วันสำคัญ

วันวิทยาศาสตร์ ประวัติความเป็นมาและคําขวัญ

วันวิทยาศาสตร์ ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของไทยและมีความสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ไทย มารู้จักประวัติความเป็นมาและคําขวัญกัน

วันวิทยาศาสตร์

วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Day) ได้เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2525 โดย มติของคณะรัฐมนตรี ให้มีวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2525 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” วันวิทยาศาสตร์ นี้เป็นเพราะพระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2411 ได้อย่างแม่นยำ และต่อมาได้มีการสร้าง “อุทยานวิทยาศาสตร์” ที่ บ้านหว้ากอ ต่อไปมาศึกษาที่มาของ วันวิทยาศาสตร์

วันวิทยาศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายภาพร่วมกับเจ้าเมืองสิงคโปร์และแขกต่างประเทศ ณ ค่ายหลวงหว้ากอ

ประวัติความเป็นมา

รัฐบาลไทยกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติเนื่องจากวันที่ 18 สิงหาคม 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินชลมารคและสถลมารค ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 2 ปี ว่าจะเกิดในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดดวงที่หว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ตรงเกาะจานขึ้นไปถึงปราณบุรี และลงไปถึงแขวงเมืองชุมพร จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ไปสร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ มีคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์ ผลการคำนวณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแม่นยำมาก เซอร์แฮรี ออด บันทึกเหตุการณ์ไว้ซึ่งต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลเป็นภาษาไทยในงานหว้ากอรำลึก ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ เมื่อ 2518 ว่า

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระสำราญมาก เพราะการคำนวณเวลาสุริยุปราคาของพระองค์ ได้พิสูจน์แล้วว่าถูกถ้วนที่สุด ถูกถ้วนยิ่งกว่าที่ชาวยุโรปได้คำนวณไว้”

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์ มีแนวคิดว่าน่าจะถือเอาวันที่ 18 สิงหาคมเป็นวันวิทยาศาสตร์ไทย ต่อมาวันที่ 14 เมษายน 2525 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” วันที่ 18 สิงหาคม 2511 หลายหน่วยงาน เช่น สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ กรมอุทกศาสตร์ กรมชลประทาน กรมแผนที่ทหาร กรมอุตุนิยมวิทยา กรมไปรษณีย์โทรเลข ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดงานขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

พระราชกรณียกิจทางด้านดาราศาสตร์ของรัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้สร้างหอดูดาวบนเขาวัง ในจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2403 พระราชทานนามว่า “หอชัชวาลเวียงชัย” ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ได้เคยทอดพระเนตรดาวหาง 3 ดวง

ดาวหางฟลูเกอร์กูส

ดาวหางฟลูเกอร์กูส (Flaugerguess Comet) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่และมีหาง 2 หาง ปรากฏในรัชสมัย พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ 2355 ขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกฏมีพระชันษาราว 8 ปี เมื่อทรงเห็นแล้ว คงจะทรงติดตามศึกษาเรื่องดาวหางอยู่เสมอ เพราะว่าก่อนดวงที่ 2 จะมาปรากฏ พระองค์สามารถทรงนิพนธ์ประกาศฉบับแรกชื่อว่า  ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก แจ้งแก่ประชาชน

ดาวหางโดนาติ

ดาวหางโดนาติ (Donati a Comet) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่มาก นักดาราศาสตร์อิตาเลียนค้นพบในคืนวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ 2401 และคืนต่อ ๆ มา จนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2402 (รวมเวลา 9 เดือน) ชาวไทยคงจะเห็นด้วยตาเปล่า ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม 2401 ดาวหางดังกล่าวมีลักษณะเป็น 2 หาง หางหนึ่งเหยียดตรง อีกหางหนึ่งเป็นพู่โค้งสวยงามอยู่ราว 2 เดือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่า เมื่อประชาชนเห็นดาวหางโดนาติ แล้วจะตื่นเต้นไปตามคำลือต่าง ๆ จึงทรงออกประกาศเตือนชื่อว่า “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก” นับเป็นประกาศทางวิทยาศาสตร์ฉบับแรกของประเทศ มีความว่า

“ดาวหางนี้ชาวยุโรปได้เห็นมาแล้วหลายเดือน ดาวหางนี้มีคติแลทางยาวไปในท้องฟ้า แล้วก็กลับมาได้เห็นในประเทศทั้งนี้อีก เพราะเหตุนี้อย่าให้ราษฎรทั้งปวงตื่นกัน และคิดวิตกเล่าลือไปต่าง ๆ ด้วยว่ามิใช่จะเห็นแต่ในพระนครนี้ และเมืองที่ใกล้เคียงเท่านั้นหามิ ได้ย่อมได้เห็นทุกบ้านทุกเมืองทั่วพิภพอย่างนี้แล”

