วันสำคัญ

วันกองทัพไทย วันยุทธหัตถี วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

วันกองทัพไทย (ภาษาอังกฤษ: Thai Army’s Day) ตรงกับวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี และเป็นวันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อีกด้วย มาศึกษาเรียนรู้ประวัติความเป็นมากัน

ความสําคัญ วันกองทัพไทย วันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ความสําคัญ วันกองทัพไทย วันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

วันกองทัพไทย (ภาษาอังกฤษ: Thai Army’s Day) การกำหนดว่าวันไหนเป็นวันที่ระลึกของเหล่าทัพใด เริ่มมีมาตั้งแต่สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 2485 ครั้งนั้นรัฐบาลได้จัดให้มีวันที่ระลึกคล้ายวันสถาปนาหน่วยราชการต่างๆ ขึ้น และประกาศให้วันที่ “8 เมษายน” เป็น “วันกลาโหม”

โดยพิจารณาเห็นว่า วันที่ 8 เมษายน 2430 เป็นวันที่ออกประกาศการจัดการทหารและพระราชบัญญัติจัดตั้ง กรมยุทธนาธิการ ซึ่งถือว่าเป็นวันกำเนิดการทหารไทยแบบสมัยใหม่ และมีความเจริญก้าวหน้าติดต่อกันมาจนทุกวันนี้

ในปีต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศกำหนดวันที่ระลึกของกองทัพบก คือ วันที 28 กรกฎาคม กองทัพเรือ คือวันที่ 20 พฤศจิกายน และ กองทัพอากาศ คือวันที่ 10 มกราคม ตามลำดับ

การที่กองทัพบกเสนอวันที่ 28 กรกฎาคม เป็นวันกองทัพบกในครั้งนั้น เนื่องจากวันที่ 28 กรกฎาคม 2484 เป็นวันที่กองทัพไทยได้ฉลองชัยชนะกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส โดยกระทำพิธีสวนสนามรับมอบดินแดนในอินโดจีน ที่จังหวัดพระตะบอง

โดยมี พล.ท.หลวงพรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธี ดินแดนที่ประเทศไทยได้รับคืนคราวนั้นคือ ดินแดนของไทยทั้งหมดที่เสียให้แก่ฝรั่งเศส เมื่อ 2446 และ 2449 ได้แก่

  1. ดินแดนแคว้นหลวงพระบาง ที่อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
  2. ดินแดนแคว้นจัมปาศักดิ์ ที่อยู่ตรงข้ามปากเซ
  3. ดินแดนกัมพูชา ได้แก่ เมืองพระตะบอง ศรีโสภณ และไพลิน

ในปี 2494 สภากองทัพบกพิจารณาเห็นว่า ควรเลือกวันที่มีความสำคัญที่เป็นเกียรติประวัติในทางตำนานและประวัติศาสตร์ของชาติเป็นวันกองทัพบก ในที่สุด กองทัพบกได้กำหนดให้วันที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะสมเด็จพระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงสาวดี เมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง ซึ่งตรงกับวันที่ 25 มกราคม 2135

เป็นวันที่ระลึกสำหรับกองทัพบก โดยพิจารณาเห็นว่า การกระทำยุทธหัตถีครั้งนั้น นับเป็นการยุทธทางบกครั้งยิ่งใหญ่ ชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำมาซึ่งเอกราชของประเทศอย่างสมบูรณ์ และได้รับการยกย่องสรรเสริญทั่วไป ทั้งทวีปเอเซีย และทวีปยุโรป วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งต่อปวงชนชาวไทย เป็นวันที่คนไทยพึงตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณด้วยความภาคภูมิใจ ทั้งยังเกิดความรักและหวงแหนชาติบ้านเมือง ใน 2494 สำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ประกาศให้วันที่ 25 มกราคม ของทุกปีเป็นวันที่ระลึกของกองทัพบก

เมื่อ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2502 กระทรวงกลาโหมเห็นสมควรรวมวันที่ระลึกของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เป็นวันเดียวกัน วันที่ระลึกกระทรวงกลาโหม คือวันที่ 8 เมษายน และให้เรียกว่า วันกองทัพไทย ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเน้นในด้านความสามัคคี และความเป็นปึกแผ่นของกองทัพไทย ตลอดจนเน้นความประหยัดเป็นหลัก สำนักนายกรับมนตรีจึงประกาศให้วันที่ 8 เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกกองทัพไทย

