เรื่องน่าสนใจ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 หมายกำหนดการที่ควรรู้

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

หลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกระหว่างวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม 2562

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ พระราชพิธีที่ พระมหากษัตริย์ไทย ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการด้วยการถวายน้ำอภิเษกและการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎโดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้แบ่งออกเป็น 2 พระราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นการผสมผสานกันระหว่างธรรมเนียมของ ศาสนาฮินดู และ ศาสนาพุทธ ซึ่งต้องย้อนกลับไปหลายศตวรรษโดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกประกอบไปด้วย พระราชพิธีสรงพระมูรธาภิเษก พระราชพิธีถวายน้ำอภิเษก พระราชพิธีถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ และ การสถาปนาพระราชินีและพระราชวงศ์ ส่วนพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรเป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นโดยเหล่าสมาชิกของราชวงศ์ใน พระบรมมหาราชวัง

ภายหลังจากประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นแล้วพระมหากษัตริย์ที่ผ่านการสวมมงกุฎแล้วจะประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทองไปประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะและเสด็จไปสักการะพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชบูรพการี

การเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2567

การเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

https://www.youtube.com/playlist?list=PLVVkmo0XytzXKIqEVHaWmE5hzrfB7bmSP

เดือนเมษายน

  • 6 เมษายน  พลีกรรม ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์
  • 8 เมษายน  พิธีปลุกเสกน้ำทุกจังหวัดพร้อมกัน
  • 9 เมษายน  ดับเทียนชัย เวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก
  • 18 เมษายน  เสกน้ำอภิเษกรวมจากกรุงเทพฯ และ 76 จังหวัด ประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนตร์ เจริญพระพุทธมนต์ ทำน้ำพระพุทธมนต์
  • 19 เมษายน  แห่เชิญน้ำอภิเษก วัดสุทัศนเทพวราราม ไปยัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  • 22 เมษายน  พระสงฆ์ 10 รูปเจริญพระพุทธมนต์
  • 23 เมษายน  พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ

เดือนพฤษภาคม

  • 2 พฤษภาคม เสด็จพระราชดำเนินบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์
  • 3 พฤษภาคม เชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพและพระราชลัญจกร ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
  • 4 พฤษภาคม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
  • 5 พฤษภาคม เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค
  • 6 พฤษภาคม เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ให้คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

พฤษภาคม – พฤศจิกายน

  • ขบวนพยุหยาตราชลมารค
Gran Palacio Bangkok

ประวัติพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ตามโบราณราชประเพณีของไทย พระนามของผู้ได้รับการเลือกเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ก็ยังคงใช้ขานพระนามเดิม เป็นแต่เพิ่มคำว่า ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน ต่อท้ายพระนาม เครื่องยศบางอย่างก็ต้องลด เช่น พระเศวตฉัตร มีเพียง 7 ชั้น มิใช่ 9 ชั้น คำสั่งของพระองค์ ก็ไม่เรียกว่าพระบรมราชโองการ จนกว่าจะได้ทรงรับการบรมราชาภิเษก จึงถวายพระเกียรติยศโดยสมบูรณ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทย ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คือ ศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย กล่าวคือ พ่อขุนผาเมืองอภิเษกพระสหายคือ พ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ครองกรุงสุโขทัย แต่ก็ไม่มีรายละเอียดการประกอบพระราชพิธี ว่ามีขั้นตอนอย่างใด

จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัติ ได้ทรงทำพระราชพิธีนี้อย่างสังเขป เมื่อ 2325 ครั้งหนึ่งก่อนแล้วทรงตั้งคณะกรรมการ โดยมีเจ้าพระยาเพชรพิชัย ซึ่งเป็นข้าราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นประธาน สอบสวนแบบแผนโดยถี่ถ้วน ตั้งขึ้นเป็นตำรา แล้วทรงทำบรมราชาภิเษกเต็มตำราอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ 2328 และได้ใช้เป็นแบบแผนในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของรัชกาลต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแต่ละรัชกาล ก็ได้ปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อย ให้เหมาะแก่กาลสมัย ที่สำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นปราชญ์ในทางอักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณี ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกราบบังคมทูล ของพราหมณ์และราชบัณฑิต ขณะถวายเครื่องราชกกุธกัณฑ์ กับพระราชดำรัสตอบเป็นภาษาบาลี และคำแปลเป็นภาษาไทย ทั้งนี้ อาจวิเคราะห์ได้ว่า พระราชพิธีนี้ มีคติที่มาจากลัทธิพราหมณ์ ผสมกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนบทมนต์ต่างๆ ของพราหมณ์นั้น นักวิชาการภาษาตะวันออกโบราณ วินิจฉัยว่า เป็นภาษาทมิฬโบราณ

ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อ 2493 นั้น สำนักพระราชวังได้ยึดถือการบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นหลัก แต่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองที่ยังไม่อุดมสมบูรณ์ เพราะเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง และเพื่อให้เหมาะสมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย แบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญด้วย

การอัญเชิญผู้มีบุญญาธิการขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

การพระราชพิธีสถาปนาพระมหากษัตริย์ ขึ้นครองสิริราชสมบัติตามคติอินเดียโบราณ จากตำราปัญจราชาภิเษก กล่าวถึงการสถาปนาว่า มีลักษณะ 5 ประการ

  1. มงคลอินทราภิเษก อันหมายถึงพระอินทร์ นำเครื่องปัญจราชกกุธภัณฑ์ มาอภิเษกผู้จะได้เป็นพระมหากษัตริย์
  2. มงคลโภคาภิเษก คือ ผู้มีทรัพย์และรู้จักราชธรรม สามารถเกื้อกูลราษฎร จึงได้รับการยกย่องขึ้นเป็นกษัตริย์
  3. มงคลปราบดาภิเษก คือ ผู้ที่จะเป็นกษัตริย์นั้น มีความกล้าหาญในการสงคราม มีชัยแก่ศัตรู และได้ราชาไอยสวรรค์มาครอบครอง
  4. มงคลราชาภิเษก คือ การสืบพระราชสันตติวงศ์
  5. มงคลอภิเษก คือ ผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ได้ โดยอภิเษกสมรสกับธิดา ผู้ที่มีเชื้อสายกษัตริย์เสมอกัน

ที่มา – พิธีบรมราชาภิเษก

อ่านต่อ

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button