วันสำคัญ

13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก รักแท้ในป่าใหญ่ นกเงือก

วันรักนกเงือก ตรงกับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี นกเงือก เป็นสัตว์ที่รักเดียวใจเดียว และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ รักษาความสมบูรณ์ของผืนป่า มารู้จัก ประวัติ นิสัย อาหาร และ ความรักของนกเงือกกัน

ประวัตินกเงือก

ประวัตินกเงือก

นกเงือก (ภาษาอังกฤษ: Hornbills) คือ นกขนาดใหญ่ เป็นนกที่เชื่อว่าถือกำเนิดมานานกว่า 45 ล้านปีมาแล้ว ส่วนมากมักจะมีขนสีดำสลับขาว ทั่วโลกมี 55 ชนิด มีการแพร่กระจายอยู่ในแถบเขตร้อน ของทวีปอัฟริกา และเอเชีย นกเงือกเป็นนกผัวเดียวเมียเดียว มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขังตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่เลี้ยงลูก

ลักษณะนกเงือก

ลักษณะนกเงือก

นกเงือก เป็นนกป่าขนาดใหญ่ ที่มีจุดเด่น คือ จะงอยปากหนาที่ใหญ่และมีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง ภายในโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ ส่วนใหญ่ลำตัวมีสีขาวดำหางยาว ปีกกว้างใหญ่ บินได้แข็งแรง เวลาบินจะโบกปีกช้า ๆ กินผลไม้เป็นอาหารหลัก และสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ เป็นอาหารเสริม ทำรังในโพรงไม้ ตัวเมียจะเข้าไปกดไข่ในโพรงโดยใช้โคลนและมูลปิดปากโพรงไว้ เหลือเพียงช่องพอให้ตัวผู้อื่นส่งอาหารเข้าไปได้ เมื่อลูกนกโตพอแล้ว จึงเจาะโพรงออกมา และจากจะงอยปากและส่วนหัวที่ใหญ่เหมือนโหนกหรือหงอนนั้น ทำให้นกเงือกถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาแต่โบราณ โดยใช้ทำเป็นเครื่องประดับของชนเผ่าต่าง ๆ

นิสัยนกเงือก

นิสัยนกเงือก

นิสัยนกเงือกเป็นนกที่สะอาดสะอ้าน นกเงือกยังมีอุปนิสัยเลือกเก็บเฉพาะผลสุก ซึ่งผลสุก จะมีเมล็ดที่สมบูรณ์ และยังเก็บกักตุนได้คราวละหลายผล แล้วไปขย้อนเมล็ดที่สมบูรณ์ออกทิ้ง ขณะกำลังบินหรือระหว่างเกาะพัก ตามต้นไม้ โดยจะขย้อนเมล็ดครั้งละ 1 หรือ 2 เมล็ด นอกจากนี้ นกเงือกยังบินเป็นระยะทางไกล ครอบคลุมพื้นที่กว้างมาก โดยเฉพาะนอกฤดูทำรัง แต่ละเดือนนกเงือกบินไปมาในป่าครอบคลุมพื้นที่ โดยเฉลี่ย 96 ตารางกิโลเมตร หรือ 60,000 ไร่ ทำให้เกิดการแพร่กระจายออกไป แต่ก็มีนกบางชนิดจิกกินเฉพาะเนื้อผลไม้ และปล่อยให้เมล็ดร่วงหล่นอยู่ใต้ต้นนั่นเอง

ตัวอย่างแสดงประสิทธิภาพการปลูกป่าโดยนกเงือกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยลูกนกเงือก 4 ชนิด จำนวน 80 ตัว จะเห็นว่า เป็นการบริการเพาะกล้าไม้และปลูกป่าให้เปล่า ที่ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ คือมีความหลากหลายด้วย หรืออีกนัยหนึ่ง นกเงือก คือ “นักปลูกป่า” (Farmer of the forest) มืออาชีพโดยแท้

