เรื่องน่าสนใจ

ประวัติและกติกาบาสเกตบอล ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

บาสเกตบอล (ภาษาอังกฤษ: Basketball) หลายคนก็คงอยากรู้จักกับประวัติบาสเกตบอลและกฏกติกาบาสเกตบอล ให้มากขึ้นเพื่อความสนุกในการชมและเชียร์เวลามีการแข่งขัน

ประวัติบาสเกตบอล

ประวัติบาสเกตบอล

ประวัติบาสเกตบอล มีความเป็นมายาวนานกว่า 100 ความพิเศษอย่างหนึ่งของบาสเกตบอล ถูกคิดขึ้นโดยคนเพียงคนเดียว เป็นกีฬาประจำชาติอเมริกัน ถูกคิดขึ้น เพื่อต้องการช่วยเหลือบรรดาสมาชิก Y.M.C.A. ได้เล่นกีฬาในฤดูหนาว เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวสภาพพื้นภูมิประเทศโดยทั่ว ๆ ไป ถูกหิมะปกคลุมอันเป็นอุปสรรคในการเล่นกีฬากลางแจ้ง เช่น อเมริกันฟุตบอล เบสบอล คณะกรรมการสมาคม Y.M.C.A. ได้พยายามหาหนทางแก้ไขให้บรรดาสมาชิกทั้งหลายได้เล่นกีฬาในช่วงฤดูหนาวโดยไม่บังเกิดความเบื่อหน่าย

ในปี ค.ศ.1891 Dr.James A.Naismith ครูสอนพลศึกษาของ The International Y.M.C.A. Training School อยู่ที่เมือง Springfield รัฐ Massachusetts ได้รับมอบหมายจาก Dr.Gulick ให้เป็นผู้คิดค้นการเล่นกีฬาในร่มที่เหมาะสมที่จะใช้เล่นในช่วงฤดูหนาว Dr.James ได้พยายามคิดค้นดัดแปลงการเล่นกีฬาอเมริกันฟุตบอลและเบสบอลเข้าด้วยกันและให้มีการเล่นที่เป็นทีมในครั้งแรก Dr.James ได้ใช้ลูกฟุตบอลและตะกร้าเป็นอุปกรณ์สำหรับให้นักกีฬาเล่น เขาได้นำตะกร้าลูกพีชไปแขวนไว้ที่ฝาผนังของห้องพลศึกษา แล้วให้ผู้เล่นพยายามโยนลูกบอลลงในตะกร้านั้นให้ได้ โดยใช้เนื้อที่สนามสำหรับเล่นให้มีขนาดเล็กลงแบ่งผู้เล่นออกเป็นข้างละ 7 คน ผลการทดลองครั้งแรกผู้เล่นได้รับความสนุกสนานตื่นเต้น แต่ขาดความเป็นระเบียบ มีการชนกัน ผลักกัน เตะกัน อันเป็นการเล่นที่รุนแรงในการทดลองนั้น ต่อมา Dr.James ได้ตัดการเล่นที่รุนแรงออกไป

กติกาบาสเกตบอล

กติกาบาสเกตบอล

Dr.James ได้ทำการวางกติกาห้ามผู้เล่นเข้าปะทะถูกเนื้อต้องตัวกัน นับได้ว่าเป็นหลักเบื้องต้นของการเล่นบาสเกตบอล Dr.James จึงได้วางกติกาการเล่นบาสเกตบอลไว้เป็นหลักใหญ่ ๆ 4 ข้อ ด้วยกัน คือ

  1. ผู้เล่นที่ครอบครองลูกบอลอยู่นั้นจะต้องหยุดอยู่กับที่ห้ามเคลื่อนที่ไปไหน
  2. ประตูจะต้องอยู่เหนือศีรษะของผู้เล่น และอยู่ขนานกับพื้น
  3. ผู้เล่นสามารถครอบครองบอลไว้นานเท่าใดก็ได้ โดยคู่ต่อสู้ไม่อาจเข้าไปถูกต้องตัวผู้เล่นที่ครอบครองบอลได้
  4. ห้ามการเล่นที่รุนแรงต่าง ๆ โดยเด็ดขาด ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่กระทบกระแทกกัน

