วันสำคัญ

3 มีนาคม วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก World Wildlife Day

วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก หรือ World Wildlife Day ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้อนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

Advertisement
วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก

วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก

3 มีนาคม วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (ภาษาอังกฤษ: World Wildlife Day) ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันที่ก่อตั้งภาคีอนุสัญญาไซเตส เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2516 เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มประเทศภาคีอนุสัญญาไซเตส 178 ประเทศ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ

สัตว์ป่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่โบราณกาลและมีวิวัฒนาการมายาวนาน แต่ในปัจจุบันเมื่อมนุษย์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น สัตว์ป่าหลายชนิดถูกล่าจนสูญพันธุ์ลงไปเรื่อย ๆ และเพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่าและให้คนหันมาอนุรักษ์สัตว์ป่ามากขึ้นจึงมีการกำหนดวันอนุรักษ์สัตว์ป่าโลกขึ้น

โดยในปี 2560 มีการกำหนดธีมว่า Listen to the Young Voices เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนของโลกตระหนักว่า ปัจจุบันชีวิตของสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก และเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกคนต้องเป็นกระบอกเสียง ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการปกป้องและเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

สำหรับประเทศไทยนั้น เริ่มจัดงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2557 โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าเพื่อให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้ศึกษา ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้รักและหวงแหนธรรมชาติ นอกจากนี้ในหลาย ๆ จังหวัดยังได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ และการเสวนาต่าง ๆ ด้วย

เพราะถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ผู้ซึ่งเบียดเบียนธรรมชาติ ต้องหันมาอนุรักษ์และดูแลสิ่งมีชีวิตร่วมโลกของเราอย่างจริงจังเสียที

สัตว์ป่า

สัตว์ป่า

สัตว์ป่า คือ สัตว์ทุกชนิดไม่ว่า สัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก แมลง หรือแมง ซึ่งโดยภาพธรรมชาติย่อมเกิดและดำรงชีวิตอยู่ในป่าหรือในน้ำและให้หมายความรวมถึงไข่ของสัตว์ป่าเหล่านั้นทุกชนิดด้วย แต่ไม่หมายความรวมถึงสัตว์พาหนะที่ได้จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณตามกฎหมาย ว่าด้วยสัตว์พาหนะแล้วและสัตว์พาหนะที่ได้มาจากการสืบพันธุ์ของสัตว์พาหนะ ดังกล่าว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ป่าไม้ อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าได้ถูกทำลายลงไปมาก ตลอดจนการไล่ล่าของมนุษย์จึงทำให้ปริมาณสัตว์ป่ามีจำนวนลดน้อยลงทุกปีจนบางชนิดสูญพันธุ์บางชนิดก็ใกล้จะสูญพันธุ์เพื่อรักษาความสมดุลทางธรรมชาติจึงจำเป็นที่เราจะต้องช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ป่าไว้โดยเร่งด่วน

ประเภทของสัตว์ป่า

เพื่อเป็นการปกป้องรักษาสัตว์ป่าให้มีชีวิตสืบต่อไปถึงอนุชนรุ่นหลังจึงมีการออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ภูมิพลอดุลเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน แบ่งสัตว์ป่าออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. สัตว์ป่าสงวน เป็นสัตว์ป่าที่หายากและปัจจุบันมีจำนวนน้อยมากบางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้วมีอยู่ 15 ชนิด คือ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แรด กระซู่ กูปรีหรือโคไพร ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมันหรือ เนื้อสมัน เลียงผา นกแต้วแล้วท้องดำ นกกระเรียน แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ เก้งหม้อและพะยูนหรือหมูน้ำ
  2. สัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นสัตว์ทั้งที่ปกติไม่นิยมใช้เป็นอาหารและใช้เป็นอาหารทั้งที่ไม่ใช่ล่าเพื่อการกีฬาและล่าเพื่อการกีฬา ตามที่กฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดไว้ มากกว่า 200 ชนิด เช่น ค่าง ชะนี อีเห็น ไก่ฟ้า เหยี่ยว ช้างป่า แร้ง กระทิง กวาง หมีควาย อีเก้ง นกเป็ดน้ำ เป็นต้น