อาหารของนกเงือก

อาหารของนกเงือก

อาหารและสารอาหารที่นกเงือก 4 ชนิดกินในฤดูทำรังที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้แก่ นกกก และนกเงือกกรามช้าง กินผลไทรมากที่สุด คือ ร้อยละ 56 และร้อยละ 52 ตามลำดับ ส่วนนกแก๊กและนกเงือกสีน้ำตาลคอขาว กินผลไทรร้อยละ 32 และร้อยละ 26 ตามลำดับ ทั้งนี้ แล้วแต่ชนิดนกเงือกและประเภทป่าถิ่นอาศัย โดยพ่อนกจะป้อนอาหาร จำพวกสัตว์เป็นอาหารเสริมตอนช่วงที่ลูกนกกำลังโต จะเห็นว่า นกเงือกสีน้ำตาลคอขาวนั้นกินอาหารจำพวกสัตว์สูงมากเกือบร้อยละ 40 เพราะนกเงือกสีน้ำตาลคอขาวเลี้ยงลูกมากกว่า 1 ตัว จึงต้องการอาหารโปรตีนสูง ส่วนนกเงือกกรามช้างได้สารอาหารโปรตีน จากสัตว์ ค่อนข้างต่ำ แต่ได้จากผลไม้เป็นส่วนใหญ่

นกเงือกคู่รัก

นกเงือกคู่รัก

ชีวิตรักของนกเงือกเริ่มราวกลางเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ เราจึงจะเห็นนกเงือกอยู่ด้วยกันเป็นคู่ ส่วนใหญ่แล้วตัวผู้จะหารัง ตัวเมียจะคอยติดตามไปดูด้วยและตัดสินใจว่าพอใจโพรงนี้รึเปล่า เพราะตนจะต้องอยู่ในโพรงนี้อีกหลายเดือน

โพรงรังของนกเงือกส่วนใหญ่จะพบในต้นไม้ตระกูลยางมากที่สุด โดยขนาดของต้นไม้ที่มีโพรงใหญ่พอ ปากโพรงจะต้องไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไปขนาดพอดี ๆ ความสูงของเพดานรังกว่า 1 เมตร ขึ้นไป พื้นโพรงรังต้องไม่ลึกต่ำกว่าขอบประตูล่างมากนัก ความกว้างภายในโพรงใหญ่พอประมาณ โดยปกตินกเงือกจะใช้โพรงปีแล้วปีเล่า หากโพรงนั้นยังเหมาะสมอยู่ ตัวผู้จะเชิญชวนตัวเมียให้เข้าไปดูรังด้วยการโผบินไปเกาะปากโพรง แล้วยื่นหัวเข้าไปสำรวจภายใน บินเข้าออกหลายครั้ง ในขณะเดียวกันก็เกี้ยวพาราสีกันด้วย ตัวผู้จะกระแซะเข้าใกล้ตัวเมียและพยายามป้อนอาหารซึ่งได้แก่ ผลไม้ให้ตัวเมีย บางคู่อาจใช้เวลานานหลายวันกว่าตัวเมียจะสนใจและยอมบินมาดูรัง

เมื่อคิดว่าโพรงที่เหมาะเป็นที่ถูกใจแล้วตัวเมียจะเริ่มงานทันที ถ้าปากโพรงแคบไปเนื่องจากการเจริญเติบโตของต้นไม้นกจะเจาะปากโพรงให้กว้างอีกเล็กน้อย กะเทาะวัสดุปิดรังเก่า ๆ ออก แล้วจะมุดเข้าไปในโพรง จากนั้นตัวเมียจะทำความสะอาดภายในโพรงโดยการคาบเศษเมล็ดผลไม้เก่า ๆ เศษขนของปีก่อนโยนทิ้ง แล้วเริ่มปิดปากโพรงเสียใหม่ วัสดุที่หาได้จะถูกผสมกับมูลของตัวเมียรวมทั้งอาหารที่สำรอกออกมาแล้วพอกลงบนปากโพรงที่เปรียบเหมือนประตู โดยใช้จะงอยปากด้านข้างตีให้ติดกัน เมื่อวัสดุนี้แห้งจะแข็งและเหนียวมาก ตัวผู้อาจช่วยหาวัสดุ เช่น ดิน หรือเปลือกไม้มาให้ แล้วแต่ชนิดของนกเงือกว่าชอบประตูที่ทำด้วยวัสดุอะไร เช่น นกกกใช้เปลือกไม้ เศษไม้ผุ ๆ เศษอาหารแต่ไม่ใช้ดินเลย

