วันสำคัญ

วันหัวใจโลก ลดเสี่ยงโรคหัวใจ

วันหัวใจโลกตรงกับวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี เป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ

วันหัวใจโลก

วันหัวใจโลก (World Heart Day) เป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอเชิญชวนประชาชนร่วมรณรงค์วันหัวใจโลก

วันหัวใจโลกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2543 โดยสมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) อันเกิดจากความร่วมมือของสององค์กร คือ The International Society of Cardiology (ISC) และ International Cardiology Federation ซึ่งได้ร่วมกันก่อตั้งวันหัวใจโลกขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้วันนี้เป็นวันสำคัญสากลที่ช่วยเตือนให้คนทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายของโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งนับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ และเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 17.5 ล้านคนต่อปี องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนทั่วโลก

ทั้งนี้ในช่วงสิบปีแรกของการก่อตั้งวันหัวใจโลก ทางสมาพันธ์หัวใจโลกกำหนดให้ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกันยายนเป็นวันหัวใจโลก กระทั่งเมื่อปี 2554 จึงมีมติเปลี่ยนแปลงวันหัวใจโลกขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้วันที่ 29 กันยายน ของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

Advertisement

คำขวัญวันหัวใจโลก

คำขวัญวันหัวใจโลก

  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2000 : I Love my Heart : Let it beat!
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2001 : A Heart for Life
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2002 : What Shape are you in ?
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2003 : Women, Heart Disease and Stroke
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2004 : Children, Adolescents and Heart Disease
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2005 : Healthy Weight, Healthy Shape
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2006 : How Young is Your Heart ?
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2007 : Team Up for Healthy Hearts !
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2008 : Know your Risk
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2009 : I Work with Heart
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2010 : I Work with Heart
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2011 : One World, One Heart, One Home
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2012 : One World, One Heart, One Home
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2013 : Take the road to a healthy heart
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2014 : Heart Choices NOT Hard Choices
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2015 : Creating heart-healthy environments
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2016 : Light Your Heart, Empower Your Life
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2017 : Share the power
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2018 : My Heart, Your Heart
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2019 : My Heart, Your Heart
  • คำขวัญวันหัวใจโลก 2020 : Be a Heart Hero

My Heart, Your Heart ใจเขา ใจเรา

ซึ่งเป็นการทำสัญญากับตัวเอง โดยประเด็นในการสัญญา 3 ข้อ คือ

  1. สัญญา…ว่าจะดื่มกินอย่างชาญฉลาด ด้วยการลดบริโภคเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลและน้ำผลไม้ที่มีรสหวาน เปลี่ยนจากการกินขนมหวานมากินผลไม้สดแทน งดดื่มแอลกอฮอล์หรือควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม พยายามงดเว้นอาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ซึ่งล้วนมีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง
  2. สัญญา…ว่าจะกระฉับกระเฉงมากขึ้น ด้วยการตั้งเป้าอย่างน้อย 30 นาที กับการออกกำลังกายในระดับเข้มข้น 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์
  3. สัญญา…ว่าจะโบกมือลาบุหรี่ ด้วยการเลิกบุหรี่ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ดีที่สุดที่ดูแลหัวใจให้มีสุขภาพดี, เลิกบุหรี่ภายใน 2 ปี จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด, การสูดดมควันบุหรี่ของผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ก็ทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เลิกบุหรี่นอกจากจะช่วยตัวคุณเองสุขภาพดีขึ้นแล้ว ยังมีผลดีต่อคนรอบข้างด้วย ถ้าไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ด้วยตัวเองควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
โรคหัวใจ คือ

โรคหัวใจ คือ

โรคหัวใจ (Heart Disease) หมายถึง โรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ โดยโรคหัวใจสามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายกลุ่มโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นต้น

