เรื่องน่าสนใจ

Ponzi Scheme (แชร์ลูกโซ่) คืออะไร

Ponzi Scheme (แชร์ลูกโซ่) มีหลายระดับ และทุกระดับเริ่มต้นด้วยผู้ริเริ่ม ผู้คนหรือบริษัทที่เริ่ม Ponzi Scheme มุ่งความสนใจไปที่การดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ ให้มาลงทุน รายได้จากนักลงทุนรายใหม่จะถูกทำเครื่องหมายว่าเป็นกำไรจากการทำธุรกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายและใช้เพื่อจ่าย “ผลตอบแทน” ให้กับนักลงทุนเดิม

Ponzi Scheme (แชร์ลูกโซ่)

Ponzi Scheme (แชร์ลูกโซ่)

เป็นปฏิบัติการลงทุนแบบฉ้อฉลที่ผู้ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือเป็นองค์กร จ่ายผลกำไรให้แก่นักลงทุนโดยใช้เงินลงทุนใหม่จากนักลงทุนใหม่ แทนที่จะใช้ผลกำไรที่ผู้ดำเนินการลงทุนหาได้ ผู้ดำเนินการวิธีนี้มักจะโน้มน้าวชักชวนผู้ลงทุนใหม่ โดยให้ผลกำไรที่สูงกว่าการลงทุนประเภทอื่น ๆ ในรูปแบบที่ได้ผลเร็ว ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนที่สูงหรืออย่างสม่ำเสมอโดยไม่น่าเชื่อ

ธุรกิจพอนซีบางครั้งจะเริ่มตั้งตัวเป็นธุรกิจที่สมควรตามเหตุผล จนกระทั่งประสบความล้มเหลวที่จะได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง แล้วธุรกิจก็จะกลายเป็นการฉ้อฉลแบบพอนซีถ้ายังดำเนินการต่อไปโดยแสดงผลตอบแทนที่ทำไม่ได้จริง ๆ ไม่ว่าสถานการณ์ตอนแรกจะเป็นอย่างไร การแสดงผลตอบแทนระดับสูงบังคับให้ต้องมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากนักลงทุนใหม่ ๆ เพื่อจะดำรงธุรกิจ

การฉ้อฉลเป็นแบบธุรกิจที่มีชื่อตามนายชาลส์ พอนซี่ ที่กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงอื้อฉาวหลังจากที่ได้ใช้เทคนิคนี้ในปี พ.ศ. 2463 แต่ความจริง ไอเดียนี้มีอยู่ในหนังสือนิยายมาตั้งนานแล้ว เช่น ในนิยายของชาลส์ ดิกคินส์ในปี 2387 (Martin Chuzzlewit) และในปี 2400 (Little Dorrit) แต่นายพอนซี่ได้นำกลเม็ดนี้มาใช้จริง ๆ และได้เงินมามากจนเป็นผู้ที่รู้จักกันดีทั่วสหรัฐอเมริกา ธุรกิจเริ่มต้นของนายพอนซี่เป็นการซื้อและขายในต่างตลาดเวลาเดียวกัน (arbitrage) ซึ่งวิมัยบัตร (IRC) ที่สามารถใช้แลกแสตมป์ได้ แต่ไม่นานเท่าไรเขาก็ต้องเปลี่ยนไปใช้กลเม็ดพอนซี่โดยการเอาเงินทุนของนักลงทุนใหม่ไปจ่ายนักลงทุนเก่าและตัวเขาเอง

นายพอนซี่ได้โฆษณาว่า เขาสามารถให้ผลตอบแทนเป็นเท่าตัวภายใน 90 วัน จนเขาได้เงินรวมกัน 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 440 ล้านบาทคิดเทียบค่าเงินปัจจุบัน) จากผู้ลงทุน 30,000 คนภายใน 7 เดือนก่อนที่ธุรกิจจะล้มเหลว แล้วต่อมาจึงถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปีในฐานะฉ้อฉลผ่านไปรษณีย์