เมื่อได้วางกติกาการเล่นขึ้นมาแล้วก็ได้นำไปทดลอง และพยายามปรับปรุงแก้กไขระเบียบดีขึ้น เขาได้พยายามลดจำนวนผู้เล่นลงเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน จนในที่สุดก็ได้กำหนดตัวผู้เล่นไว้ฝ่ายละ 5 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมที่สุดกับขนาดเนื้อที่สนาม Dr.James ได้ทดลองการเล่นหลายครั้งหลายหน และพัฒนาการเล่นเรื่อยมา จนกระทั่งเขาได้เขียนกติกาการเล่นไว้เป็นจำนวน 13 ข้อ ด้วยกัน และเป็นต้นฉบับการเล่นที่ยังคงปรากฏอยู่บนกระดานเกียรติยศในโรงเรียนพลศึกษา ณ Springfield อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

กติกาบาสเกตบอล 13 ข้อ

  1. สามารถโยนลูกบอลด้วยมือข้างเดียวหรือสองมือ
  2. สามารถตีลูกบอลด้วยมือข้างเดียวหรือสองมือ แต่ต้องไม่ใช้กำปั้น
  3. ห้ามถือลูกบอลวิ่งต้องโยนลูกบอลจากจุดที่ถือลูกบอล ผู้เล่นสามารถวิ่งเพื่อคว้าบอล
  4. ต้องถือลูกบอลด้วยมือ แขนหรือลำตัว ห้ามดึงลูกบอล
  5. ห้ามใช้ไหล่ดัน ผลัก ดึง ตบหรือตี ฝ่ายตรงข้าม หากเกิดการละเมิดให้ถือเป็น ฟาล์ว หาก กระทำซ้ำอีก ถือเป็น ฟาล์วเสียสิทธิ์ จนกว่าจะเกิดการยิงประตูเป็นผลในคราวต่อไป หรือเกิดผู้เล่นบาดเจ็บของผู้เล่นตลอดการแข่งขัน ห้ามเปลี่ยนตัวผู้เล่น
  6. การฟาล์วเป็นการกระแทกลูกบอลด้วยกำปั้นและการผิดระเบียบของกติกาข้อ 3,4 และตาม รายละเอียดตามกติกาข้อ 5
  7. หากผู้เล่นฝ่ายเดียวกันกระทำฟาล์วติดต่อกัน 3 ครั้ง ให้นับคะแนน (การฟาล์วติดต่อกัน หมายถึง เป็นการฟาล์วที่ไม่มีการฟาล์วของฝ่ายตรงข้ามคั่นระหว่างการฟาล์วติดต่อนั้น)
  8. เมื่อลูกบอลถูกตี หรือโยนจากพื้นเข้าประตู ให้นับคะแนน หากลูกบอลค้างก้านห่วงโดยผู้ เล่นฝ่ายป้องกันสัมผัสหรือกระทบประตู ให้นับคะแนน
  9. เมื่อลูกบอลออกนอกสนามให้ส่งบอลเข้าเล่นที่สัมผัสลูกบอลครั้งแรกในกรณี ที่มีผู้คัดค้าน กรรมการผู้ร่วมตัดสิน (Umpire) จะโยนบอลเข้าไปในสนาม ผู้เล่น ที่ส่งบอลสามารถใช้เวลาได้ 5 วินาที หากเกินกว่านั้นฝ่ายตรงข้ามได้ส่งบอลแทน หากมีการคัดค้านและทำให้การแข่งขัน ล่าช้า กรรมการผู้ร่วมตัดสิน (Umpire) สามารถขานฟาล์วเทคนิค
  10. กรรมการผู้ร่วมตัดสิน (Umpire) มีหน้าที่ตัดสินและจดบันทึดการฟาล์ว เกิดฟาล์วต่อกัน ครบ 3 ครั้ง ให้แจ้งต่อผู้ตัดสิน (Referee) และสามารถให้ฟาล์วเสียสิทธิ์ ตามกติกาข้อ 5
  11. ผู้ตัดสิน (Referee) มีหน้าที่ตัดสินชี้ขาด เมื่อลูกบอลเข้าสู่การเล่นในพื้นที่ของเขาและเป็นผู้ จับเวลา ,ให้คะแนนเมื่อเกิดการยิงประตูเป็นผล ,จดบันทึกคะแนนและรับผิดชองตามพื้นที่
  12. เวลาการแข่งขัน แบ่งเป็น 2 ครึ่ง ๆ ละ 15 นาที พัก 5 นาที
  13. เมื่อหมดเวลาการแข่งขัน ฝ่ายที่ทำคะแนนมากกว่าเป็นผู้ชนะ กรณีมีคะแนนเท่ากันให้ หัวหน้าทีมตกลงกันเพื่อแข่งขันต่อจนกว่ามีฝ่ายใดทำคะแนนได้

