นิทานชาดก

นิทานชาดก : กำเนิดสุรา

ในนิทานชาดก : กำเนิดสุรา ได้กล่าวถึงนายพรานป่าคนหนึ่งชื่อสุระ ที่ได้พบเห็นน้ำประหลาดในป่า น้ำนั้นเกิดจากน้ำฝนที่ไหลลงมารวมตัวกันกับลูกสมอ มะขามป้อม และพริกไทยที่หล่นลงมาหมักอยู่ในน้ำ เมื่อฝูงนกและฝูงลิงมาดื่มน้ำนั้น ก็เกิดอาการมึนเมาและพลัดตกลงมาจากต้นไม้

กำเนิดสุรา

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารภหญิงนักดื่มสุรา 500 คน ผู้เป็นสหายของนางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า…

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว สมัยของพระเจ้าพรหมทัตครองเมืองพาราณสี มีนายพรานป่าคนหนึ่งชื่อสุระ ได้เข้าป่าเพื่อหาของป่าค้าขาย มีต้นไม้ต้นหนึ่งลำต้นตรงสูงขนาดเท่าคนยืน มี 3 คาคบ ตรงกลางมีโพรงขนาดเท่าตุ่มน้ำ เมื่อฝนตกน้ำก็จะขังเต็มเปี่ยม ลูกสมอ มะขามป้อม และพริกไทยที่ขึ้นอยู่รอบข้างต้นไม้นั้น ก็จะหล่นไปหมักอยู่ในน้ำนั้น และที่ใกล้ ๆ ต้นไม้นั้นมีข้าวสาลีเกิดเองอยู่เมื่อนกคาบรวงข้าวสาลีบินไปจับกินอยู่บนต้นไม้น้น เมล็ดข้าวสาลีก็หล่นลงไปในน้ำนั้น

เมื่อย่างเข้าฤดูร้อน ฝูงนกกระหายน้ำก็จะบินมากินน้ำที่ต้นไม้นั้น ก็มึนเมาพลัดตกลงไปที่โคนต้นไม้นั้น ม่อยหลับไปสักครู่หนึ่งก็บินขึ้นไปได้ ฝูงลิงก็เช่นกัน วันหนึ่งนายพรานสุระไปพบเห็นสิ่งแปลกประหลาดนั้นเข้า ก็คิดแปลกใจว่า “แปลกจริงหนอ..ถ้าน้ำนี้มีพิษ พวกสัตว์เหล่านี้คงตายไปแล้วละ แต่นี่มันร่วงลงมานอนสักครู่หนึ่งแล้วก็เดินหนีไปได้ น้ำนี่คงไม่มีพิษอะไร “จึงลองดื่มดูเกิดอาการมึนเมาแล้วอยากจะกินเนื้อสัตว์ จึงก่อไฟปิ้งนกที่ร่วงลงมาพื้นดินนั้นกิน มือหนึ่งฟ้อนรำ มือหนึ่งถือปิ้งนกกัดกินเขาเป็นอยู่อย่างนี้ถึง 2 วัน จึงออกเดินหาของป่าโดยไม่ลืมตักน้ำใส่กระบอกไม้ไผ่นำไปดื่มด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง
Advertisement

ในที่ไม่ไกลจากนั้น มีดาบสชื่อวรุณะบำเพ็ญพรตอยู่ นายพรานสุระเมื่อเดินหาของป่าไปพบเห็นดาบสนั้นเข้า จึงชวนให้มาดื่มน้ำที่เขาใส่กระบอกไม่ไผ่ไปด้วยนั้น คนทั้งสองจึงดื่มน้ำนั้นกับเนื้อย่างร่วมกัน เพราะเหตุนั้นน้ำนั้นเขาจึงเรียกว่าสุราบ้าง วรุณีบ้าง ตามชื่อของพรานและดาบสนั้น

เมื่อดื่มน้ำนั้นด้วยกัน คนทั้งสองจึงเกิดความคิดในการประกอบอาชีพได้อย่างหนึ่ง พากันตักน้ำใส่กระบอกไม่ไผ่แล้วหาบเข้าเมืองไปถวายพระราชา พระราชาเสวยแล้วเกิดติดใจในรสชาติจึงรับสั่งให้คนทั้งสองนำมาถวายอีก พร้อมกับประทานรางวัลให้พวกเขาทั้งสองไปนำน้ำนั้นมาถวายพระราชาอีก เมื่อหมดก็รับสั่งให้ไปนำมาถวายอีก ในระหว่างทางคนทั้งสองจึงปรึกษากันว่า “พวกเราไม่สามารถจะเทียวมาเทียวไปได้ตลอดปี หาทางปรุงสุราขึ้นเองในเมืองจะดีกว่า” จึงจดจำสิ่งประกอบในน้ำนั้นแล้ว นำมาปรุงในเมืองถวายพระราชา และขายให้แก่ประชาชนทั่วไป ชาวเมืองพากันดื่มสุราจนมัวเมาไม่ประกอบอาชีพ เลยยากจนเข็ญใจไปตาม ๆ กัน ไม่นานเมืองนั้นก็เป็นเหมือนเมืองร้าง มีแต่นักเลงสุราไม่มีคนทำมาหากินอะไร