บทลงโทษ ทั้งสัตว์ป่าสงวนสัตว์ป่าคุ้มครองและซากของสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามมิให้ผู้ใดทำการล่ามีไว้ในครอบครอง ค้าขายและนำเข้าหรือส่งออก หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ปัญหาทรัพยากรสัตว์ป่า

ในปัจจุบันสัตว์ป่ามีจำนวนลดน้อยลงมาก ชนิดที่สมัยก่อนมีอยู่ชุกชุมก็ไม่ค่อยได้พบเห็นอีกบางชนิดก็ถึงกับสูญพันธุ์ไปเลย ปัญหานี้สาเหตุมาจาก

  1. ถูกทำลายโดยการล่าโดยตรงไม่ว่าจะล่าเพื่ออาหารหรือเพื่อการกีฬาหรือเพื่ออาชีพ
  2. การสูญพันธุ์หรือลดน้อยลงไปตามธรรมชาติของสัตว์ป่าเอง ถ้าหากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนของสภาพแวดล้อมได้ หรือจากสาเหตุภัยธรรมชาติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ไฟป่า
  3. การนำสัตว์ป่าต่างถิ่น (Exotic aminal) เข้าไปในระบบนิเวศสัตว์ป่าประจำถิ่น ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความสมดุลของสัตว์ป่าประจำถิ่นจนอาจเกิดการสูญพันธุ์
  4. การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งก็ได้แก่การที่ป่าไม้ถูกทำลายด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะโดยถากถางและเผาเพื่อทำการเกษตรกิจกรรมการพัฒนา เช่น การตัดถนนผ่านเขตป่า การสร้างเขื่อน ฯลฯ ทำให้สัตว์ป่าบางส่วนต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นหรือไม่ก็เสียชีวิตขณะที่ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย
  5. การสูญเสียเนื่องจากสารพิษตกค้าง เมื่อเกษตรกรใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เช่น ยาปราบศัตรูพืชจะทำให้เกิดการสะสมพิษในร่างกายทำให้บางชนิดถึงกับสูญพันธุ์ได้

การอนุรักษ์สัตว์ป่า

สัตว์ป่ามีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งรวมถึงคนเราด้วยทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม จึงต้องมีวิธีการป้องกันและแก้ไขไม่ให้สัตว์ป่าลดจำนวนหรือสูญพันธุ์ด้วยการอนุรักษ์สัตว์ป่า ดังนี้

  1. กำหนดกฎหมายและวิธีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ป่าเป็นแหล่งอาหารที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขตเพาะพันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ ให้มีมากเพียงพอ
  2. การรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างจริงจัง
  3. การไม่ล่าสัตว์ป่า ไม่ควรมีการล่าสัตว์ป่าทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่าสงวนสัตว์ป่าคุ้มครองเพราะปัจจุบันสัตว์ป่าทุกชนิดได้ลดจำนวนลงอย่างมากทำให้ขาดความสมดุลทางธรรมชาติ
  4. การป้องกันไฟป่า ไฟป่านอกจากจะทำให้ป่าไม้ถูกทำลายแล้วยังเป็นการทำลายแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าด้วย
  5. การปลูกฝังการให้ความรัก และเมตตาต่อสัตว์อย่างถูกวิธีสัตว์ป่าทุกชนิดมีความรักชีวิตเหมือนกับมนุษย์ การฆ่าสัตว์ป่า การนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงไว้ในบ้านเป็นการทรมานสัตว์ป่า ซึ่งมักไม่มีชีวิตรอด
  6. การเพาะพันธุ์เพิ่มสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์หรือมีจำนวนน้อยลง ควรมีการเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการทดแทนและเร่งให้มีสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น
พืชป่า

พืชป่า

ในป่ามีต้นไม้มากมายหลายชนิด หลายพันธุ์ ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในป่ามีทั้งเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อน ซึ่งพอจะแบ่งออกเป็นพวก ๆ ได้ 3 พวก