ประวัติบาสเกตบอลในประเทศไทย

กีฬาบาสเกตบอลแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในสมัยใด ปีใดนั้น มิได้มีหลักฐานที่จะปรากฏยืนยันแน่ชัดได้ ทราบแต่เพียงว่า ในปี พ.ศ. 2477 นายนพคุณ พงษ์สุวรรณ อาจารย์สอนภาษาจีนที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุข ได้ช่วยเหลือกรมพลศึกษาจัดแปลกติกาการเล่นบาสเกตบอลขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 กระทรวงธรรมการ ได้จัดการอบรมครูจังหวัดต่าง ๆ จำนวน 100 คน ภายในระยะเวลา 1 เดือน และได้รับความช่วยเหลือจาก พ.ต.อ. หลวงชาติตระการโกศล ผู้ซึ่งมีความรู้และเชี่ยวชาญทางการเล่นกีฬาบาสเกตบอลคนหนึ่ง ทั้งได้เคยเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการแข่งขัน เมื่อครั้งท่านกำลังศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา มาเป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับเทคนิคและวิธีเล่นบาสเกตบอลแก่บรรดาครูที่เข้ารับการอบรม ต่อมาก็เป็นผลทำให้กีฬาบาสเกตบอลแพร่หลายไปทั่วประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2496 สมาคมบาสเกตบอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทยได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามแบบอันถูกต้อง โดยจดทะเบียนที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้กลายมาเป็นสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยในปีเดียวกันนั้นเอง และในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 สมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมบาสเกตบอลระหว่างประเทศ

วิธีการเล่นบาสเกตบอล

วิธีการเล่นบาสเกตบอล

เกมจะแบ่งการเล่นเป็น 4 ควอเตอร์ (quarter) แต่ละควอเตอร์มี 10 นาที (สากล) หรือ 12 นาที (เอ็นบีเอ) ช่วงพักครึ่งนาน 15 นาที ส่วนพักอื่น ๆ ยาว 2 นาที ช่วงต่อเวลา (overtime) ยาว 5 นาที ทีมจะสลับด้านสนามเมื่อเริ่มครึ่งหลัง เวลาจะเดินเฉพาะระหว่างที่เล่น และนาฬิกาจะหยุดเดินเมื่อเกมหยุด เช่น เมื่อเกิดการฟาวล์ หรือระหว่างการชูตลูกโทษ เป็นต้น ดังนั้นเวลาทั้งหมดที่ใช้แข่งมักยาวกว่านี้มาก (ประมาณสองชั่วโมง)

ในขณะใดขณะหนึ่งจะมีผู้เล่นในสนามฝ่ายละห้าคน และจะมีผู้เล่นสำรองสูงสุดทีมละเจ็ดคน สามารถเปลี่ยนตัวได้ไม่จำกัดและเปลี่ยนได้เฉพาะเมื่อเกมหยุด ทีมยังมีโค้ชที่ดูแลทีมและวางกลยุทธ์ในการเล่น รวมถึงผู้ช่วยโค้ช ผู้จัดการทีม นักสถิติ แพทย์ และเทรนเนอร์

เครื่องแบบนักกีฬาสำหรับทีมชายและหญิงตามมาตรฐานได้แก่ กางเกงขาสั้นและเสื้อกล้ามที่มีหมายเลขผู้เล่นชัดเจนพิมพ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รองเท้าเป็นรองเท้ากีฬาหุ้มข้อเท้า อาจมีชื่อทีม ชื่อนักกีฬา และสปอนเซอร์ ปรากฏบนชุดด้วยก็ได้

แต่ละทีมจะได้เวลานอกจำนวนหนึ่งสำหรับให้โค้ชและผู้เล่นปรึกษากัน มักยาวไม่เกินหนึ่งนาที ยกเว้นเมื่อต้องการโฆษณาระหว่างการถ่ายทอดสด