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อ 2523 ได้ดำริว่า วันกองทัพไทยน่าจะเปลี่ยนเอาวันที่มีความสำคัญและมีความหมายยิ่งสำหรับทหารทั้งสามเหล่าทัพ พึงระลึกถึงด้วยความภาคภูมิใจ ปลุกใจให้เกิดความรักและหวงแหนชาติบ้านเมือง และพร้อมที่จะสละชีวิตเลือดเนื้อเป็นชาติพลี

ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีขึ้นในหมู่ทหาร ทั้งเป็นที่ชื่นชมยินดีของปวงชนชาวไทยอีกด้วย คณะรัฐตรีจึงมีมติกำหนดให้ วันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เป็นวันกองทัพไทย โดยใช้เหตุผลเดียวกับวันกองทัพบก และวันที่ 8 เมษายน ของทุกปีเป็นวันสถาปนากระทรวงกลาโหม โดยกำหนดให้ใช้เป็นทางการตั้งแต่ 2524

จะเห็นได้ว่า โดยหลักฐานแล้ว วันที่ระลึกของทั้ง 3 เหล่าทัพ ได้ถูกนำเข้าไปรวมเป็นวันกองทัพไทย ตั้งแต่ 2502 แต่การที่กองทัพต่าง ๆ จัดงานเฉลิมฉลองวันกองทัพของตนนั้นเป็นการกระทำภายในเหล่าทัพตนเท่านั้น เช่น ทอ.จัดงานวันกองทัพอากาศ ในวันที่ 27 มีนาคม และ ทร. จัดงานวันกองทัพเรือ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ส่วน ทบ. ยังคงยึดถือวันที่ 25 มกราคมเป็นวันกองทัพบก

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติให้วันที่ 25 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี เป็นวันยุทธหัตถี ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักฐานที่ราชบัณฑิตยสถานและคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเสนอ ซึ่งเป็นผลทำให้ประวัติศาสตร์ของวันยุทธหัตถีเปลี่ยนไป ดังนั้น เพื่อดำรงความมุ่งหมายเดิมในการกำหนดวันที่ระลึกกองทัพไทยและกองทัพบก

รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว กระทรวงกลาโหมและกองทัพบก จึงได้พิจารณาเปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยและวันกองทัพบก จากเดิมวันที่ 25 มกราคม เป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี โดยเริ่มใช้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป

ประวัติวันกองทัพไทย

ประวัติวันกองทัพไทย

ในปี 2135 พระเจ้าบุเรงนองโปรดให้พระมหาอุปราชา นำกองทัพทหารสองแสนสี่หมื่นคน มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงทราบว่า พม่าจะยกทัพใหญ่มาตี จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลังหนึ่งแสนคนเดินทางออกจากบ้านป่าโมก ไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง และตั้งค่ายหลวง บริเวณหนองสาหร่าย เช้าของวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง 2135 สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเครื่องพิชัยยุทธ สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง นามว่า เจ้าพระยาไชยานุภาพ

ส่วนพระสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างนามว่า เจ้าพระยาปราบไตรจักร ช้างทรงของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงา คือช้างมีงาที่ได้รับการฝึกให้รู้จักการต่อสู้ มาแล้ว หรือ เคยผ่านสงครามชนช้าง ชนะช้างตัวอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามพม่า

หลงเข้าไปในแดนพม่า มีเพียงทหารรักษาพระองค์ และจาตุรงค์บาท เท่านั้น ที่ติดตามไปทัน สมเด็จพระนเรศวร ทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าเท้าพระยา จึงทราบได้ว่าช้างทรง ของสองพระองค์หลงถลำเข้ามา ถึงกลางกองทัพ และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบ ของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึก จึงไสช้างเข้าไปใกล ้แล้วตรัสถาม ด้วยคุ้นเคย มาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า

“เจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้ทำไม ขอเชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกัน ให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะชนช้างอย่างเราไม่มีอีกแล้ว”

พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอ เข้าชน เจ้าพระยาไชยานุภาพ เสียหลัก พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพ ชนพลาย พัทธกอ เสียหลัก

สมเด็จพระนเรศวร ทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงฟันเจ้าเมืองจาปะรีเสียชีวิตเช่นกัน ทหารพม่าเห็นว่าแพ้แน่แล้ว จึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวรได้รับบาดเจ็บทันใดนั้น ทัพหลวงไทยตามมาช่วยทัน จึงรับทั้งสองพระองค์กลับพระนคร พม่าจึงยกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป นับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเลย

วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
รูปพระนเรศวร

ประวัติพระนเรศวรมหาราช

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นพระโอรสองค์โตของพระสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าและพระวิสุทธิ กษัตรีย์ ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า สมเด็จพระนเรศวรได้ถูกนำเป็นองค์ประกันที่เมืองหงสาวดี

