วันสำคัญ

วันตำรวจ กลอนวันตำรวจ กิจกรรมงานวันตำรวจ

วันตำรวจ เดิมตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เปลี่ยนเป็นวันที่ 17 ตุลาคม ของทุกปีแทน แต่เนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต

Advertisement

วันตำรวจ

วันตำรวจของไทย เดิมตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เนื่องจากวันที่ 13 ตุลาคม 2458 เป็นวันประกาศรวม กรมพลตระเวน กับ กรมตำรวจภูธร เป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า กรมตำรวจ (ในภายหลังได้เปลี่ยนเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) กรมตำรวจจึงถือเอาวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็น วันตำรวจ โดยมีการประกอบพิธีในวันตำรวจอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2492 ซึ่งขณะนั้น พล.ต.อ.หลวงชาติตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจ

ประวัติวันตำรวจ

ประวัติวันตำรวจ

ในปี 2494 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นได้จัดให้มีพิธีเดินสวนสนาม และปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึง 2500 หลังจากนั้นได้ระงับการจัดพิธีเดินสวนสนามที่เป็นการรวมหน่วยทุกหน่วยของตำรวจ ประกอบแต่พิธีทางศาสนาและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพียงอย่างเดียว

ในวันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม 2495 ได้มีพิธีสวนสนามของเหล่าข้าราชการตำรวจต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ลานพระราชวังดุสิต (พระบรมรูปทรงม้า) ในการนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานธงชัยประจำหน่วยตำรวจให้แก่หน่วยตำรวจต่าง ๆ เป็นครั้งแรกจำนวน 6 ธง (สำนักราชเลขาธิการเรียกธงดังกล่าวว่า ธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยตำรวจ) พร้อมพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ขบวนสวนสนามของตำรวจ

Advertisement

ในวันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2496 ได้มีพิธีสวนสนามของข้าราชการตำรวจและนักเรียนพลตำรวจของโรงเรียนพลตำรวจภูธรภาค 4 ต่อหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ณ ลานพระราชวังดุสิต (พระบรมรูปทรงม้า) ในการนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานธงชัยประจำหน่วยตำรวจให้แก่โรงเรียนพลตำรวจภูธรภาค 4 (สำนักราชเลขาธิการเรียกธงดังกล่าวว่า ธงชัยเฉลิมพลประจำกองโรงเรียนพลตำรวจภูธรภาค 4) พร้อมพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ขบวนสวนสนาม

ในวันพุธที่ 13 ตุลาคม 2497 ได้มีพิธีสวนสนามของข้าราชการตำรวจและนักเรียนพลตำรวจของโรงเรียนพลตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 3 และภาค 8 ต่อหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ลานพระราชวังดุสิต (พระบรมรูปทรงม้า) ในการนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานธงชัยประจำหน่วยตำรวจให้แก่โรงเรียนพลตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 3 และภาค 8 รวม 3 ธง (สำนักราชเลขาธิการเรียกธงดังกล่าวว่า ธงชัยเฉลิมพลประจำกองโรงเรียนพลตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 3 และภาค 8) พร้อมพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ขบวนสวนสนาม

ในส่วนของนักเรียนนายร้อยตำรวจ และนายตำรวจปกครองของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้กระทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยประจำหน่วยตำรวจ และสวนสนาม ภายในโรงเรียนนายร้อยตำรวจเนื่องในวันตำรวจเป็นประจำตลอดมาทุกปี จนกระทั่งในปี 2550 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้จัดให้มีพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของเหล่าข้าราชการตำรวจ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ขึ้น ณ ราชมังคลากีฬาสถาน โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี และได้อัญเชิญธงชัยประจำหน่วยตำรวจซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกับธงชัยเฉลิมพลของทหาร จำนวนทั้งสิ้น 13 ธง มากระทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนามในครั้งดังกล่าว

ในปี 2551 ได้มีพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนาม เนื่องในวันตำรวจเฉพาะนักเรียนนายร้อยตำรวจและคณะนายตำรวจปกครองของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ณ ลานฝึกศรียานนท์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

ต่อมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้อนุมัติหลักการให้มีการจัดพิธีกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามเนื่องในวันตำรวจ ณ ลานฝึกศรียานนท์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยการสนธิกำลังนักเรียนนายร้อยตำรวจร่วมกับข้าราชการตำรวจจากกองบัญชาการต่าง ๆ ในทุก ๆ ปี ทั้งนี้โดยเชิญธงชัยประจำหน่วยตำรวจเข้าร่วมในพิธีจำนวน 6 ธง ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

แต่เนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต ในปีถัดมาคือปี 2560 จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงวันตำรวจเป็นวันที่ 17 ตุลาคมของทุกปี โดยยึดตามวันที่มีการเปลี่ยนแปลงจากกรมตำรวจเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 17 ตุลาคม 2541

กลอนวันตำรวจ

งานตำรวจ ตรวจตรา หาคนผิด เพื่อพิชิต คนพาล สันดานถ่อย
เพื่อมิให้ ก่อกรรม ขึ้นซ้ำรอย และเพื่อคอย คุ้มครอง ผองคนดี

กระบวนการ ยุติธรรม จะล้ำค่า ชาวประชา ยกย่อง สิ้นหมองศรี
ทุกสังคม สุขเกษม สุดเปรมปรีดิ์ ย่อมอยู่ที่ เบื้องต้น คนตรวจตรา

