเติมอากาศให้กับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือตามคลองส่งน้ำที่มีความยาวมาก ซึ่งดัดแปลงได้ด้วยการใช้พลังงาน จากเครื่องยนต์ของกังหัน

อ่านต่อ

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button