ในระหว่างที่พำนักอยู่ที่นั่น พระองค์ได้ศึกษาวิชาความรู้ ความสามารถต่าง ๆ ด้วยความหวังที่แรงกล้าว่าจะได้กลับมากู้ชาติกู้แผ่นดินอีกครั้ง แต่ด้วยความที่สมเด็จพระนเรศวรเป็นผู้ที่มีความกตัญญูรู้คุณ พระองค์จึงไม่อยากที่จะทำการใด ๆ ในระหว่างที่พระเจ้าบุเรงนองยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ แต่พอภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรก็ได้กลับมายังพระนครศรีอยุธยาบ้านเกิดอีกครั้ง และด้วยความสามารถที่เป็นเลิศทางด้านการศึกของพระองค์ โดยเฉพาะการทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ก็ทำให้พระองค์สามารถกู้บ้านเมืองคืนมาได้อีกครั้ง จนเป็นที่น่าเกรงขามของข้าศึก

พระนเรศวรประกาศอิสรภาพ

เมื่อปี 2126 พระเจ้าอังวะเป็นกบฏ เนื่องจากไม่พอใจทางกรุงหงสาวดีอยู่หลายประการ จึงแข็งเมืองพร้อมกับเกลี้ยกล่อมเจ้าไทยใหญ่อีกหลายเมืองให้แข็งเมืองด้วย พระเจ้านันทบุเรงจึงยกทัพหลวงไปปราบ ในการณ์นี้ได้สั่งให้เจ้าเมืองแปรเจ้าเมืองตองอูและเจ้าเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งทางกรุงศรีอยุธยาด้วย ให้ยกทัพไปช่วยทางไทย สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปแทน

สมเด็จพระนเรศวรยกทัพออกจากเมืองพิษณุโลก เมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม 2126 พระองค์ยกทัพไทยไปช้า ๆ เพื่อให้การปราบปรามเจ้าอังวะเสร็จสิ้นไปก่อน ทำให้พระเจ้านันทบุเรงแคลงใจว่า ทางไทยคงจะถูกพระเจ้าอังวะชักชวนให้เข้าด้วย จึงสั่งให้พระมหาอุปราชาคุมทัพรักษากรุงหงสาวดีไว้ถ้าทัพไทยยกมาถึงก็ให้ต้อนรับและหาทางกำจัดเสีย และพระองค์ได้สั่งให้พระยามอญสองคน คือ พระยาเกียรติและพระยาราม ซึ่งมีสมัครพรรคพวกอยู่ที่เมืองแครงมาก และทำนองจะเป็นผู้คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศวรมาแต่ก่อน

ลงมาคอยต้อนรับทัพไทยที่เมืองแครง อันเป็นชายแดนติดต่อกับไทย พระมหาอุปราชาได้ตรัสสั่งเป็นความลับว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไป ถ้าพระมหาอุปราชายกเข้าตีด้านหน้าเมื่อใด ให้พระยาเกียรติและพระยารามคุมกำลังเข้าตีกระหนาบทางด้านหลัง ช่วยกันกำจัดสมเด็จพระนเรศวรเสียให้จงได้ พระยาเกียรติกับพระยารามเมื่อไปถึงเมืองแครงแล้วได้ขยายความลับนี้แก่พระมหาเถรคันฉองผู้เป็นอาจารย์ของตน ทุกคนไม่มีใครเห็นดีด้วยกับแผนการของพระเจ้านันทบุเรง

กองทัพไทยยกมาถึงเมืองแครง เมื่อวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก 2127 โดยใช้เวลาเดินทัพเกือบสองเดือน กองทัพไทยตั้งทัพอยู่นอกเมือง เจ้าเมืองแครงพร้อมทั้งพระยาเกียรติกับพระยารามได้มาเฝ้าฯ สมเด็จพระนเรศวร จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหาเถรคันฉองซึ่งคุ้นเคยกันดีมาก่อน พระมหาเถรคันฉองมีใจจึงกราบทูลถึงเรื่องการคิดร้ายของทางพระเจ้านันทบุเรง แล้วให้พระยาเกียรติกับพระยารามกราบทูลให้ทราบตามความเป็นจริง