เกมควบคุมโดยกรรมการและหัวหน้ากรรมการผู้ตัดสินในสนาม และกรรมการโต๊ะ กรรมการโต๊ะมีหน้าที่บันทึกคะแนน ควบคุมเวลา บันทึกจำนวนฟาล์วผู้เล่นและฟาล์วทีม ดูเรื่องการเปลี่ยนตัว โพเซสซันแอร์โรว์ และช็อตคล็อก

การนับคะแนน

หลักการเล่นที่สำคัญที่สุดของกีฬาบาสเกตบอล นั่นคือ การทำแต้มด้วยการโยนลูกบอลเข้าห่วงของคู่แข่งให้มากกว่า และพยายามป้องกันไม่ให้คู่แข่งโยนลูกบอลเข้าห่วงของตัวเอง โดยที่การโยนลูกบอลเข้าห่วงในพื้นที่นอกเขตโทษ จะได้ 3 คะแนน, ในเขตโทษได้ 2 คะแนน และจุดโทษได้ 1 คะแนน

มารยาทในการเล่นบาสเกตบอล

มารยาทในการเล่นบาสเกตบอล

  • มีความรู้เรื่องระเบียบและกฎกติกาการเล่น
  • การแต่งกายด้วยชุดที่เหมาะสมต่อการเล่นหรือการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอล
  • เล่นกีฬาด้วยความสนุกสนานและมีมารยาท มีความสุภาพทั้งกิริยาท่าทางตลอดจนคำพูด เวลาการเล่นกีฬาบาสเกตบอล
  • ให้เกียรติและเชื่อฟัง ยอมรับคำตัดสินของผู้ตัดสิน
  • มีน้ำใจนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักให้อภัย
  • เป็นผู้ที่ตรงต่อเวลา
  • ไม่ควรดูถูกความสามารถผู้อื่น จะด้วยวาจาหรือท่าทาง
  • ควรแสดงความยินดีและชมเชยเมื่อผู้เล่น เล่นได้ดี
  • ควรเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้เล่นบ้างเมื่ออุปกรณ์มีจำกัด
  • ไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการยั่วยุหรือกลั่นแกล้งผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม
  • ต้องเล่นตามระเบียบตามกติกาที่กำหนดไว้
  • เชื่อฟังคำสั่งของหัวหน้าทีมหรือผู้ฝึกสอน และต้องปฏิบัติตาม
  • มีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมาย
  • รู้จักระงับอารมณ์เมื่อเกิดการยั่วยุจากฝ่ายตรงข้าม
  • ไม่ครอบครองลูกบอลแต่เพียงผู้เดียวต้องแจกจ่ายให้เพื่อนร่วมทีมบ้าง
  • เมื่อเล่นกีฬาแพ้หรือชนะไม่ควรดีใจหรือเสียใจจนเกินไป
  • การเล่นกีฬาต้องเล่นอย่างสุดความสามารถไม่ว่าตนเองจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะ
  • หลังจากการแข่งขันแล้วไม่ว่าจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะจะต้องฝึกซ้อมให้ดียิ่งขึ้น
  • ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ในขณะฝึกซ้อมหรือแข่งขัน

ประโยชน์ของบาสเกตบอล

  • ช่วยพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคมแก่บุคคล
  • ช่วยพัฒนาและส่งเสริมกลไกการเคลื่อนไหวร่างกาย ให้ทำงานประสานกันดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมือ เท้า สายตาให้เคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง
  • เป็นกิจกรรมนันทนาการสำหรับพักผ่อน คลายความตึงเครียดแก่ผู้เล่นและผู้ชม
  • ช่วยฝึกการตัดสินใจและรู้จักคิดแก้ปัญหา ตลอดจนมีสมาธิดี
  • ช่วยฝึกให้มีน้ำใจนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักชนะและรู้จักให้อภัย
  • ใช้เป็นสื่อในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและส่วนรวม
  • ใช้เป็นสื่อในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในวิชาพลศึกษา
  • ผู้เล่นที่มีความสามารถจะทำชื่อเสียงให้ตัวเอง วงศ์ตระกูลและประเทศชาติ
  • เป็นวิชาชีพด้านหนึ่งสำหรับงานกีฬา เช่น การแข่งขัยบาสเกตบอลอาชีพ

ทิ้งท้าย

ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลคร่าว ๆ ของกีฬาบาสเกตบอล หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจกฏกติกา และประวัติบาสเกตบอลกันมากขึ้น

อ่านต่อ

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button