วันสำคัญ

วันภาษาไทยแห่งชาติ กำเนิดวันภาษาไทยแห่งชาติ

วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี คือ วันที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2505

Advertisement

วันภาษาไทยแห่งชาติ

วันภาษาไทยแห่งชาติ

ประวัติวันภาษาไทยแห่งชาติ วันภาษาไทยแห่งชาติมีความสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ในครั้งนั้นได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในปัญหาการใช้ภาษาไทยจนเป็นที่ประทับใจผู้ร่วมประชุมเป็นอย่างมาก ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาลจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยคนับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทยซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอจึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้…สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้วไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”

ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 เห็นชอบให้กำหนดวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย รวมทั้งเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ตลอดจนเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทยอันจะนำไปสู่การร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงและอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

Advertisement

ความสำคัญวันภาษาไทยแห่งชาติ

  1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
  2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542
  3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
  4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
  5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่าง ๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ
กิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติมีอะไรบ้าง

กิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติมีอะไรบ้าง

กิจกรรมในวันนี้ ก็จะมีทั้งของสถาบันการศึกษา,หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ที่จะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดนิทรรศการ, การอภิปรายทางวิชาการ, การประกวดแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน เป็นต้น

ภาษาไทยถือเป็นภาษาแห่งชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราคนไทยควรภาคภูมิใจ เพราะบางประเทศไม่มีแม้กระทั่งภาษาที่เป็นของตัวเอง ดังนั้นเราควรอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่ และสืบทอดต่อไปให้ลูกหลานได้ศึกษา หากเราคนไทยไม่ช่วยกันรักษาไว้ สักวันหนึ่งอาจจะไม่มีภาษาไทยให้ลูกหลานใช้ก็เป็นได้

ประโยชน์วันภาษาไทยแห่งชาติ

  1. วันภาษาไทยแห่งชาติ จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐฯ และเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ “ภาษาประจำชาติ” ของคนไทยทุกคน และร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ
  2. บุคคลในวงวิชาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษา และวงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ
  3. ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

ความสำคัญของภาษาไทย

ภาษาเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ภาษาเป็นสื่อใช้ติดต่อกันเเละทำให้วัฒนธรรมอื่น ๆ เจริญขึ้น เเต่ละภาษามีระเบียบของตนเเล้วเเต่จะตกลงกันในหมู่ชนชาตินั้น ภาษาจึงเป็นศูนย์กลางยืดคนทั้งชาติ ดังข้อความ ตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์ในพระบาท สมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “ความเป็นชาติโดยเเท้จริง” ว่า ภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์ต่อมนุษย์เเน่นเเฟ้นกว่าสิ่งอื่น เเละไม่มีสิ่งใด ที่จะทำให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกันหรือเเน่นอนยิ่งไปกว่าภาษาเดียวกัน รัฐบาลทั้งปวงย่อมรู้สึกในข้อนี้อยู่ดี เพราะฉะนั้น รัฐบาลใดที่ต้องปกครองคนต่างชาติต่างภาษา จึงต้องพยายามตั้งโรงเรียนเเละออกบัญญัติบังคับ ให้ชนต่างภาษาเรียนภาษาของผู้ปกครอง เเต่ความคิดเห็นเช่นนี้ จะสำเร็จตามปรารถนาของรัฐบาลเสมอก็หามิได้ เเต่ถ้ายังจัดการเเปลง ภาษาไม่สำเร็จอยู่ตราบใด ก็เเปลว่า ผู้พูดภาษากับผู้ปกครองนั้นยังไม่เชื่ออยู่ตราบนั้น เเละยังจะเรียกว่าเป็นชาติเดียวกันกับมหาชนพื้นเมืองไม่ได้ อยู่ตราบนั้น ภาษาเป็นสิ่งซึ่งฝังอยู่ในใจมนุษย์เเน่นเเฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น

ดังนั้นภาษาก็เปรียบได้กับรั้วของชาติ ถ้าชนชาติใดรักษาภาษาของตนไว้ได้ดี ให้บริสุทธิ์ ก็จะได้ชื่อว่า รักษาความเป็นชาติ

คนไทยทุกคนใช้ภาษาไทยเป็นสื่อความรู้สึกนึกคิดเท่านั้นยังไม่เพียงพอ ควรจะรักษาระเบียบความงดงามของภาษา ซึ่งเเสดงวัฒนธรรม เเละ เอกลักษณ์ประจำชาติไว้อีกด้วย ดังพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนหนึ่งว่า

“ภาษานอกจากจะเป็นเครื่องสื่อสารเเสดงความ รู้สึกนึกคิดของคนทั่วโลก เเล้ว ยังเป็นเครื่องเเสดงให้เห็นวัฒนธรรม อารยธรรม เเละเอกลักษณ์ ประจำชาติอีกด้วย ไทยเป็นประเทศซึ่งมีขนบประเพณี ศิลปกรรมเเละภาษา ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีตกาล เราผู้เป็นอนุชนจึงควรภูมิใจ ช่วยกัน ผดุงรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่บรรพบุรุษได้ อุตส่าห์สร้่างสรรค์ขึ้นไว้ให้เจริญสืบไป “

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

กำเนิดภาษาไทย

“พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบาลเมือง กูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง
พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็กเมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก พ่อกูไปรบ
ขุนสามชน หัวซ้ายขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเคลื่อนเข้าไพร่ฟ้าหน้าใสพ่อกูหนีญญ่ายพ่ายจะแจ กูบ่หนี กูขี่ช้างเนกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อตั้งด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู พระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน…”