คนทั้งสองเมื่อเห็นว่าไม่มีใครจะมีกำลังทรัพย์พอจะซื้อสุราได้แล้ว จึงหนีไปอยู่เมืองพาราณสี ไม่นานเมืองพาราณสีก็เป็นเช่นกันกับเมืองร้าง จึงหนึไปอยู่เมืองสาวัตถี ในสมัยนั้นพระเจ้าสัพพมิตต์ปกครองเมือง พระองค์ได้ทำการต้อนรับคนทั้งสองเป็นอย่างดี และให้ทำการปรุงสุรามาถวาย ขณะเดียวกันก็ส่งทหารสอดแนมไปสังเกตดูพฤติกรรมของคนทั้งสอง

นายพรานสุระและวรุณดาบส ทำการปรุงสุราจำนวน 500 ตุ่มตั้งไว้เกรงว่าหนูจะมาลงตุ่ม จึงฝึกแมว 500 ตัวไว้ข้างตุ่มนั้นเมื่อแมวหิวจึงพากันดื่มน้ำนั้นมึนเมาเหลับไป พวกหนูมาแทะหู จมูกและหางแมวก็ไม่ตื่น ขณะนั้นพวกทหารสอดแนมที่พระราชาส่งมาเฝ้าดูคนทั้งสองเห็นแมวนอนตายหมด จึงไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ

พระเจ้าสัพพมิตต์เห็นว่าคนทั้งสองปรุงยาพิษหวังจะลอบปลงพระชนม์จึงมีรับสั่งให้นำไปประหารชีวิต แม้คนทั้งสองจะทูลให้ทราบว่าเป็นสุรารสอร่อยก็ไม่ทรงเชื่อฟัง เมื่อประหารชีวิตคนทั้งสองแล้ว จึงรับสั่งให้ทำลายตุ่มเหล่านั้นเสีย พวกทหารจะไปทำลายตุ่มสุรา เห็นแมวกลับมีชีวิตคืนมาเหมือนเดิมจึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาจึงรับสั่งให้จัดเตรียมสุราขึ้นมาถวายเพื่อจะทดลองดื่มดู

ในขณะที่พระราชาจะดื่มสุรานั้นเอง ท้าวสักกะเห็นความพินาศจักมีแก่ชาวเมืองสาวัตถี จึงแปลงร่างเป็นพราหมณ์มือหนึ่งถือหม้อสุรา เหาะมายืนอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระราชาร้องขายหม้ออยู่

พระราชาตรัสถามว่า “ท่านเป็นใครมาร้องขายหม้ออยู่กลางอากาศเช่นนี้ หม้อท่านใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง”

พราหมณ์ตอบว่า

“ขอเดชะ หม้อใบนี้มิใช่หม้อน้ำผึ้งเป็นหม้อที่มีโทษมาก กล่าวคือผู้ใดดื่มน้ำในหม้อนี้แล้วเดินโซซัดโซเซ ตกหลุมตกบ่อ ไม่มีกฎเกณฑ์ในใจ เทียวหยำเปไป ฟ้อนรำ ขับร้องได้ เดินแก้ผ้าเปลือยกายตามถนนก็ได้ นอนตื่นสาย พูดคำที่ไม่ควรพูด กินอาหารที่เหลือเดนสุนัขได้ นอนจมอยู่ในอาเจียนของตน มีตาขวาง เข้าใจว่าบ้านเมืองเป็นของเราผู้เดียว ทะเลาะวิวาท เสียทรัพย์สินเงินทอง ไร่นา ด่ามารดาบิดาได้ ฆ่าสมณชีพราหมณ์ได้ ท่านจงซื้อหม้อใบนี้เสียเถิด น้ำในหม้อใบนี้ ก็เป็นสุราเช่นเดียวกัน ถ้าประสงค์จกเห็นความพินาศของตนเองและบ้านเมืองแล้ว จงดื่มเถิด”

พระราชา “พราหมณ์..ท่านมิใช่มารดาบิดาของเรายังหวังดีแก่เราปานนี้ ขอมอบบ้านเก็บภาษี 5 ตำบล ทาสี 500 คนวัว 700 ตัว รถม้าอาชาไนยอีก 10 คัน แก่ท่าน ขอท่านจงเป็นอาจารย์แก่ข้าพเจ้าเถิด”

พราหมณ์แสดงตนให้ทราบว่าเป็นท้าวสักกะแล้วให้โอวาทว่า “พระราชา..บ้าน ทาสี วัว และรถม้าอาชาไนยจงเป็นของท่านตามเดิมเถิดเราเป็นท้าวสักกะ ขอพระองค์จงตั้งอยู่ในธรรมอย่าประมาทเถิด” เมื่อประทานโอวาทแก่พระราชาแล้ว ท้าวสักกะก็เสด็จกลับยังสถานวิมานของพระองค์ทันที

ฝ่ายพระราชาก็ไม่ดื่มสุรานั้น รับสั่งให้ทำลายทิ้งทั้งหมด สมาทานศีลบริจาคทานแล้วในที่สุดของชีวิตไปเกิดในสวรรค์ ส่วนการดื่มสุราก็มีมาในโลกมนุษย์ แต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

การดื่มสุราไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษฝ่ายเดียว ทำให้เสียทรัพย์เสียของรัก และทำให้ผู้คนประกอบกรรมชั่วได้ สาธุชนเมื่อทราบเช่นนี้แล้วมิควรดื่มสุราเลย

Advertisement

กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม
Advertisement

Fern A.

สามารถสร้างสรรค์เรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งนิทาน นิทานชาดก และนิทานอีสป โดยฉันจะเน้นไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยข้อคิดสอนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านั้น เชื่อว่านิทานเป็นสื่อที่ทรงพลัง สามารถปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ นิทานสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งเลว รู้จักแก้ไขปัญหา และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button
Shopee