Ponzi Model

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ดำเนินการจะสัญญาว่าจะให้ผลกำไรที่พิเศษสำหรับเงินทุนที่ให้ โดยอาจจะกล่าวถึงรายละเอียดอย่างคลุมเครือว่าเป็น “การค้าขายสัญญาการประกันความเสี่ยงที่จะได้ผลข้างหน้า” (hedge futures trading) หรือ “โปรแกรมการลงทุนที่ได้ผลกำไรสูง” หรือ “การลงทุนนอกประเทศ” ผู้โปรโหมตแนวคิดจะขายแชร์ให้แก่ผู้ลงทุน โดยฉวยโอกาสจากการไม่มีความรู้หรือไม่มีความสามารถ หรืออ้างว่าจะใช้กลวิธีการลงทุนที่บริษัทมีกรรมสิทธิ์โดยเฉพาะที่ต้องเก็บเป็นความลับเพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่งอื่น

ธุรกิจพอนซี่บางครั้งเริ่มปฏิบัติการเป็นการลงทุนที่สมเหตุสมผล เช่น กองทุนบริหารความเสี่ยง แต่ว่า กองทุนบริหารความเสี่ยงสามารถเสื่อมลงกลายไปเป็นธุรกิจพอนซี่ถ้าเกิดการขาดทุนอย่างไม่คาดฝัน (หรือแม้แต่ไม่สามารถที่จะได้ผลกำไรตามที่สัญญาหรือตามที่คาดหวัง) และถ้าผู้ดำเนินการแทนที่จะยอมรับความผิดพลาดไม่สามารถทำได้ตามสัญญา กลับกุว่าได้ผลกำไรที่ไม่มีจริงและปลอมรายงานบัญชีเพื่อแสดงผลกำไรถ้าจำเป็น

มีวิธีหรือกลยุทธ์การลงทุนหลายอย่างที่ตอนแรกเป็นธุรกิจที่สมเหตุสมผล แต่ภายหลังกลับกลายไปเป็นธุรกิจพอนซี่ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของนายแอลเลน สแตนฟอร์ด ที่ใช้บัตรเงินฝากของธนาคารเพื่อฉ้อโกงคนเป็นหมื่น ๆ ในรัฐเท็กซัส บัตรเงินฝากของธนาคารปกติเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยและมีประกันจากรัฐบาล แต่ว่า บัตรธนาคารของสแตนฟอร์ดเป็นเรื่องฉ้อฉล ซึ่งรัฐบาลกลางสหรัฐฟ้องคดีว่าเป็นธุรกิจที่ฉ้อโกงทรัพย์สินเป็นจำนวนเงิน 7-8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 243,000-247,000 ล้านบาท)

ในตอนแรกผู้โปรโหมตการลงทุนจะจ่ายค่าตอบแทนสูงเพื่อดึงดูดนักลงทุนเพิ่มขึ้น และเป็นการชักชวนให้นักลงทุนปัจจุบันเพิ่มเงินลงทุน เมื่อนักลงทุนอื่น ๆ เริ่มลงทุน ก็จะกลายเป็นผลที่สืบเนื่องกัน ผลตอบแทนที่ให้แก่นักลงทุนพวกแรกมาจากเงินลงทุนของนักลงทุนต่อ ๆ มา ไม่ใช่มาจากผลกำไรที่ได้จริง ๆ

บ่อยครั้ง ผลตอบแทนที่สูงจะกระตุ้นให้นักลงทุนไม่ถอนผลกำไรหรือต้นทุนออกจากกองทุน ดังนั้น ผู้ดำเนินการจึงไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่นักลงทุนมากนัก เพียงแค่ต้องส่งใบแจ้งว่าตนกำลังได้ผลตอบแทนเท่าไร ซึ่งทำให้ดำรงภาพพจน์ได้ง่ายว่าเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง

ผู้ดำเนินการจะพยายามลดการถอนเงินโดยสร้างโปรแกรมใหม่ ๆ สำหรับผู้ลงทุน บ่อยครั้งเป็นการไม่ให้ถอนเงินเป็นระยะเวลายาวขึ้น แลกกับผลกำไรที่เพิ่มขึ้น ผู้ดำเนินการบ่อยครั้งได้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นโดยแจ้งว่า ผู้ลงทุนไม่สามารถถ่ายโอนทุนจากโปรแกรมแรกไปยังโปรแกรมที่สอง และถ้ามีผู้ลงทุนไม่มากที่ต้องการถอนเงินตามสัญญา ก็จะมีการจ่ายเงินให้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างภาพพจน์หลอกลวงแก่ผู้ลงทุนอื่น ๆ ว่า กองทุนมีเงินจริง ๆ