ข้อความข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของข้อความที่ปรากฏบนศิลาจารึก หลักที่ 1 ด้านที่ 1 ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สลักบนแท่งหินชนวน ศิลาจารึกนี้เองที่เป็นต้นกำเนิดของภาษาไทย ดังความตอนหนึ่งที่ปรากฏบนศิลาจารึกด้านที่ 4 ของศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ว่า

“เมื่อก่อนลายสือไทนี้บ่มี 1205 สกปีมแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจแล่ใศ่ลายสือไทนี้ลายสือไทนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใศ่ไว้… “

นับได้ว่าเป็นศิลาจารึกหลักแรกที่ใช้ตัวอักษรไทยและภาษาไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการทางภาษาเรื่อยมาจนเป็นภาษาไทยในยุคปัจจุบัน

รวมคําขวัญวันภาษาไทยแห่งชาติ

คําขวัญวันภาษาไทยแห่งชาติ

  • ร่วมภูมิใจในเอกราช อนุรักษ์ชาติภาษาไทย
  • มรดกอันล้ำค่า คือภาษาของชาติไทย ดำรงไว้ให้อนุชน
  • ภูมิใจในเอกลักษณ์ สืบสานภาษาหลัก รู้รักษ์ภาษาไทย
  • มรดกปัญญา รู้รักษ์ภาษา คุณค่าของไทย
  • มรดกปัญญา รู้รักษ์ภาษา คุณค่าของไทย

กลอนวันภาษาไทย

ความเป็นไทยโดดเด่นด้วยภาษา
อักษราล้วนหลากมากความหมาย
เสน่ห์เสียงสูงต่ำคำคมคาย
ร่วมสืบสายสานคุณค่าภาษาไทย


เห็นศิลาจารึกมินึกเศร้า
แม้ใครเขาขัดข้องต้องถกเถียง
เจาะภาษาจากใจไม่เอนเอียง
คล้องจองเสียงเยี่ยงกังสดาลหวานจับใจ
เอกลักษณ์ของชาติคือปรารถนา
เติบโตมาตามกาลผ่านยุคสมัย
จะยุคนี้ยุคโน้นหรือยุคใด
ขอเพียงไทยมีภาษาข้า ฯ ขอบคุณ
ขอเดชะฯ บารมีที่ล้ำเลิศ
วันภาษาไทยก่อเกิด ธ เกื้อหนุน
ยี่สิบเก้ากรกฎา ธ การุญ
ภาษาไทยของพ่อขุนจึงเบ่งบาน


หลักแท่นหินแผ่ยศิลาที่จารึก
ลงบันทึกตรึกตราภาษาสยาม
สดุดีก้องเกียรติพ่อขุนราม
ทุกเขตคามต่างร่ำลือระบือไกล
เป็นเพลามานานมิใช่น้อย
ตั้งเจ็ดร้อยยี่สิบห้าตราสมัย
ภาษายังคู่จิตคู่ชาติไทย
คู่สมัยคู่ใจไทยนิรันดร์
สิ้นภาษาดั่งสิ้นเอกราช
ดั่งสิ้นชาติสิ้นชีพสิ้นความฝัน
ดั่งประทีปดับวูบในเร็ววัน
สิ้นแสงจันทร์สิ้นดาราสิ้นราตรี
ภาษาไทยภาษาเดียวภาษาชาติ
ประวัติศาสตร์จารึกไว้เป็นสักขี
เป็นสมบัติอนุชนมานานปี
มิอาจมีสิ่งใดมาทำลาย
แต่บัดนี้วัฒนธรรมตะวันตก
เข้ามาปกความคิดปิดจิตหมาย
ทั้งภาษาการกินอยู่การแต่งกาย
เริ่มเสื่อมคลายความดีงามของผองไทย
ถึงเวลาอนุชนคนรุ่นหลัง
เริ่มปลูกฝังจิตสำนึกให้ตรึกไว้
มีกำพืดเกิดมาจากคนไทย
ภาษาใดไม่เทียมเท่าที่ไทยมี
ภาษาพูดภาษาอ่านภาษาเขียน
ตั้งแต่เศียรจรดบาทเป็นวีถี
คำพูดจาอ่อนหวานที่เรามี
ดั่งวารีไหลฉ่ำล่ำจิตใจ
ท่องกอไก่ฮอนกฮูกตั้งแต่เด็ก
เปรียบรั้วเหล็กป้องภาษาชาติเอาไว้
ร่วมร้อยเรียงร่วมรู้รักร่วมรักไทย
ใช่อะไรภาษาไทยของฉันเอง


ภาษาชาตินั้นคือภาษาไทย
ศิวิไลซ์ในอักขระภาษาศิลป์
ก่อกำเนิดกลอนกานท์ทั่วแผ่นดิน
ไทยไม่สิ้นกวีแท้อย่างแน่นอน


เห็นกลอนกานท์วรรณกรรมที่ล้ำค่า
งามสง่าร้อยลำนำเรียงอักษร
เป็นบทกวีที่ไพเราะทุกคำกลอน
และสะท้อนความเป็นไทยตลอดมา

หนึ่งคุณครูกระดาษทรายก็หมายมุ่ง
หวังผดุงวงศ์กวีเป็นนักหนา
จึงพากเพียรเขียนแต่งตลอดมา
เพียงหวังว่าเป็นต้นกล้าแห่งวงวรรณ ฯ

พ่อขุนรามฯ ตามสือ ถืออักษร
เป็นตัวช้อน อ่อนช้อย ร้อยเรียงเขียน
ให้หนึ่งคำ นำจัด ชัดคำเพียร
ขีดตัวเวียน จากใจ ร่ายคำตรง

ภาษาไทย เก่าแก่ แต่โบราณ
สือตัวขาน สานนำ คำมั่นคง
ทั้งสระ วรรณยุกต์ รุก-ตัวยง
ต่างเสริมส่ง ลงเหมาะ เจาะถึงใจ

Advertisement

Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button