พวกไม้ยืนต้น ลำต้นสูงตรงตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป ได้แก่ ต้นยาง ตะเคียน จำปา และอโศก พวกไม้พุ่ม ลำต้นตรงแต่ค่อนข้างต่ำ และมีกิ่งก้านแตกแขนงมาก ได้แก่ โมกทุ่ง แก้ว กาหลง ลำเจียก ไผ่ชนิดต่าง ๆ กาฝาก เป็นพืช ซึ่งอาศัยเกาะกินอาหาร ตามต้นไม้ใหญ่ และเกาะอาศัยอยู่เฉย ๆ ได้แก่ พวกไทร เป็นต้น พวกไม้เถา ลำต้นจะเลื้อยพาด หรือเกี่ยวพันไปตามต้นไม้ใหญ่ ได้แก่ หมามุ่ย สายหยุด หิรัญญิการ์ อรพิม รสสุคนธุ์ สะบ้า ฯลฯ

นอกจากต้นไม้ใหญ่ยังมีต้นหญ้า ซึ่งเป็นไม้ล้มลุก และเป็นพันธุ์ไม้กลุ่มที่มีลำต้นกลวง มีข้อและปล้องสลับกันอยู่เป็นระยะ ๆ เช่น หญ้าพง หญ้าปล้อง หญ้าคา และหญ้าคาย พืชบางชนิดลำต้นอ่อนอุ้มน้ำมีอายุสั้นเพียงปีเดียว พอออกดอกออกผลแล้ว ก็เฉาแห้งตายไป เช่น ผักกะสัง ผักคราดบอน และเทียนป่า เป็นต้น บางชนิดมีอายุ 2-3 ปี เช่น โสนครามป่า หิ่งหาย และชุมเห็ด บางชนิดที่มีอายุยืนจะมีหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน เช่น พลับพลึง สามสิบ มันป่า ผักกูด ที่อาศัยเกาะตามต้นไม้ ได้แก่ พวกกล้วยไม้ ส่วนพวกที่มีลำต้นเกี่ยวพันไปตามต้นไม้อื่น เรียกว่า เครือเถา หรือเถาวัลย์ ได้แก่ ตำลึง จิงจ้อ ผักบุ้ง อ้อยแสนสวน และเถาเอ็นอ่อน พืชที่ลอยตัวตามผิวน้ำ ได้แก่ จอก แหน ผักกระเฉด ที่จมอยู่ในน้ำแต่ส่งใบขึ้นเหนือน้ำ ได้แก่ สาหร่ายข้าวเหนียว สาหร่ายพุงชะโด และบัวสายติ่ง บางชนิดมีต้น ราก หรือเหง้าอยู่ใต้น้ำ ส่งใบและดอกขึ้นเหนือน้ำ ได้แก่ บัว เผื่อน เป็นต้น

ในป่ายังมีพืชที่มีลักษณะแปลก ๆ และสวยงามอีกมาก เช่น พวกกล้วยไม้ดิน และเห็ด ซึ่งชอบขึ้นอยู่ตามซากต้นไม้และหญ้า ที่ผุเปื่อย ที่เกาะแย่งอาหารกินตามกิ่งก้านต้นไม้อื่น ก็มีฝอยทอง ตามรากพืชชนิดอื่น เช่น ชมพูนุท ดอกดิน กระโถนฤาษี และขนุนดิน พืชบางชนิดมีที่ดักจับแมลง มีน้ำยางเหนียวตามใบ และมีน้ำย่อยก้นถุง สำหรับย่อยแมลงที่ตกลงไป เช่น สาหร่ายข้าวเหนียว หญ้าน้ำค้าง หม้อแกงลิง หรือเขนงนายพราน เป็นต้น

มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์พันธุ์ไม้ป่ามาเป็นเวลาช้านานแล้ว และการใช้ประโยชน์นี้นับวันจะทวีขึ้นตามส่วน ตามความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ ปัจจุบันมนุษย์ได้นำพันธุ์ไม้ป่ามาผลิตเป็นเครื่องใช้ และวัสดุต่าง ๆ หลายชนิด จึงนับได้ว่าพันธุ์ไม้ป่ามีคุณค่าต่อทางเศรษฐกิจของชาติเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

อ่านต่อ
Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button