วันนี้ในอดีต

8 ธันวาคม ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเข้าไทย

8 ธันวาคม 2484 เช้าตรู่วันนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่น “ยกพลขึ้นบก” โดยเดินทัพเข้าไทยทั้งทางบกและทางทะเลด้านอ่าวไทย 7 จังหวัดภาคใต้

เริ่มสงคราม

ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00 น. กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ปัตตานีและบางปู สมุทรปราการ และบุกเข้าประเทศไทยทางบกที่อรัญประเทศ กองทัพญี่ปุ่นสามารถขึ้นบกได้โดยไม่ได้รับการต่อต้านที่บางปู ส่วนทางภาคใต้และทางอรัญประเทศมีการต่อสู้ต้านทานอย่างหนักของทหารไทย ประชาชนทั่วไปและอาสาสมัครที่เป็นเยาวชน ที่เรียกว่า ยุวชนทหาร ในบางจังหวัด เช่นการรบที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร กล่าวคือ กลุ่มยุวชนทหารและกองกำลังผสมทหารตำรวจซึ่งกำลังจะต่อสู้ปะทะกันอยู่ที่สะพานท่านางสังข์ โดยที่กลุ่มยุวชนทหารนั้นมีผู้บังคับการคือร้อยเอกถวิล นิยมเสน ในระหว่างการสู้รบร้อยเอกถวิลนำกำลังยุวชนทหารออกมาปะทะกองทหารญี่ปุ่น แม้ร้อยเอกถวิลจะถูกทหารญี่ปุ่นยิงเสียชีวิต แต่ยุวชนทหารยังคงสู้ต่อไปจนกระทั่งรัฐบาลสั่งหยุดยิง เมื่อเวลา 11.00 น. โดยประมาณ เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นทราบว่ากลุ่มยุวชนทหารหลายคนเป็นเพียงนักเรียนมัธยมศึกษา จึงส่งหนังสือเชิดชูความกล้าหาญมายังกระทรวงกลาโหม และร้อยเอกถวิล นิยมเสน ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นพันโท ส่วนการเชิดชูเกียรติของยุวชนทหารผู้เสียชีวิตและผู้ร่วมต่อสู้ในครั้งนั้น มีอนุสาวรีย์ยุวชนทหารอยู่ที่ริมสะพานท่านางสังข์ เป็นรูปยุวชนทหารพร้อมกับอาวุธปืนยาวติดดาบปลายปืน ในท่าเฉียงอาวุธ ยืนอยู่บนแท่น สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2524

ต่อมารัฐบาลได้ประกาศกฎอัยการศึก ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลา 20.45 น. โดยใช้บังคับทั่วประเทศไทย โดยมี จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ กฎอัยการศึกใช้ต่อเนื่องและยกเลิกในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2489 เวลา 6.00 น. โดยมีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ซึ่งในระยะแรกกองทัพญี่ปุ่นยังไม่อาจบุกเข้ามาได้ ทางญี่ปุ่นเองได้ประกาศว่า ไม่ต้องการยึดครองประเทศไทยแต่จะขอใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังพม่าและอินเดีย เท่านั้น การต่อสู้ทำท่าว่าจะยืดเยื้อต่อไป จนกระทั่งอัครราชทูตญี่ปุ่นเดินทางมาพบนายกรัฐมนตรีเมื่อเวลาประมาณ 07.55 น. พร้อมกับคำขู่ว่า ญี่ปุ่นได้เตรียมเครื่องบินทิ้งระเบิดไว้ 250 ลำที่ไซ่ง่อน เพื่อจะมาทิ้งระเบิดกรุงเทพมหานคร ถ้าไทยไม่ยอมให้ผ่าน มีกำหนดเวลา 10.30 น. รัฐบาลไทยเห็นว่า ไม่อาจต้านทานกองกำลังญี่ปุ่นได้นาน จึงยอมยุติการต่อสู้ และประกาศทางวิทยุให้ทุกฝ่ายหยุดยิง เมื่อเวลา 10.00 น. ในวันที่ 11 ธันวาคม และในวันที่ 17 ธันวาคม รัฐบาลไทยโดยจอมพล.ป ได้รับคำปรึกษาจากทูตทหารเยอรมันให้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเนื่องจากสถานการณ์ทางการรบของญี่ปุ่นกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ จนในที่สุดในอีก 4 วันต่อมา รัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในวันที่ 21 ธันวาคม ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และในวันที่ 25 มกราคม สถานการณ์ผลจากสงครามทวีความรุนแรงขึ้นอัครราชทูตญี่ปุ่นได้ชักชวนรัฐบาลไทยให้ร่วมลงนามเป็นพันธมิตรทางการทหารกับฝ่ายอักษะอย่างเต็มตัวโดยมีการลงนามโดยผ่านสถานทูตญี่ปุ่นและเยอรมันประจำกรุงเทพมหาครและได้ยกเลิกความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button