แชร์ลูกโซ่ในประเทศไทย

แชร์แม่ชม้อย

ในประเทศไทย แชร์แม่ชม้อยเป็นรูปแบบหนึ่งของกลเม็ดพอนซี่ ดีแชร์แม่ชม้อย ที่นางชม้อย ทิพย์โสได้รับชวนจากเพื่อนร่วมงานให้ลงทุนค้าน้ำมันซึ่งตนเห็นว่าได้ผลตอบแทนสูงจริง จึงได้ชักชวนบุคคลอื่น ๆ ให้เขามาร่วมลงทุนด้วย จนในที่สุดก็กลายเป็นธุรกิจที่ฉ้อโกงประชาชนไปกว่า 4 พันล้านบาท

แชร์ยูฟัน

แชร์ “ยูฟัน” เป็นรูปแบบการชักชวนให้นำเงินมาลงทุนเป็นเครือข่าย มีทั้งการขายหน่วยการลงทุน “ยูโทเคน” เป็นหน่วยลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย แต่บริษัทอ้างว่าเป็นสกุลเงินมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คล้ายกับการลงทุนหุ้น แต่ได้ผลตอบแทนเร็วและมีมูลค่าสูงกว่าหุ้น

สาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียหายมากคือหากสามารถหาสมาชิกมาเพิ่มได้ จะให้ส่วนแบ่ง 7-12% จากเงินที่สมาชิกใหม่นำมาลงทุนใหม่ ซึ่งก็มีการนำเงินหมุนเวียนจากสมาชิกเก่ามาจ่ายให้สมาชิกใหม่ให้ตายใจเหมือนแชร์ลูกโซ่ที่ผ่าน ๆ มา โดยมีผู้เสียหาย 2,451 คน รวมเป็นเงิน 352 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังปรากฏข้อมูลว่า มีการให้ลงทุนเป็น 5 ระดับ หรือ 5 ตำแหน่ง คือ ระดับ 1 ดาว 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทย 17,500 บาท ระดับ 2 ดาว 1,000 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทย 35,000 บาท ระดับ 3 ดาว 5,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 175,000 บาท ระดับ 4 ดาว 10,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 350,000 บาท และระดับ 5 ดาว 50,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 1,750,000 บาท

แชร์แม่มณี

แชร์แม่มณีเป็นแชร์ลูกโซ่ที่เริ่มต้นจาก “แม่มณี” แม่ค้าออนไลน์ ที่เปิดวงแชร์ชวนคนมาออมและลงทุน ผ่านโซเชียลมีเดียโดยอ้างว่าให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 93% ในระยะสั้น เช่นให้ลงทุนวงละ 1,000 บาท จะได้รับผลตอบแทน 930 บาท/วง เมื่อครบกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ลงทุนหรือวันที่ฝากเงินมายังบัญชีที่พวกจำเลยแจ้ง ผู้ลงทุนจะได้รับเงินที่ลงทุนพร้อมผลตอบแทนกลับไปจำนวนวงแชร์ละ 1,930 บาท

Forex 3D

Forex 3D ชักชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมลงทุนโดยอ้างว่าจะนำเงินไปซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Forex)

โดยเสนอผลตอบแทน 60-80% ของเงินผลกำไรที่ได้จากการนำไปลงทุนเทรดค่าเงิน โดยชักชวนผ่านทางเว็บไซต์ www.forex-3d.com อ้างว่ามีเทรดเดอร์มืออาชีพเป็นผู้เทรดให้กับผู้ลงทุน อ้างว่ามีมืออาชีพอย่าง บริษัทอาร์เอ็มเอสฯ เทรดให้ เริ่มต้นลงทุนประมาณ 5,000 บาท แถมมีการประกันเงินต้น 100% ไม่มีการขาดทุน ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก ๆ ในมิติของการลงทุนที่มีความเสี่ยง การหลอกลวงในครั้งนี้เป็นเหตุให้มีผู้เสียหาย จำนวน 8,436 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,908 ล้านบาท