ตรงข้ามกับนกแก๊กจะใช้ดินเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ตัวผู้จะคอยเฝ้าเป็นเพื่อนอยู่ข้างนอกเกือบตลอดเวลา และคอยป้อนอาหารหลังจากตัวเมียเสร็จงานปิดโพรงในแต่ละวัน บางคู่จะส่งเสียงเบา ๆ ราวกับปลอบประโลมให้ตัวเมียอุ่นใจ และเมื่อหากตัวผู้แวบหายไปชั่วครู่ชั่วยาม ตัวเมียจะละงานปิดโพรงตามไปทันที ตัวผู้จะต้องพากลับมาที่โพรงอีกจะใช้เวลาปิดปากโพรงอยู่ราว 3-7 วัน

เมื่อตัวเมียขังตัวเองอยู่ภายในโพรงเรียบร้อยแล้ว ตัวผู้จะทำหน้าที่ดูแลอย่างเคร่งครัดน่ายกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นเยี่ยงอย่างที่ดี ในระยะแรกๆ ในการทำรังคือช่วงตัวเมียฝักไข่ การป้อนอาหารจะไม่บ่อยนัก ราววันละ 2-3 ครั้ง อาหารส่วนมากจะเป็นพวกผลไม้ ระยะนี้ตัวผู้พอมีเวลาให้กับตัวเองบ้างก็จะแต่งตัวให้หล่ออยู่เสมอ ส่วนตัวเมียก็จะถือโอกาสนี้ผลัดขนเสียใหม่

เมื่อเวลาผ่านไปราว 5-7 สัปดาห์ ลูกนกจะฝักออกเป็นตัว ตัวผู้ต้องรับภาระหนักมาก พ่อนกจะเริ่มหน้าที่ของตนตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนหลังพระอาทิตย์ตก การป้อนอาหารจะถี่ขึ้นเรื่อย ๆ วันละ 10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น ชนิดอาหารที่นำมาป้อนจะมีความหลากหลายมากขึ้น มีผลไม้ป่าอื่น ๆ นอกจากไทร เช่น ส้มโมง สุรามะริด กำลังเลือดม้า ตาเสือเล็ก ตาเสือใหญ่ หว้า มะหาด ขี้ตุ่น ยางโดน มะเกิ้ม พิพวนป่า มะขามแป พญาไม้ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังต้องหาอาหารเสริมโปรตีนมาเลี้ยงลูก เช่น แมลงนานาชนิด สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู กิ้งก่า ปลา ปู กบ เขียด กิ้งกือ ไส้เดือน นก ไข่และลูกนก หนู กระรอก ค้างคาว เป็นต้น การหาอาหารต้องเป็นไปตามแหล่งผลไม้สุก สำรวจตามโพรงไม้เพื่อหาสัตว์ที่อาศัยอยู่ในโพรง เช่น กระรอกบิน หากจับได้ก็จะนำมาเป็นอาหารให้ลูกนก อาจจะกะเทาะเปลือกไม้เพื่อหาตัวหนอน โบยบินเพื่อจับแมลงในอากาศ ลงพื้นดินและริมน้ำเพื่อจับปลาปู หาไส้เดือน งูดิน เป็นต้น ต้องใช้กำลังงานไปมากช่วงนี้จะดูพ่อนกโทรมมาก

นกเงือกในประเทศไทย

นกเงือกในประเทศไทย

ปัจจุบันนกเงือกในประเทศไทยมีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 50 กว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วโลก ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งรวมแล้วมีนกเงือกประมาณ 3,000 ตัว

นกเงือกคอแดง

นกเงือกคอแดง ชื่อภาษาอังกฤษ: Rufous-necked Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aceros nipalensis
ขนาด: 110-120 ซม.
ตัวผู้: หัว คอ อกสีสนิมเหล็ก ใต้ท้องมีสีน้ำตาลเข้ม
ตัวเมีย: หัว คอ สีดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 800-2,000 ม.
สถานภาพ: ใกล้สูญพันธุ์

