วันสำคัญ

วันจักรี 2567 รำลึกวีรกรรม ร่วมพัฒนาชาติ สืบทอดมรดก

วันจักรี (Chakri Memorial Day) ตรงกับวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.1) และมหาจักรีบรมราชวงศ์ มารู้จัก วันจักรี คืออะไร และประวัติความเป็นมากัน

วันจักรี คือ

วันจักรี คือ

จักรี (ภาษาอังกฤษ: Chakri Memorial Day) ตรงกับวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี เนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือ พระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขี้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรี ในวันนี้จึงถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่พวกเราชาวไทยควรให้ความระลึกถึง

ไม่นานหลังจากการสถาปนาราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ดังนั้นวันหยุดนี้จึงมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับชาวกรุงเทพฯ

เมื่อครั้นที่สิ้นรัชกาลในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว ต่อมาในวันที่ 6 เมษายน 2325 ตรงกับวันเสาร์ วันแรม 9 ค่ำเดือน 5 ปีขาล จ.ศ. 1144 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีพระองค์แรก โดยมีพระราชดำริว่า ทางฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี มีพื้นที่ที่ดีกว่าทางตะวันตกเพราะมีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง หากมีข้าศึกยกทัพมาติดถึงฝั่งพระนคร ก็จะทำให้ทำการต่อสู้และป้องกันได้ง่ายกว่าฝั่งตะวันตก จึงทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น โดยมีการสืบทอดศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบัน คือ กรุงเทพมหานคร

ในปี 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 4 เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมาและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงข้าราชการและประชาชน ได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง โดยได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และได้มีการย้ายที่อีกหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นพระที่นั่งพุทไธสวรรยปราสาท หรือพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระบรมรูปของทั้ง 4 พระองค์ มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5

ทั้งนี้การซ่อมแซม ก่อสร้าง และประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล มาแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายน 2461 และได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า วันจักรี

ในปี 2475 มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างอนุสรณ์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้น และพระราชทานชื่อว่า “สะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” หรือสะพานพุทธที่หลายคนรู้จัก พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงถึง 3 เท่า ในลักษณะประทับนั่งบนพระที่นั่ง

เพราะผลงานที่พระองค์ทรงสร้างไว้ให้กับชาวไทยมากมาย ในปัจจุบันจึงมีวันที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเมื่อถึงวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ก็จะมีการจัดงานและมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ณ บริเวณลานด้านพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า จนปัจจุบัน

ปราสาทพระเทพบิดร

ปราสาทพระเทพบิดร

ปราสาทพระเทพบิดรเป็นปราสาทเพียงองค์เดียวในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นปราสาทจตุรมุข ยอดปรางค์มีนภศูล และมงกุฎอยู่บนยอด ประดับกระเบื้องเคลือบ องค์เดียวในประเทศไทย

ปราสาทพระเทพบิดรสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2398 เดิมชื่อว่า พุทธปรางค์ปราสาท เมื่อแรกนั้นมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ แต่เมื่อสร้างเสร็จเห็นว่าคับแคบไม่เหมาะแก่การพระราชพิธี จึงมิได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานดังพระราชดำริ

ในปี 2446 ได้มีการซ่อมแซมแล้วให้เปลี่ยนนามเป็น ปราสาทพระเทพบิดร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูปพระบูรพกษัตริย์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง 5 องค์มาไว้ ทั้งมีพระบรมราชโองการให้มีการถวายบังคมพระบรมรูป เป็นประจำทุกปีในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งทรงกำหนดให้เป็นวันจักรี ตั้งแต่ 2461 เป็นต้นมา

จากนั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการถวายบังคมพระบรมรูป เป็นประจำทุกปีในวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันฉัตรมงคล วันที่ 13-15 เมษายน เนื่องในวันสงกรานต์ หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการถวายบังคมในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ ในบางปี หรือทุกปี เช่น วันปิยมหาราช วันที่ 23 ตุลาคม ตั้งแต่ 2554 ปัจจุบันได้มีการประดิษฐานพระบรมรูปเพิ่มตามการเปลี่ยนรัชสมัย จนถึงรัชกาลที่ 8 แล้ว