บ้าน milk milk

บ้าน milk milk หรือ “บ้านออมเงิน” อีกหนึ่งเคส ที่ใช้การออมเงินดอกเบี้ยสูง หรือที่เรียกกันว่า “ออมกินดอก” มาจูงใจ นักศึกษาวัย 22 ปี เปิดเพจเฟซบุ๊คเพื่อให้สมาชิกนำเงินเข้ามาออมไว้ตัวเองแล้วให้ผลตอบแทนการันตีเป็นราย 10 วัน 20 วันหรือ 30 วัน ซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นก็ลดหลั่นกันไปตามจำนวนเงินที่นำมาฝาก เช่น ฝาก 10,000 บาทเป็นเวลาหนึ่งเดือนหรือ 30 วันจะได้รับเงินกลับไปเป็นเงิน 13,000 บาท

โดยการอ้างเป็นการฝากเงิน ออมเงิน เป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายและรู้สึกว่าไม่มีความเสี่ยงใด ๆ ไม่ต้องศึกษาอะไรเพิ่มเติมทำให้หลายคนตัดสินใจนำเงินมาฝากไว้กับ บ้าน milk milk เพื่อหวังผลตอบแทนสูงลิบเมื่อเทียบกับการฝากในบัญชีออมทรัพย์ หรือฝากประจำ ทำให้หลายคนนำเงินมาร่วมออม ก่อนจะประกาศล้มวงแชร์ ครั้งนี้มีผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 1,000 สูญเงินรวมกันมูลค่าทั้งหมดราว 300-400 ล้านบาท

คำถามที่พบบ่อย

Ponzi Scheme (แชร์ลูกโซ่) ทำเงินได้อย่างไร?

เป็นการหลอกลวงการลงทุนที่ผลตอบแทนสำหรับนักลงทุนรุ่นแรก ๆ จะได้รับเงินจากเงินที่รวบรวมจากนักลงทุนใหม่ ๆ นักลงทุนในโครงการจะได้รับผลตอบแทนสูงโดยมีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย

Ponzi Scheme (แชร์ลูกโซ่) ผิดกฎหมายหรือไม่?

แผนการของ Ponzi ถือเป็นการฉ้อโกง พวกเขาไม่ได้นำเงินมาลงทุนจริง พวกเขาเก็บเงินจากนักลงทุนรายใหม่และจ่ายเงินนักลงทุนรายเก่า พวกเขาโอนเงินจากลูกค้ารายหนึ่งไปยังอีกรายหนึ่งและไม่ได้ทำการลงทุนจริง นอกจากนี้พวกเขายังเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับบริการการลงทุน

เหตุใด Ponzi Scheme จึงเรียกว่า Ponzi Scheme

เป็นโครงการลงทุนที่ผิดกฎหมายซึ่งจ่ายเงินให้นักลงทุนที่มีอยู่ส่วนหนึ่งของเงินทุนที่รวบรวมมาจากนักลงทุนรายใหม่ โครงการ Ponzi ได้รับการตั้งชื่อตาม Charles Ponzi ซึ่งเคยก่ออาชญากรรมที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งในนิวอิงแลนด์เมื่อปี 1920 เขาโน้มน้าวให้นักลงทุนลงทุนในแสตมป์และเสนออัตราดอกเบี้ย 50% ต่อไตรมาส ในช่วงเวลาเดียวกัน ธนาคารได้จ่ายอัตราดอกเบี้ย 8% ต่อปี คุณ Ponzi ใช้เงินทุนจากนักลงทุนรายใหม่เพื่อจ่ายผลตอบแทนให้กับนักลงทุนที่มีอยู่

ธนาคารเป็น Ponzi Scheme หรือไม่?

ธนาคารไม่ใช่ Ponzi Schemes ธนาคารมีการลงทุน โครงการ และพันธมิตรที่แท้จริงซึ่งพวกเขาสร้างรายได้ จากรายได้ ธนาคารสร้างรายได้ให้กับสมาชิกธนาคาร

ข้อมูลอ้างอิง

  • wikipedia. “การฉ้อฉลแบบพอนซี” [online]. เข้าถึงได้จาก: https://bit.ly/3sz0Ac6 สืบค้น 14 พฤษภาคม 2565
  • bangkokbiznews. “ย้อนรอย แชร์ลูกโซ่” [online]. เข้าถึงได้จาก: https://www.bangkokbiznews.com/business/954228 สืบค้น 14 พฤษภาคม 2565

อ่านต่อ

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button