นกเงือกปากดำ หรือ กาเขา

นกเงือกปากดำ หรือ กาเขา ชื่อภาษาอังกฤษ: Bushy-crested Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anorrhinusgaleritus
ขนาด: 80-90 ซม.
ตัวผู้: ปากและโหนกสีดำ
ตัวเมีย: ปากและโหนกสีเหลืองแซมดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดิบชื้นทางภาคใต้
สถานภาพ: ใกล้ถูกคุกคาม

นกเงือกสีน้ำตาล

นกเงือกสีน้ำตาล ชื่อภาษาอังกฤษ: Brown Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ptilolaemus tickelli
ขนาด: 74 ซม.
ตัวผู้: ขนคอและอกสีน้ำตาลแดง ปากสีน้ำตาล
ตัวเมีย: สีน้ำตาลดำ ปากสีดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ และป่าเต็งรัง
สถานภาพ: มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์

นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว

นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว ชื่อภาษาอังกฤษ: White-throated Brown Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Ptilolaemus austeni
ขนาด: 74 ซม.
ตัวผู้: ขนคอและอกสีขาว
ตัวเมีย: สีน้ำตาลดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ ที่ระดับความสูงมากกว่า 700 ม.
สถานภาพ: มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์

นกเงือกดำ

นกเงือกดำ ชื่อภาษาอังกฤษ: Black Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Anthracoceros malayanus
ขนาด: 75-80 ซม.
ตัวผู้: ปากและโหนกสีงาช้าง หนังรอบตาสีดำ
ตัวเมีย: ปากและโหนกสีดำ หนังรอบตาสีชมพู
ถิ่นอาศัย: ป่าที่ราบต่ำ และป่าพรุทางภาคใต้
สถานภาพ: ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง

นกเงือกหัวหงอก

นกเงือกหัวหงอก ชื่อภาษาอังกฤษ: White-crowned Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Berenicornis comatus
ขนาด: 90 ซม.
ตัวผู้: ขนใต้คอถึงลำตัวสีขาว ขนบริเวณก้นสีดำ
ตัวเมีย: ขนบนหัวมีสีขาว ขนใต้คอถึงลำตัวสีดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดิบชื้น
สถานภาพ: มีแนวโน้มสูญพันธุ์

นกแก๊ก

นกแก๊ก ชื่อภาษาอังกฤษ: Oriental Pied Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Anthracoceros albirostris
ขนาด: 70-80 ซม.
ตัวผู้: ปากและโหนกสีงาช้าง หน้าและโหนกมีสีดำ
ตัวเมีย: ปากและโหนกมีสีดำแต้ม
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ และป่าผลัดใบ
สถานภาพ: ใกล้ถูกคุมคาม

นกเงือกกรามช้างปากเรียบ

นกเงือกกรามช้างปากเรียบ ชื่อภาษาอังกฤษ: Plain-pouched Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhyticeros subruficollis
ขนาด: 90 ซม.
ตัวผู้: หน้าและคอสีขาว กระหม่อมถึงท้ายทอยสีน้ำตาลเข้มถุงใต้คอสีเหลือง ไม่มีขีดสีดำ
ตัวเมีย: หัว คอ สีดำ ถุงใต้คอสีฟ้า ไม่มีขีดสีดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ และป่าผสมผลัดใบ
สถานภาพ: ใกล้สูญพันธุ์
ละโหนกมีสีดำแต้ม
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ และป่าผลัดใบ
สถานภาพ: ใกล้ถูกคุมคาม

นกเงือกกรามช้าง

นกเงือกกรามช้าง ชื่ออังกฤษ: Wreathed Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhyticeros undulatus
ขนาด: 100-110 ซม.
ตัวผู้: หน้าและคอสีขาว กระหม่อมถึงท้ายทอยสีน้ำตาลเข้มถุงใต้คอสีเหลืองมีขีดสีดำ
ตัวเมีย: หัว คอ สีดำ ถุงใต้คอสีฟ้ามีขีดสีดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ
สถานภาพ: ใกล้ถูกคุกคาม