ชนิดของโรคหัวใจ

ชนิดของโรคหัวใจ

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ มักส่งผลให้มีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก ร้าวไปตามกราม แขน ลำคอ ท้อง หรือบริเวณหลัง และบางครั้งอาจมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือหมดสติได้
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ อาจเต้นเร็วผิดปกติ ช้าผิดปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้รู้สึกใจสั่น แต่บางครั้งอาจแสดงอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หรือคล้ายจะเป็นลมได้เช่นกัน
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มักมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม และมีอาการมากขึ้นเมื่อต้องออกแรงหนัก ๆ ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจที่รุนแรงมากขึ้นจะทำให้มีอาการเหนื่อยแม้ขณะนั่งอยู่เฉย ๆ มีอาการบวมตามแขน ขา หนังตา ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ และตื่นขึ้นมาไอในเวลากลางคืน
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อทารกอยู่ในครรภ์มารดา โดยอาจแสดงอาการทันทีเมื่อแรกคลอด หรือแสดงอาการมากขึ้นในภายหลังก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือกลุ่มที่มีอาการเขียวและกลุ่มไม่มีอาการเขียว ในกลุ่มที่มีอาการยังไม่รุนแรงมากอาจสังเกตได้ในภายหลัง เช่น เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน แต่ในกลุ่มที่มีอาการมากจะทำให้เลี้ยงไม่โต ทารกมีอาการเหนื่อยขณะให้นมหรือติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย ๆ เป็นต้น
  • โรคลิ้นหัวใจ อาการของโรคขึ้นอยู่กับความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เกิดขึ้น ในกลุ่มที่มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจได้ยินเสียงผิดปกติจากการตรวจร่างกายเท่านั้น แต่หากมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจมากก็จะมีอาการเหนื่อยง่าย และเกิดภาวะหัวใจวายหรือน้ำท่วมปอดได้
  • โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ อาการที่แสดงถึงโรคนี้ ได้แก่ มีไข้ โดยมักจะเป็นไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย ไอเรื้อรังแห้ง ๆ ขาหรือช่องท้องบวม รวมถึงมีผื่นหรือจุดขึ้นตามผิวหนัง
วิธีป้องกันโรคหัวใจ

วิธีป้องกันโรคหัวใจ

  1. คิดสักนิดก่อนรับประทาน เพราะโภชนาการมีส่วนสำคัญทั้งด้านบำรุงและเสริมสร้างสุขภาพ ลดเค็ม หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง และไขมันชนิดอิ่มตัวสูง งดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเพิ่มอาหารที่มีกากใยเป็นประจำ เช่น ข้าวกล้อง ผลไม้บางชนิด
  2. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับมาตรฐาน ไม่อ้วนและไม่ผอมจนเกินไป
  3. การออกกำลังกายเพื่อเผาพลาญพลังงานส่วนเกิน มีเป้าหมายเพื่อสร้างความฟิต ให้กับร่างกาย โดยไม่หักโหมจนเกินไป เพื่อบริหารกล้ามเนื้อหัวใจให้มีการสูบฉีดสม่ำเสมอ
  4. ฝึกมองโลกในแง่ดี ไม่เครียด เพราะคนเราเมื่อเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลิน และนอร์อะดรีนาลิน ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดหดตัว หัวใจต้องทำงานหนัก ในการส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายให้ได้ เมื่อเกิดความเครียดต้องเรียนรู้ที่จะจัดการกับมันอย่างถูกวิธี เป็นการคิดบวกเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิต
  5. ฝึกเป็นผู้ให้ โดยการหากิจกรรมจิตอาสา ที่ทำแล้วมีความสุขไม่เดือดร้อนผู้อื่น
  6. ฝึกระงับอารมณ์ ด้วยการไปไหว้พระทำบุญ นั่งสมาธิ หรือระงับความโกรธ
  7. อย่าละเลยที่จะตรวจเช็คสุขภาพ อย่างน้อยควรได้รับการตรวจเช็คว่าระดับไขมันโคเลสเตอรอล และไขมันไตรกลีเซอรอลในเลือดสูงเกินไปหรือไม่ เป็นการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ และอัมพาตได้ หากพบว่ามีสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของหัวใจเกิดขึ้น เช่น หายใจไม่สะดวก เจ็บร้าวไปที่คอ กราม ลิ้นปี่ เหงื่อออกมาก เหนื่อยง่าย ใจสั่น ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

Advertisement

Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button
Shopee