หากตำรวจ เป็นกลาง อย่างแท้เที่ยง ไม่ลำเอียง ด้วยใจ ใฝ่มิจฉา
ยึดสัตย์ซื่อ ถือมั่น คำสัญญา ในสัจจา ปฏิญาณ งานที่ทำ

จะอยู่ไหน ปวงชน ก็พ้นทุกข์ สงบสุข สังคม ไม่จมต่ำ
สมเพลงมาร์ช ที่ร้อง ก้องประจำ ตำรวจทำ ถูกต้อง เพื่อผองชน

หากตำรวจ อ่อนไหว ในอามิส มุ่งจะคิด หาประโยชน์ โฉดฉ้อฉล
ใช้อำนาจ ช่วยเหลือ เพื่อพวกตน ประชาชน ผิดหวัง ทั้งแผ่นดิน

วันตำรวจ เวียนมา อีกคราครั้ง ฝากความหวัง เลอเลิศ อันเฉิดฉิน
ให้ตำรวจ ใฝ่ดี ทุกชีวิน สุขสมจินต์ ทั่วหน้า สถาพร

ใครทำดี มีสุข ทุกชั้นยศ เกียรติปรากฏ ภิญโญ สโมสร
ปลอดการเมือง น้ำเน่า เข้าบั่นทอน ปลอดวงจร ต่ำทราม ข้ามหัวเอย

กิจกรรมวันตำรวจ

สำหรับการประกอบพิธีวันตำรวจอย่างเป็นทางการครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2492 ในสมัยที่ พล.ต.อ.หลวงชาติ ตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจ และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี 2494 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นได้จัดงานวันตำรวจ โดยให้มีพิธีเดินสวนสนาม และปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึง 2500

หลังจากนั้นได้ระงับการจัดพิธีเดินสวนสนามที่เป็นการรวมหน่วยทุกหน่วยของตำรวจ และให้ประกอบพิธีทางศาสนาและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่ในส่วนของนักเรียนนายร้อยตำรวจ และนายตำรวจปกครองของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้กระทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยประจำหน่วยตำรวจ และสวนสนามภายในโรงเรียนนายร้อยตำรวจเนื่องใน วันตำรวจ เป็นประจำตลอดมาทุกปี

ในปี 2550 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้จัดให้มีพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของเหล่าข้าราชการตำรวจ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ณ ราชมังคลากีฬาสถาน โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี และได้อัญเชิญธงชัยประจำหน่วยตำรวจซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกับธงชัยเฉลิมพลของทหาร จำนวนทั้งสิ้น 13 ธง มากระทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม

อนุสาวรีย์ตำรวจ

อนุสาวรีย์ตำรวจ

อนุสาวรีย์ตำรวจ แต่เดิมตั้งอยู่หน้าตึกปทุมวัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี แห่งกรมศิลปากรเป็นช่างปั้นรูปหุ่น ตำรวจอุ้มคนเจ็บ มีเด็กญาติคนเจ็บเกาะขา ลักษณะของอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นนี้ฐานส่วนล่างเป็น รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสทำด้วยหินอ่อน มีส่วนกว้างและสูงด้านละ 1.35 เมตร ภายในกลวงสำหรับบรรจุอัฐิตำรวจผู้เสียชีวิตในหน้าที่ราชการ รอบ ๆ ฐานด้านหน้ามีรูปตราโล่และตัวอักษรจารึกว่า ผู้พิทักษ์รับใช้ ประชาชน ส่วนด้านข้างอีก 2 ด้าน มีพวงหรีดทำด้วยทองเหลืองติดอยู่ และด้านหลังมีประตูเหล็กปิดเปิดสำหรับเก็บอัฐิบนฐานเป็นรูปหุ่นตำรวจเท่า กับคนตัวจริงหล่อด้วยทองเหลือยืนอุ้มคนเจ็บและมี เด็กญาติคนเจ็บเกาะขาตำรวจอยู่ ตอนล่างของฐานเป็น แท่งหินอ่อนมีบันใดหินอ่อน 3 ขั้น ขึ้นลงได้ทั้ง 4 ด้าน รองรับอีกชั้นหนึ่ง

อนุสาวรีย์ตำรวจยืนอุ้มคนเจ็บโดยมีเด็กญาติคนเจ็บเกาะขาตำรวจอยู่นี้ มีความหมายว่า นอกจากตำรวจจะทำหน้าที่ในการปราบปรามแล้วยังมี หน้าที่บริการและการช่วยเหลือระงับทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน อัน ได้แก่การบริการและการช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น ช่วยคนเป็นลม คนตกน้ำ คนหลงทาง คนข้ามถนน คนเจ็บป่วย ผู้ประสบอุบัติเหตุ และในเวลาค่ำคืนก็ช่วยเตือนเจ้าบ้านให้ปิดประตูหน้าต่างป้องกันโจรกรรม ตลอดจนเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน

อนุสาวรีย์ตำรวจผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน สร้างขึ้นเสร็จพร้อมกับตึกสำนักงานตำรวจและได้ทำพิธีเปิดในวันตำรวจเมื่อวัน ที่ 13 ตุลาคม 2496 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญชิ้นหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

Advertisement

Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button
Shopee