นกเงือกปากย่น

นกเงือกปากย่น ชื่อภาษาอังกฤษ: Wrinkled Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhyticeros corrugatus
ขนาด: 75-90 ซม.
ตัวผู้: ส่วนหน้าและคอสีขาว โหนกสีแดง ถุงใต้คอสีขาวแกมน้ำเงิน
ตัวเมีย: หัว คอ สีดำ ถุงใต้คอสีฟ้ามีขีดสีดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าที่ราบต่ำทางภาคใต้
สถานภาพ: ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง

นกกก

นกกก ชื่อภาษาอังกฤษ: Great Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Buceros bicornis
ขนาด: 130-150 ซม.
ตัวผู้: มีม่านตาสีแดง และโหนกมีสีดำทางด้านหน้าและด้านหลัง
ตัวเมีย: ม่านตาสีขาว ไม่มีสีดำบริเวณโหนก
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ และป่าผสมผลัดใบ
สถานภาพ: ใกล้ถูกคุกคาม

นกเงือกหัวแรด

นกเงือกหัวแรด ชื่อภาษาอังกฤษ: Rhinoceros Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Buceros rhinoceros
ขนาด: 110-130 ซม.
ตัวผู้: ม่านตาสีแดง ขอบโหนกด้านล่างมีเส้นสีดำตลอดแนวปากและโหนกสีดำ
ตัวเมีย: ม่านตาสีขาว ขอบโหนกด้านล่างมีเส้นสีดำตลอดแนวปากและโหนกไม่มีสีดำ
ถิ่นอาศัย: ป่าดิบชื้นทางภาคใต้
สถานภาพ: ใกล้สูญพันธุ์

นกชนหิน

นกชนหิน ชื่อภาษาอังกฤษ: Helmeted Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhinoplax vigil
ขนาด: 127 ซม. (รวมหางยาวพิเศษ 50 ซม.)
ตัวผู้: หนังเปลือยบริเวณสีคอแดงคล้ำ
ตัวเมีย: หนังบริเวณคอสีฟ้า
ถิ่นอาศัย: ป่าดงดิบ
สถานภาพ: ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง

วันรักนกเงือก

เนื่องจากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโครงการศึกษาชีววิทยาของนกเงือก ซึ่งมีหลากหลายโครงการ และได้ทำการศึกษานกเงือกไทยมามากกว่า 20 ปี ซึ่งจากการศึกษาวิจัยกว่า 6 โครงการ พบว่า ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ เผ่าพันธุ์ของนกเงือกได้ถูกรุกรานและเสี่ยงต่อสภาวะสูญพันธุ์ อันเนื่องมาจากการถูกล่า หรือแม้กระทั่งการลดจำนวนลงของผืนป่า ทำให้พวกมันไม่สามารถขยายเผ่าพันธุ์ได้ จึงได้มีการประกาศให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เป็น วันรักนกเงือก ของประเทศไทย

ในทุก ๆ ปี วันรักนกเงือก จะมีการจัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ จากหลายภาคส่วน ทั้งทีมงานวิจัย ผู้สนับสนุน หน่วยงานต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยจุดประสงค์ในการจัดงานนั้น เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนกเงือก ธรรมชาติ และการอนุรักษ์ มีการรายงานสถานภาพของนกเงือก และงานวิจัยต่าง ๆ และอีกหนึ่งจุดประสงค์หลักคือ เพื่อเป็นวันพบปะ พูดคุย สังสรรค์ของผู้ที่รักนกเงือกทุกคน ซึ่งเป็นมิตรภาพที่เชื่อมต่อกันมาเหนียวแน่นและยาวนาน

อนึ่ง นกเงือก ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของรักแท้ หรือรักเดียวใจเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศของป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ทั้งนี้ใน วันรักนกเงือก จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้เราได้หันมาตระหนักถึงส่วนเล็ก ๆ ของผืนป่าที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืนของธรรมชาติ

ที่มา – seub.or.th , kanchanapisek.or.th

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button