ดาวหางเทพบุท

ดาวหางเทพบุท (Tebbut s Comet) เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่ หางยาว และสว่างกว่าดาวหางโดนาติ ปรากฏแก่สายตาชาวโลก ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2404 เป็นดาวที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยมากยิ่งขึ้น ถึงกับทรงได้คำนวณไว้ล่วงหน้าว่า จะปรากฏเมื่อใด และได้ทรงออกประกาศไว้ล่วงหน้า มิให้ประชาชนตื่นตระหนก ทั้งนี้เพราะพระองค์ มีพระราชประสงค์มุ่งขจัดความเชื่อ เกี่ยวกับเรื่องโชคลาง และทรงให้ราษฎรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เตรียมพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ (ถ้าจะเกิด) อย่างมีเหตุผลตามแบบวิทยาศาสตร์

กิจกรรมวันวิทยาศาสตร์

จัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จัดกิจกรรมส่งเสริมงานด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์

  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2567 —
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2566 — วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2565 — ไม่ได้กำหนดคำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ แต่ในส่วนของมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 นั้นได้มีการจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน (Art – Science – Innovation for Sustainable Society)”
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2564 — ไม่ได้กำหนดคำขวัญวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2563 — จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2562 — จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม
  • คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2561 — จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม
  • คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2560 — จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2559 — จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2558 — จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2557 — จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2556 — ทันโลก ทันวิทย์ จุดประกายความคิดสู่อาเซียน
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2555 — จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2554 — จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2553 — จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2552 — วิทยาศาสตร์ก้าวไกล นำไทยก้าวหน้า
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2551 — วิทยาศาสตร์สร้างชาติ สร้างอนาคต
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2550 — วิทยาศาสตร์สร้างปัญญาในสังคม
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2549 — เศรษฐกิจพอเพียง เคียงคู่ไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2548 — วิทยาศาสตร์คือความรู้สู่ความสำเร็จ
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2547 — เศรษฐกิจของชาติมีปัญหา วิทยาศาสตร์มีคำตอบ
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2546 — เส้นทางแห่งการค้นพบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คุณค่าแห่งภูมิปัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2545 — วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทย
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2544 — วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทย
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2543 — พัฒนาคน พัฒนาชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2542 — วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวไกล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตไทยที่ยั่งยื่น
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2541 — พัฒนาเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์ พัฒนาชาติด้วยภูมิปัญญาไทย
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2540 — พัฒนาคน พัฒนาชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2539 — วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาชาติไทยให้ก้าวหน้า
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2538 — เทคโนโลยีสารสนเทศก้าวไกล เศรษฐกิจไทยมั่นคง
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2537 — ขจัดปัญหาน้ำของชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2536 — วิทยาศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจ เพิ่มคุณค่าชีวิต พิทักษ์สิ่งแวดล้อม
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2534 — ขจัดมลพิษทุกชีวิตจะปลอดภัย
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2533 — เพิ่มคุณค่าทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • คําขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2532 — พิทักษ์สิ่งแวดล้อมของชาติ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กลอนวันวิทยาศาสตร์

กลอนวันวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์ มีคำตอบ รอบรู้ได้
วิทยาศาสตร์ ทดลองให้ เราเห็นผล
วิทยาศาสตร์ คือความจริง ทุกสิ่งตน
วิทยาศาสตร์ ความรู้ล้น เหลือประมาณ
ฟิสิกส์ คือเรื่องราว ธรรมชาติ
กลศาสตร์ ปราชญ์เชิดชู ปูพื้นฐาน
คลื่นเสียง แสง ไฟฟ้า วิชาการ
ล้วนเบิกบาน ขานตอบโจทย์ โดยฉับไว
เคมี นี้ทดลอง พร้อมจัดหมู่
สารเคมี น่ารู้ ดูสงสัย
ศึกษา ธาตุ สารประกอบ แสนชอบใจ
ปฏิกิริยา หลากหลายไซร้ ได้อัศจรรย์
ชีววิทยา คือชีวิต
คือรอบตัว อันใกล้ชิด คือเพื่อนฉัน
เรียนรู้ เซลล์ โครงสร้าง นับอนันต์
เป็นสีสัน เป็นความสุข ทุกเวลา
คณะครู วิทยาศาสตร์ ยินดียิ่ง
คอยแนะสิ่ง สารพัน คลายปัญหา
เน้นเรียนรู้ หวังศิษย์รัก พัฒนา
สื่อ สรรมา มุ่งใช้ ในการเรียน
ส่งเสริมให้ นักเรียน เกิดมุ่งมั่น
ค้นคว้าหมั่น ใฝ่งาน การอ่านเขียน
จริยธรรม นำตนน้อม พร้อมพากเพียร
ดุจแสงเทียน ส่องทางสู่ ประตูชัย
วิชาการ คุณธรรม ประสานคู่
กิจกรรม ล้ำความรู้ นำสมัย
เทคโนโลยี นี้ส่งเสริม จนก้าวไกล
เพื่อเยาวชน ชาติไทย เจริญเอย