สัตว์หิมพานต์

บนฐานไพทีด้านหน้า และรอบ ๆ ปราสาทพระเทพบิดรจะมีรูปหล่อโลหะเป็นรูปสัตว์หิมพานต์ ซึ่งหล่อในสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างเป็นคู่ ตัวผู้ตัวเมีย รวม 7 คู่

อสูรวายุภักษ์ ท่อนบนเป็นยักษ์สวมมงกุฎ ท่อนล่างเป็นนก สองมือกุมกะบองเกลียว ตั้งอยู่บนลานทักษิณชั้นบน
อัปสรสีห์ ท่อนบนเป็นนางอัปสร ท่อนล่างเป็นราชสีห์ ยืนพนมมือ ตั้งอยู่เชิงบันไดกลางลานด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร
สิงหพานร ท่อนบนเป็นพระยาวานร ท่อนล่างเป็นราชสีห์ สองมือถือกระบอง ตั้งอยู่ที่บันไดลานทักษิณด้านตะวันตก
กินนร และ กินรี ท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่อนล่างเป็นนก มือหนึ่งแตะบั้นเอว มือหนึ่งยกระดับอก ตั้งอยู่บนลานทักษิณชั้นบน
เทพปักษี เป็นเทวดา มีปีกและหางเป็นนก มือข้างหนึ่งถือพระขรรค์ อีกข้างหนึ่งจีบระดับอก ตั้งอยู่บนลานทักษิณชั้นบน
เทพนรสิงห์ ท่อนบนเป็นเทวดา ท่อนล่างเป็นราชสีห์ มือหนึ่งแตะบั้นเอว อีกมือหนึ่งถือกิ่งไม้ชูระดับอก ตั้งอยู่บนลานทักษิณชั้นบน
อสูรปักษี ท่อนบนเป็นยักษ์ สวมมงกุฎ ท่อนล่างเป็นนก มือหนึ่งแตะบั้นเอว อีกมือหนึ่งผายออกด้านข้าง

กิจกรรมวันจักรี

กิจกรรมวันจักรี

ในอดีต หากเป็นวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี เนื่องในวันจักรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ไปเป็นประธานในพิธีทางศาสนา เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับทรงสักการะพระบรมรูปของทั้ง 8 รัชกาล ซึ่งเป็นสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งกิจกรรมหลัก ๆ ในวันจักรี ที่มีทั้งพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ และ ประชาชนทั่วไป

เสด็จวางพวงมาลา

วันที่ 6 เมษายน ของทุกปีในวันจักรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ไปเป็นประธานในพิธีทางศาสนา เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว ต่อจากนั้นก็ทรงเสด็จไปวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสรณ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งยังมีเหล่าพสกนิกรอย่าง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หน่วยงานของรัฐบาล และเอกชน นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ต่างพร้อมใจกัน เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา และบำเพ็ญกุศลให้กับพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงอุทิศพระองค์ เพื่อความสงบสุขของ ประชาชนของพระองค์อย่างแท้จริง

จัดพิธีถวายบังคมพระรูป

วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันที่ 6 เมษายน ของทุกปี จะมีการจัดงานและมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ณ บริเวณลานด้านพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ เชิงสะพานพระพุทธยอด ฟ้า จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบัน แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้จะไม่ได้เสด็จมาเอง แต่ก็ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ พระบรมวงศ์ศานุวงศ์ เป็นตัวแทนส่วนพระองค์ ประกอบพิธีถวายบังคมและวางพวงมาลา เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรีวงศ์

จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติ

ปัจจุบัน ทั้งมูลนิธิ หรือส่วนราชการต่าง และภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดงานสัปดาห์เฉลิมพระเกียรติ วันจักรี เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระองค์ที่มีต่อประชาชนชาวไทย มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรตินี้ จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ และเพื่อช่วยเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติได้เป็นอย่างดี

นอกจากพิธีวางพวงมาลา บริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แล้วยังมีการทำบุญตักบาตร ตอนเช้า ตามความเชื่อของชาวพุทธ เพื่ออุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1

พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1

พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชสมภพ 20 มีนาคม 2279 เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 1 ในราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ เดือน 4 แรม 5 ค่ำ ปีมะโรงอัฐศก เวลา 3 ยาม ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม 2279 ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 ขณะมีพระชนมายุได้ 46 พรรษา และทรงย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาอยู่ฝั่งพระนคร และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ

พระราชกรณียกิจ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร (หรือกรุงรัตนโกสินทร์) เป็นราชธานี และทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีปกครองราชอาณาจักรไทยเมื่อ 6 เมษายน 2325 (วันจักรี) ภายหลังการเสด็จเสวยราชย์แล้ว พระองค์ทรงมีพระราชกรณีกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่าใน 2328 ที่เรียกว่า “สงครามเก้าทัพ” นอกจากนี้พระองค์ยังพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีความยุติธรรม จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด เสร็จแล้วให้เขียนเป็นฉบับหลวง 3 ฉบับ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้วไว้ทุกฉบับ เรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง

สวรรคต

หลังจากการฉลองวัดพระแก้วแล้ว ก็ทรงป่วยด้วยพระโรคชรา พระอาการทรุดลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2352 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ รวมพระชนมายุได้ 73 พรรษา เสด็จอยู่ในราชสมบัติ 27 ปี

พระบรมศพถูกเชิญลงสู่พระลองเงินประกอบด้วยพระโกศทองใหญ่แล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ตั้งเครื่องสูงและเครื่องราชูปโภคเฉลิมพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม โคมกลองชนะตามเวลา ดังเช่นงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาทุกประการ จนกระทั่งปี 2354 พระเมรุมาศซึ่งสร้างตามแบบพระเมรุมาศสำหรับพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาได้สร้างแล้วเสร็จ จึงเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศ แล้วจักให้มีการสมโภชพระบรมศพเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน จึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังจากนั้น มีการสมโภชพระบรมอัฐิและบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อแล้วเสร็จจึงเชิญพระบรมอัฐิประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคารเชิญไปลอยบริเวณหน้าวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร

พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร

พระพุทธรูปประจำพระองค์

พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรตามวันพระบรมราชสมภพ สร้างราว 2410-2411 สร้างด้วยทองคำ บาตรลงยา สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลถวายพระบรมอัยกาธิราช สูง 29.50 เซนติเมตร ประดิษฐานในหอพระสุราลัยพิมาน พระพุทธรูปประจำรัชกาล เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ภายใต้พระเศวตฉัตร 3 ชั้น สร้างราว 2367-2394 หน้าตักกว้าง 8.3 ซ.ม. สูงเฉพาะองค์พระ 12.5 ซ.ม. สูงรวม 46.5 ซ.ม. ประดิษฐานในหอพระสุราลัยพิมาน

ราชวงศ์จักรี

ราชวงศ์จักรี

ราชวงศ์จักรี เป็นราชวงศ์ที่ปกครองราชอาณาจักรสยามต่อจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถึงปัจจุบัน โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พระนามเดิม ทองด้วง ทรงสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยา) ทรงสถาปนาราชวงศ์โดยการปราบดาภิเษกเมื่อ 2325 ยุคของราชวงศ์นี้ เรียกว่า “ยุครัตนโกสินทร์”

พระบรมวงศานุวงศ์

พระบรมวงศานุวงศ์ไทยในปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ต้นราชสกุลมหิดล กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สังวาลย์ ตะละภัฏ) โดยสมเด็จพระบรมราชชนกนั้นเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) ถือเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระอนุชาคือพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช (ปัจจุบันคือพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว) จึงได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกัน และภายหลังได้ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร) พระธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร (สนิทวงศ์) มีพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวคือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน

ที่มาราชวงศ์จักรี

ชื่อของราชวงศ์จักรีมีที่มาจากบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์” ตำแหน่งสมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการที่พระองค์เคยทรงดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยกรุงธนบุรี คำว่า “จักรี” นี้พ้องเสียงกับคำว่า “จักร” และ “ตรี” ซึ่งเป็นเทพอาวุธของพระวิษณุ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแสงจักรและพระแสงตรีไว้ 1 สำรับ และกำหนดให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรีสืบมาจนถึงปัจจุบัน

อ่านต่อ

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button