เมื่อพระองค์ได้ทราบความโดยตลอดแล้ว ก็มีพระราชดำริเห็นว่าการเป็นอริราชศัตรูกับกรุงหงสาวดีนั้น ถึงกาลเวลาที่จะต้องเปิดเผยต่อไปแล้ว จึงได้มีรับสั่งให้เรียกประชุมแม่ทัพนายกอง กรมการเมือง เจ้าเมืองแครงรวมทั้งพระยาเกียรติพระยารามและทหารมอญมาประชุมพร้อมกัน แล้วนิมนต์พระมหาเถรคันฉองและพระสงฆ์มาเป็นสักขีพยาน ทรงแจ้งเรื่องให้คนทั้งปวงที่มาชุมนุม ณ ที่นั้นทราบว่า พระเจ้านันทบุเรงดีคิดประทุษร้ายต่อพระองค์

จากนั้นพระองค์ได้ทรงหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร (พระน้ำเต้าทองคำ) ประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินว่า “ด้วยพระเจ้าหงสาวดี มิได้อยู่ในครองสุจริตมิตรภาพขัตติยราชประเพณี เสียสามัคคีรสธรรม ประพฤติพาลทุจริต คิดจะทำอันตรายแก่เรา ตั้งแต่นี้ไป กรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดีมิได้เป็นมิตรร่วมสุวรรณปฐพีเดียวกันดุจดังแต่ก่อนสืบไป”

จากนั้นพระองค์ได้ตรัสถามชาวเมืองแครงว่าจะเข้าข้างฝ่ายใด พวกมอญทั้งปวงต่างเข้ากับฝ่ายไทย สมเด็จพระนเรศวรจึงให้จับเจ้าเมืองกรมการพม่าแล้วเอาเมืองแครงเป็นที่ตั้งประชุมทัพ เมื่อจัดกองทัพเสร็จก็ทรงยกทัพจากเมืองแครงไปยังเมืองหงสาวดีเมื่อวันแรม 3 ค่ำ เดือน 6

ฝ่ายพระมหาอุปราชาที่อยู่รักษาเมืองหงสาวดี เมื่อทราบว่าพระยาเกียรติพระยารามไปเข้ากับสมเด็จพระนเรศวร จึงได้แต่รักษาพระนครมั่นอยู่ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพข้ามแม่น้ำสะโตงไปใกล้ถึงเมืองหงสาวดี ได้ทราบความว่า พระเจ้านันทบุเรงมีชัยชนะได้เมืองอังวะแล้ว กำลังจะยกทัพกลับคืนพระนคร พระองค์เห็นว่าสถานการณ์ครั้งนี้ไม่สมคะเน เห็นว่าจะตีเอาเมืองหงสาวดีในครั้งนี้ยังไม่ได้ จึงให้กองทัพแยกย้ายกันเที่ยวบอกพวกครัวไทยที่พม่ากวาดต้อนไปแต่ก่อนให้อพยพกลับบ้านเมือง ได้ผู้คนมาประมาณหมื่นเศษให้ยกล่วงหน้าไปก่อน พระองค์ทรงคุมกองทัพยกตามมาข้างหลัง

พระนเรศวรสวรรคต
ภาพจาก phitsanulokhotnews.com

พระนเรศวรสวรรคต

สมเด็จพระนเรศวร กับสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จยกกองทัพออกจากพระนคร เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง 2148 เสด็จโดยกระบวนเรือจากพระตำหนักป่าโมก แล้วเสด็จขึ้นบนที่ตำบล เอกราชไปตั้งทัพชัย ณ ตำบลพระหล่อ แล้วยกกองทัพบกไปทางเมืองกำแพงเพชรสู่เมืองเชียงใหม่ ครั้นเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ก็หยุดพักจัดกระบวนทัพอยู่หนึ่งเดือน แล้วให้กองทัพสมเด็จพระเอกาทศรถยกไปทางเมืองฝาง ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหาง

ครั้นเสด็จถึงเมืองหางแล้วก็ให้ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี) ขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นบาดทะพิษพระอาการหนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จฯ มาถึงได้ 3 วัน

สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน 2148 สิริพระชนมพรรษา 49 พรรษาเศษ ดำรงราชสมบัติ 14 ปีเศษ สมเด็จพระเอกาทศรถจึงได้อัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรกลับกรุงศรีอยุธยา

วันยุทธหัตถี

ยุทธหัตถี

ยุทธหัตถี หรือ การชนช้าง (ภาษาอังกฤษ: Elephant duel) คือ การทำสงครามบนหลังช้างตามประเพณีโบราณของกษัตริย์ในภูมิภาคอุษาคเนย์ เป็นการทำสงครามซึ่งถือว่ามีเกียรติยศ เพราะช้างถือเป็นสัตว์ใหญ่ และเป็นการปะทะกันซึ่ง ๆ หน้า ผู้แพ้อาจถึงแก่ชีวิตได้