วิทยาศาสตร์ก้าวไกล นำไทยก้าวหน้า(ระดับม.ต้น)

พัฒนา วิชาการ งานล้ำค่า
วิทยา ศาสตร์เสริม เพิ่มสมอง
งานเคมี ชีวะวิทย์ ฟิสิกส์ลอง
แผ่นดินทอง ผองไทย ให้ร่มเย็น

วิทยา ศาสตร์ก้าวไกล ไทยก้าวหน้า
เปิดปัญญา ลดโลกร้อน ก่อนทุกข์เข็ญ
ปกป้องป่า แหล่งผืนน้ำ ลดลำเค็ญ
หมายมุ่งเน้น เห็นคุณค่า วิชาการ

เศรษฐกิจ ต้องตกอับ ระดับชาติ
เพียงเพราะขาด ปราญช์ความรู้ ครูประสาน
เศรษฐกิจ พอเพียง เลื่องลือนาน
เหล่าลูกหลาน ควรค้นคิด วิทย์เพื่อไทย

หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ทำกินยาก
บ่นลำบาก เพียงว่า เลือดตาไหล
หวังชาวนา ชาวบ้าน พ้นทุกข์ไว
วิทย์นำไทย พัฒนา ก้าวหน้าจริง

Credit by อ.วินัย ฉิมพาลี ผู้ช่วยดูแลการแต่งกลอนของนักเรียน


วิทยาศาสตร์ก้าวไกล นำไทยก้าวหน้า (ม.ปลาย)

วิทยา ศาสตร์ก้าวไกล ไทยก้าวหน้า
คงคุญค่า เคียงคู่เมือง เรื่องมองเห็น
วิทย์สร้างเสริม เพิ่มปัญญา พาร่มเย็น
จึงจำเป็น เน้นผู้เรียน เพียรทุกวัน

เศรษฐกิจ พอเพียง เลี้ยงชีวิตต
ค้ึ้นความคิด วิเคราะห์บ้าง สิ่งสร้างสรรค์
การเกษตร การเมือง เรื่องสำคัญ
คนไทยหัน เห็นหน้า สามัคคี

ลดโลกร้อน ก่อนนะเจ้า เฝ้าปลูกป่า
สายธารา ปลาหมดทุกข์ ล้วนสุขขี
เสริมทักษะ เสริมความรู้ คู่ความดี
ยึดวิถี สุขพอเพียง เลี้ยงผู้คน

พัฒนา วิชาการ กับงานวิทย์
สร้างความคิด พินิจเคราะห์ ความเหมาะสม
ภูมิปัญญา ช่วยคนไทย ไร้อกตรม
เสริมสุขสม ศาสตร์ก้าวไกล ไทยยั่งยืน

Credit by : อ.วินัย ฉิมพาลี


วิทยาศาสตร์สร้างชาติให้ก้าวไกล
วิทยาศาสตร์สร้างไทยให้ก้าวหน้า
วิทยาศาสตร์สร้างความรู้คู่ปัญญา
วิทยาศาสตร์พัฒนาคุณค่าคน


สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเท่าที่เห็น
ล้วนหลากเป็นปัญหามาทับถม
ทั้งแหล่งน้ำ ดิน ฟ้า กระแสลม
ถูกสะสมด้วยมลพิษให้บิดเบือน

อีกป่าไม้ สัตว์ แร่ธาตุ อากาศลด
จะเริ่มหมดถดถอยคอยคลาดเคลื่อน
น้ำท่วมฟ้าปลาก้าวกินดาวเดือน
สะท้อนเทือนทั่วไปในโลกเรา

เปรียบครั้งก่อนตอนปู่ย่าตายายเกิด
สิ่งประเสริฐสรรค์สร้างสร่างทุกข์เศร้า
ธรรมชาติสะอาดใสทั้งใจเรา
ไม่มัวเมาลืมหลงป่าดงดอน

สรรพสิ่งอิงอาศัยได้ร่วมสุข
ไม่รานรุก บุกแผ้ว แนวสิงขร
ฤดูกาล สานส่งตรงแน่นอน
หนาว ฝน ร้อน ใยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

สิ่งแวดล้อม พร้อมคืนกลับ ไม่สับสน
หากทุกคน ช่วยกัน มุ่งมั่นเสริม
จากตัวเรา เรียนรู้ กู้ต่อเติม
แล้วริเริ่ม สู่สังคม สมภาคภูมิ

เครดิต GARDEN DESIGN

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button