การกระทำยุทธหัตถีเป็นประเพณีสงครามที่รับมาจากอินเดีย โดยช้างที่ใช้ เรียกว่า “ช้างศึก” โดยมากจะนิยมเลือกใช้ช้างพลายที่กำลังตกมัน ดุร้าย ก่อนออกทำสงครามจะกรอกเหล้าเพื่อให้ช้างเมา เกิดความฮึกเหิมเต็มที่ โดยจะแต่งช้างให้พร้อมในการรบ เช่น ใส่เกราะที่งวงหรืองาเพื่อรื้อทำลายค่ายคูของฝ่ายตรงข้าม เรียกว่า “ช้างกระทืบโรง” หรือล่ามโซ่หรือหนามแหลมที่เท้าทั้งสี่ ใช้ผ้าสีแดงผืนใหญ่ปิดตาช้างให้เห็นแต่เฉพาะด้านหน้าเพื่อไม่ให้ช้างตกใจและเสียสมาธิ เรียกว่า “ผ้าหน้าราหู”

ตำแหน่งของผู้ที่นั่งบนหลังช้างจะมีด้วยกัน 3 คน คือ ตำแหน่งบนคอช้าง จะเป็นผู้ทำการต่อสู้ โดยอาวุธที่ใช้สู้ส่วนมากจะเป็นง้าว ตำแหน่งกลางช้าง จะเป็นตำแหน่งที่จะให้สัญญาณและส่งอาวุธที่อยู่บนสับคับให้แก่คอช้าง โดยอาวุธได้แก่ ง้าว, หอก, โตมร, หอกซัด และเครื่องป้องกันต่าง ๆ เช่น โล่ เป็นต้น

ตำแหน่งควาญช้างซึ่งจะเป็นผู้บังคับช้างจะนั่งอยู่หลังสุด และหากเป็นช้างทรงของพระมหากษัตริย์ จะมีทหารฝีมือดี 4 คนประจำตำแหน่งเท้าช้างทั้ง 4 ข้างด้วย เรียกว่า “จาตุรงคบาท” ซึ่งไม่ว่าช้างทรงจะไปทางไหน จาตุรงคบาทต้องตามไปคุ้มกันด้วย หากตามไม่ทันจะมีโทษถึงชีวิต

โดยมากแล้ว ผลแพ้ ชนะของการทำยุทธหัตถีจะขึ้นอยู่กับขนาดของช้าง ช้างที่ตัวใหญ่กว่าจะสามารถข่มขวัญช้างที่ตัวเล็กกว่า เมื่อช้างที่ตัวเล็กกว่าหนีหรือหันท้ายให้ หรือช้างตัวใดที่สามารถงัดช้างอีกตัวให้ลอยขึ้นได้ จะเปิดจุดอ่อนให้โจมตีได้ตรง ๆ การฟันด้วยของ้าวเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้ถึงชีวิตได้ โดยร่างอาจขาดหรือเกือบขาดเป็นสองท่อนได้ เรียกว่า “ขาดสะพายแล่ง”

ช้างศึกยุทธหัตถี

ช้างที่จะถูกจัดให้เป็นช้างศึกนั้น ต้องเป็นช้างพลาย (ช้างเพศผู้) มีลักษณะตรงตามตำราคชลักษณ์ คือ รูปร่างใหญ่โตกำยำ หัวกะโหลกหนาและใหญ่ แก้มเต็มสมบูรณ์ หน้าเชิดหลังต่ำ งายาวใหญ่มีความโค้งและแหลมคมได้ที่ โดยที่ช้างเชือกที่ฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดีและสามารถสู้เอาชนะช้างเชือกอื่นได้ จะถูกเรียกว่า “ช้างชนะงา”

ยุทธหัตถีในประวัติศาสตร์ไทย

การกระทำยุทธหัตถีในประวัติศาสตร์ไทย ปรากฏทั้งหมด 4 ครั้ง คือ

  1. การชนช้างระหว่างพ่อขุนรามคำแหงมหาราชกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด พ่อขุนรามคำแหงชนะ
  2. การชนช้างที่สะพานป่าถ่าน ระหว่างเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยา เพื่อชิงราชสมบัติ ปรากฏว่าสิ้นพระชนม์ทั้งคู่
  3. ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระสุริโยทัยกับพระเจ้าแปร ในปี 2091 ที่ทุ่งมะขามหย่อง อยุธยา สมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
  4. ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชามังสามเกียด ในปี 2135 ที่ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ชัยชนะ

อ่านต่อ

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button